พฤษภาคม 5, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ศอ.บต.ติดตามความก้าวหน้า การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เร่งหาแนวทางจัดตั้งศูนย์อุปกรณ์ช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพคนพิการในพื้นที่ จชต.

แชร์เลย

ทีมข่าว SPM news ยะลา  รายงาน..

(19 กุมภาพันธ์ 2563) ที่ห้องประชุมปัจญเพชร ชั้น 3 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฎิบัติการ เพื่อติดตามความก้าวหน้า ถอดบทเรียน กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งศูนย์อุปกรณ์ฟื้นฟูสภาพคนพิการและอุปกรณ์ช่วยความพิการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ประชุมทางไกลกับสถาบันสิรินธร) โดยมี นายดำรงค์ อินโท ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการศึกษาและเสริมสร้างโอกาสทางสังคม กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายผลเรือน ศอ.บต. แพทย์หญิงพนารัตน์ เที่ยงสุทธิสกุล หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟูโรงพยาบาลศูนย์ยะลา  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา  ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 2 จังหวัดยะลา ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี สมาคมคนพิการจังหวัดยะลา ปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส และผู้พิการในพื้นที่ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

สำหรับประชุมการจัดตั้งศูนย์อุปกรณ์กรณีที่อุปกรณ์และซ่อมอุปกรณ์บุคลากรสำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการหารือแนวทางขับเคลื่อนดำเนินงานให้ความช่วยเหลือผู้พิการแบบครบวงจรในพื้นที่ รวมถึงความต้องการด้านการใช้อุปกรณ์ฟื้นฟูสภาพคนพิการและอุปกรณ์ช่วยความพิการของประชาชน ทั้งนี้มีการประชุมทางไกลกับแพทย์และเจ้าหน้าที่สถาบันสิรินธรถึงการหารือการสนับสนุนอุปกรณ์ฟื้นฟูสภาพพิการและอุปกรณ์ช่วยความพิการจากสถาบันสิรินธร และการสนับสนุนการเพิ่มองค์ความรู้แก่บุคลากรของศูนย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนเดินหน้าการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

นายดำรงค์  อินโท  ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการศึกษาและเสริมสร้างโอกาสทางสังคม กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายผลเรือน ศอ.บต. กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์อุปกรณ์ฟื้นฟูสภาพคนพิการและอุปกรณ์ช่วยความพิการในพื้นที่ จชต. เพื่อรองรับนโยบายเลขาธิการ ศอ.บต. ด้านการฟื้นฟูเด็กผ่านโครงการเก้าอี้สุขใจสู่โครงการรองเท้าสั่งตัดขยายผลสู่การบริการช่วยเหลือเด็กพิการแบบครบวงจรจนสามารถนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งมีศูนย์การศึกษาพิเศษในพื้นที่ 5 จังหวัด รองรับรวมไปถึงศูนย์การศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของการให้บริการเด็กที่ผ่านเตรียมการจากศูนย์การศึกษาพิเศษ เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับประถมศึกษาต่อไป ซึ่งจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านการขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดตั้งศูนย์ฯ  จำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือจากสถาบันสิรินธร ทั้งด้านอุปกรณ์ช่วยฟื้นฟูคนพิการและการพัฒนาองค์ความรู้เฉพาะด้านแก่บุคลากรให้กับศูนย์ฯในพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่มีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ฯ ประกอบด้วย 6 ด้าน 1.ด้านสถานที่ศูนย์ฯ เพื่อเป็นของศูนย์ฯประสานและจัดเก็บอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อรองรับการเบิกใช้อุปกรณ์ของผู้พิการในรายถัดไป ซึ่งมีความพร้อมทั้ง 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส 2.ความพร้อมด้านสถานที่ซ้อมอุปกรณ์โดยจังหวัดยะลามีบุคลากรโรงพยาบาลมีศูนย์ซ่อมรองรับอยู่แล้ว จังหวัดปัตตานีจะเป็นสมาคมคนพิการจังหวัด และสมาคมคนพิการจังหวัดนราธิวาส 3.ด้านบุคลากรมีหลายหน่วยงานที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและระบบการคัดเลือกผู้พิการ โดยจะต้องผ่านแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย  4.ด้านอุปกรณ์ผู้พิการ 5.ด้านระบบการติดตามเริ่มตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด และ6.ด้านงบประมาณนั้น ทาง ศอ.บต.จะมีการสนับสนุนการขนส่งอุปกรณ์และการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรได้ให้มีระบบการทำงานที่ถูกต้องต่อไป

ในขณะที่ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวว่า  การดำเนินงานขับเคลื่อนช่วยเหลือผู้พิการในพื้นที่ จชต. ศอ.บต.ได้เร่งช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และใน 3 ปีที่ผ่านมาได้มีการสำรวจข้อมูลผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส 11 ประเภท ซึ่งมีความต้องการช่วยเหลือด้านกายอุปกรณ์ ด้านอาชีพรวมทั้งอื่นๆที่เกี่ยวข้องยอดประมาณ 3 หมื่นกว่าคน และในการประชุมวันนี้จะเป็นการขับเคลื่อนการช่วยเหลือดังกล่าวโดยมีแม่ข่ายคือโรงพยาบาลศูนย์ยะลา และมีเครือข่ายคือโรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลนราธิวาส  ซึ่งการวินิจฉัยว่าผู้พิการมีความต้องการอุปกรณ์และความเหมาะสมของอุปกรณ์นั้นๆ อาจจะต้องใช้แพทย์และพยาบาลวิชาชีพ จำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันสิรินธรที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ทางศอ.บต.พร้อมให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนทั้งด้านงบประมาณ การพัฒนาบุคลากรและการขนส่งอุปกรณ์ รวมถึงการติดตามประเมินผล นอกจากนี้ ศอ.บต.มีบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิประจำหมู่บ้านในพื้นที่ จชต.จะเป็นอีกพลังหนึ่งที่จะค่อยสำรวจดูแลเก็บข้อมูลถึงการดำเนินงานและความก้าวหน้าในการช่วยเหลือผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้เกิดธนาคารอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อจัดศูนย์อุปกรณ์ฟื้นฟูสภาพคนพิการและอุปกรณ์ช่วยความพิการในพื้นที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานจะต้องมีส่วนร่วมทั้ง ภาคประชาสังคม ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ในทุกๆระดับตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล อำเภอและจังหวัดจะต้องมีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งจิตใจและร่างกายต่อไป

/////////////////////////////////

 550 total views,  2 views today

You may have missed