พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

“ทวี” เลขาธิการพรรค ปช. ระบุ Big Data นับแสนล้านบาทมีไว้ทำอะไร!! …ทำไมต้องให้ประชาชนลงทะเบียนเยียวยา?

แชร์เลย


โควิด-19 ได้สร้างความสูญเสียและความเดือดร้อนให้กับชีวิตมนุษย์ทุกคนอย่างเสมอหน้า ซึ่งมาตรการรัฐที่กำหนดให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ที่มุ่งใช้มาตรการสาธารณสุขเพื่อป้องกันและขจัดโควิดให้ได้ผลนั้น แต่ ‘ในดีมีร้าย’ มาตรการดังกล่าวได้สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้ประชาชน “อย่างไม่เท่าเทียม” กัน

กล่าวคือ ผลกระทบของมาตรการนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ผู้ใช้แรงงาน ผู้หาเช้ากินค่ำ ผู้ยากไร้ และผู้ขาดโอกาสอื่น ๆ มากกว่าผู้มีรายสูง ข้าราชการ และผู้มีฐานะร่ำรวย ผลกระทบที่เป็นความเดือดร้อน จะสอดคล้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ประเทศไทยถูกจัดลำดับว่ามีความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างสุดขั้ว หรือมากที่สุดในโลก ที่เรียกว่า “รวยเพียงจุดแต่จนกระจาย” การหยุดระบบสังคม เศรษฐกิจ และปฏิสัมพันธ์ หรือ Lockdown ทุกอย่างอย่างกะทันหันสร้างความเดือดร้อนให้กับชีวิตของผู้ยากไร้ ผู้ใช้แรงงาน อาชีพรับจ้างทุกอาชีพ และอาชีพอิสระ (ยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐ) มากกว่า 30 ล้านคน เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากต้องหยุดชะงักหมด ผู้คนไม่สามารถหารายได้ และบางส่วนกำลังจะขาดอาหาร และสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต

มาตรการที่รัฐคิดค้นมาเรื่องการเยียวยาประชาชนกำลังก่อให้เกิดข้อกังขาแก่สังคมมากมาย คือการเปิดให้ผู้ที่รับผลกระทบจาก โควิด-19 ลงทะเบียนเพื่อ “รับเงินเยียวยา 5,000 บาท” ซึ่งมี คำถามพื้นฐานแรก คือ

ทำไมรัฐยังต้องให้ประชาชนมาลงทะเบียนเยียวยา?

ทั้งที่รัฐมีข้อมูลประชาชนทุกมิติอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่แล้ว และหากพิจารณางบประมาณย้อนหลังในปี พ.ศ. 2558 – 2563 ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ฯเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้ใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโครงสร้าง ICT รวมเป็นจำนวนเงินมากกว่า 100,000 ล้านบาท จนโฆษณาตัวเองว่าเป็นรัฐบาลดิจิทัล “ไทยแลนด์ 4.0 ” สามารถใช้งานระบบนี้ในการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลประชาชน สามารถเห็นข้อมูลประชาชนเป็นภาพเดียวที่สมบูรณ์

ถ้าข้อมูลที่รัฐกำหนดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “เราจะไม่ทิ้งกัน” เป็นข้อมูลพื้นฐานทั่วไป ข้อมูลเหล่านี้มีอยู่กับหน่วยงานราชการต่าง ๆ อยู่แล้ว เช่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย , กรมสรรพากร, กรมการขนส่งทางบก (รถรับจ้าง รถโดยสาร), กรมส่งเสริมการเกษตร (ทะเบียนเกษตรกร), สำนักงาน ส.ป.ส.ช. (ผู้ใช้สิทธิรักษาโรคต่าง ๆ), กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (ทะเบียนหมอนวดแผนไทย) กระบวนการยุติธรรม และทุก ๆ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เรียกได้ว่าหน่วยงานเหล่านี้มีข้อมูลอาชีพของประชาชนที่ครบถ้วนสมบูรณ์ การนำข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมา Cross-check ระหว่างกันก็ไม่ใช่เรื่องยาก ข้อมูลมันมีอยู่แล้ว ไม่ว่าข้อมูลแบบ Structure Data หรือ Un-Structure Data เพียงแค่รัฐบาล 4.0 มอบหมายให้ข้าราชการประจำใช้โปรแกรมในการวิเคราะห์และประมวลผล ก็จะทราบแล้วว่าผู้ที่ควรได้รับการเยียวยาจากโควิดเป็นใครบ้าง ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ให้สิ้นเปลืองงบประมาณและเสียเวลาในการตรวจสอบการใช้ระบบใหม่เลย

