เครดิต PRD..
หากใครได้มีโอกาสเดินทางมาเยือนพื้นที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อาจแปลกใจที่เห็นภาพชาวบ้านหลังจากการกรีดยางจะเดินแบก จอบ เสียบ พลั่วและอุปกรณ์บางอย่างที่คล้ายกระทะหรือที่เรียกว่า เลียง เดินลงลำคลองร่อนหาสิ่งของบางอย่างในลำคลองที่ไหลผ่านหมู่บ้าน แต่ภาพเหล่านี้เป็นภาพชินตาของคนที่นี่ แต่เมื่อรู้ว่าชาวบ้านกำลังร่อนหาทองคำบริสุทธิ์ แน่นอนทุกคนพร้อมที่จะลงไปร่อนหาทองเพื่อเสี่ยงโชคกันอย่างแน่นอน
ลำคลองสายนี้เป็นต้นน้ำของแม่น้ำสายบุรี โดยจากเดิมสถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของเหมืองทองคำที่รู้จักในนามเหมืองทองโต๊ะโม๊ะ โดยธุรกิจดังกล่าวเป็นของชาวต่างชาติที่มาของเช่าสัมปทานจากรัฐบาลเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อสัญญาสัมปทานได้หมดไป แต่สถานที่ดังกล่าวยังคงมีทองคำตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้การประกอบอาชีพร่อนทองของชาวภูเขาทองสามารถพบเห็นได้เกือบทุกวัน ยิ่งช่วงหน้าฝนชาวบ้านหลายร้อยคนจะลงมาร่อนทองกันมาก และเมื่อมาเยือนที่นี่นึกว่ามาเยือนแดนอีสาน เนื่องจากบ้านภูเขาทองเป็นชุมชนที่มีลักษณะพิเศษของประชากรเพราะส่วนใหญ่เป็นชาวไทยอีสานที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ภูเขาทองนานกว่า 3 ชั่วอายุคน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลจัดสรรพื้นที่ชายแดนใต้บริเวณ อ.สุคิริน ให้ชาวไทยอีสานได้เข้ามาทำกิน
นางอำไพ ดวงทอง หนึ่งในคนร่อนทองแห่งบ้านภูเขาทอง เล่าว่า คนในหมู่บ้านจะใช้เวลาว่างหลังกรีดยางในช่วงสายของทุกวัน เดินทางมายังคลองแห่งนี้เพื่อร่อนทองไปขายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง เมื่อถามถึงวิธีร่อนทองนางอำไพอธิบายว่า ขั้นตอนการร่อนทองเริ่มจากตักดินโคลนในคลองใส่ในเลียงแล้วค่อยๆร่อนกับผิวน้ำในคลองซึ่งจะทำให้หินและโคลนดินค่อยๆหลุดออกไปจากเลียง คนร่อนต้องร่อนไปเรื่อยๆจนเหลือแต่เศษแร่อยู่ในเลียง ซึ่งก็คือ ผงแร่ทอง เมื่อได้แล้วค่อยๆเทเก็บใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ การร่อนทองไม่ได้หมายความว่าต้องเจอทุกครั้ง ต้องย้ายที่ร่อนหาทองไปเรื่อยๆ แร่ทองที่ได้ส่วนใหญ่เป็นเศษผงทองขนาดเล็ก ถ้าบางคนโชคดีหน่อยก็จะได้แร่ทองเป็นเกล็ดเป็นก้อน แต่ละวันหากร่อนได้เฉลี่ยคนละประมาณ 200-300 บาท บางคนถ้าโชคดีร่อนได้ทองเยอะก็ได้เป็น 1,000-2,000 บาท ทั้งนี้ ทองคำที่ชาวบ้านร่อนได้จะเป็นทอง 93-94 % การซื้อขายก็ไม่ยุ่งยากเพราะมีพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านรับซื้อ ราคาซื้อขายทองคำขึ้นอยู่กับกลไกของตลาด ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ร่อนทองมาได้จะขายแบบวันต่อวันแต่บางคนอาจเก็บสะสมไว้แล้วค่อยนำออกขายในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองโดยเฉพาะช่วงราคายางพาราตกต่ำ
มาถึงวิธีการทำเลียงซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เป็นหัวใจสำคัญในการร่อน นิยมใช้ไม้หลุมพอในการทำเนื่องจากเนื้อไม้ถากง่าย เนื้อไม้ดีแน่น เมื่อใช้ไปนานๆ เนื้อไม้จะเป็นสีดำเมื่อใช่ร่อนทองจะเห็นทองชัด ส่วนที่ใช้ทำเลียง คือรากของตอไม้หรือพึงไม้ เมื่อได้ไม้มานำมาปรับหน้าให้เสมอกันโดยใช้ขวานถากไปเรื่อยๆให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ ส่วนใหญ่นิยมขนาดมาตรฐาน คือ 22 นิ้ว ถ้าเล็กลงหน่อยก็ 20 นิ้ว โดยวัดจากสายตาจากปากกระทะลงไปประมาณ 12 เซนติเมตร เลียงเมื่อร่อนไปนานๆหรือถูกับทรายมันจะบางลงเรื่อยๆจึงนิยมทำเลียงให้ปากบางก้นหนาเพื่อให้ใช้งานได้นานๆ เลียง 1 อันใช้ได้เป็น 10 ปีขึ้นไป หลังจากนั้นต้องใช้กระดาษทรายขัดให้แววและลื่น ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ราคาของเลียงอยู่ที่ขนาดมีตั้งแต่ราคา 1,800-2,500 บาท วิธีเก็บรักษาเลียงให้เก็บไว้ในที่ร่มห้ามตากแดด
อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่นี่ยืนยันว่าทุกวันนี้ การร่อนทองเป็นอาชีพเริมเท่านั้น จึงทำให้ชาวบ้านประกอบอาชีพร่อนทองได้ตลอดทั้งปีบนพื้นฐานแห่งความพอเพียง ไม่โลภ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพย์ในดินสินในน้ำอย่างคุ้มค่าและเป็นอีกมุมมองหนึ่งของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนภายนอกไม่เคยรู้ วิถีชีวิตคนร่อนทองที่บ้านภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส พร้อมต้อนรับผู้ต้องการเสี่ยงโชคทุกคน..
855 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.