แทนที่รัฐจะเอาเวลาและทรัพยากรไปช่วยบรรเทาความทุกข์ยากให้ประชาชน รัฐกลับเพิ่มความเดือดร้อนให้ประชาชนที่อยู่ชนบทห่างไกล คนที่ไม่มีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ไม่เข้าใจกระบวนการลงทะเบียน รวมไปถึงคนขายของที่เดือดร้อนแต่ไม่มีปัญญาลงทะเบียนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ต้องมานั่งทุกข์ใจ เสียเวลาทำมาหากิน ศึกษาทำความเข้าใจกระบวนการลงทะเบียนโดยไม่จำเป็นอีก

คำถามที่ตามมา คือ ระบบ ‘บิ๊กดาต้า’ อยู่ที่ไหน? ทำไมรัฐไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์?

สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ในเรื่องแรงงาน ในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ รวมถึงเรื่องในทรัพย์สินเป็นสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐบังคับใช้ พรก ฉุกเฉิน ที่มีมาตราการจำกัดสิทธิดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนด้วยการช่วยเหลือเยียวยา เพราะอิสระภาพที่รัฐปิดกั้นอยู่นี้เป็นสิทธิโดยชอบของประชาชน และกรณีที่เป็น ‘สิทธิ’ ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะติดตามเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้

การให้ประชาชนต้องลงทะเบียนเท่ากับรัฐต้องการให้ ”ประชาชนต้องร้องขอสิทธิก่อน รัฐถึงจะให้สิทธินั้น” เห็นว่าเป็นไม่ถูกต้อง รวมทั้งเรื่องเงินงบประมาณ ความจริงแล้วรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐล้วนแต่เป็นเงินภาษีอากร ถือว่ารัฐเป็น ‘หนี้’ ประชาชน การที่รัฐสร้างกลไกในการคัดกรองสิทธิของประชาชน จึงถือได้ว่าเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาจเป็นการดีกว่า

กรณีผู้ที่ลงทะเบียนมากกว่า 24 ล้านคน และรัฐบาลกำหนดโควตาในรอบแรกเพียง 3 ล้านคน ผู้ไม่ผ่านการตรวจและไม่ได้รับการเยียวยาอีกกว่า 20 ล้านชีวิต รวมถึงผู้มีสิทธิแต่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกหลายล้านคนจะต้องถูกตัดสินออกไป เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีคนไทยคนใดไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่ายากดีมีจนได้รับผลกระทบทั้งหมด ดังนั้นการช่วยเหลือควรมีความเท่าเทียมกัน นอกจากหลักเกณฑ์การช่วยเหลืออื่น ๆ แล้ว ควรเพิ่มการช่วยเหลือสถาบันครอบครัวทุกครอบครัวประมาณ 5,000 บาท/เดือน เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีพได้เป็นเวลา 3-6 เดือน ที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านด้วย

การช่วยเหลือเยียวยาในต่างประเทศเช่น ฮ่องกงที่ให้เงินช่วยเหลือจำนวน 10,000 ฮ่องกงดอลลาร์แก่ประชาชนทุกคนที่อายุมากกว่า 18 ปี หรือประเทศมาเลเซียจะช่วยเหลือประชาชนชาวมาเลเซียทุกคน ครอบคลุมทุกกลุ่มกระจายเต็มพื้นที่ โดยไม่ต้องให้ประชาชนลงทะเบียนแต่อย่างใด รายละเอียดตามไฟล์แนบ
https://drive.google.com/file/d/1wCXKkoqSMldEfgvTRaJftZN7u7xcY69j/view?usp=sharing

บทเรียนในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนที่ประสบความสำเร็จคือหลักการรัฐสวัสดิการ ที่ว่า สวัสดิการเป็น “สิทธิ” ของประชาชน รัฐต้องจัดให้ “สิทธิที่เสมอกัน” ไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ ยากดีมีจนอย่างไร ต้องได้รับ “สิทธิ” อันพึงมี มิใช่เพียงแค่ “หน้าที่” ของรัฐในการสงเคราะห์คนอนาถา ผมจึงขอสนับสนุนให้รัฐช่วยเหลือความเดือดร้อนหรือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมทุกคน และทุกภาคส่วนอย่างเสมอภาคกัน

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ
https://www.facebook.com/2631268303555462/posts/3528878277127789/?d=n

 1,450 total views,  4 views today

You may have missed