พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

การพัฒนาภาษาอาหรับชายแดนในยุคดิจิตอล

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูร บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ)

สัมภาษณ์พิเศษ รองศาสตราจารย์ เจะเหล๊าะ แขกพงศ์ อิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ มนร.กับภารกิจการศึกษาชายแดนใต้//

ความเป็นจริงการพัฒนาภาษาอาหรับมีมาตลอดสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่การเรียนภาษาอาหรับจากสถาบันปอเนาะในอดีตที่ชายแดนใต้นับร้อยปีจนปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนจากหลากหลายในบริบทชายแดนใต้โดยเฉพาะมีหลักสูตรที่เปิดสอนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ตาดีกา โรงเรียนของรัฐทั้งระดับปฐมวัย ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งในหลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้ม หรือเป็นวิชาเลือกกอร์ปกับปัจจุบันมีการจัดการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ที่ท่านดูแลอยู่อยากทราบท่านมีความคิดอย่างไร และมีแนวทางการพัฒนาอย่างไรให้ผู้เรียนมีทักษะต่อเรื่องนี้โดยเฉพาะอาหรับเพื่อการสื่อสารที่สอดคล้องกับยุคดิจิตอล


รศ.เจะเหล๊าะ แขกพงศ์ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.)ได้กรุณาให้คำตอบในประเด็นต่างๆดังนี้

1.การเรียนการสอนภาษาอาหรับที่สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา
การจัดการเรียนการสอนภาษาอาหรับที่สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งได้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอาหรับมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และปัจจุบันได้ปรับเป็นหลักสูตรนานาชาติ มีนักศึกษาต่างชาติ เช่น มาเลเซีย กัมพูชา และอียิปต์ มาร่วมศึกษาในหลักสูตรด้วย รวมทั้งอาจารย์ผู้สอนก็มีอาจารย์ชาวต่างชาติเจ้าของภาษาทั้งจากอียิปต์ เยาเมน และมอร็อคโก มีแนวความคิดในเบื้องต้นว่า ภาษาอาหรับเป็นภาษาคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นภาษาทางวิชาการ มีตำราทางวิชาการมากมายที่เป็นภาษาอาหรับถูกเรียบเรียงไว้ในอดีตและปัจจุบันโดยนักปราชญ์มุสลิม การมีความรู้ความสามารถด้านภาษาอาหรับจึงเป็นเสมือนกุญแจที่สำคัญอีกดอกหนึ่งในการศึกษาค้นคว้า การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาทางวิชาการ ในขณะเดียวกันเป็นการตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีพื้นฐานภาษาอาหรับตั้งแต่เยาว์วัยผ่านการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานและการละหมาด ดังนั้น การเปิดหลักสูตรภาษาอาหรับขึ้นในมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญเอกจากเดิมซึ่งเคยมีการเรียนการสอนในระดับมัสยิด ตาดีกา โรงเรียน และสถาบันปอเนาะ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอาหรับและยกระดับการศึกษาของประเทศไทยโดยรวมให้มีความเจริญก้าวหน้าและตอบสนองความต้องการแห่งยุคสมัยได้มากยิ่งขึ้น


2.แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอาหรับ
นอกจากการจัดการเรียนการสอนโดยอาจารย์ต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษาโดยตรงแล้ว สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา ส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษาอาหรับและวิชาการอิสลาม สอนโดยใช้ภาษาอาหรับเป็นสื่อกลาง การจัดสอนเสริมทักษะการใช้ภาษาอาหรับตลอดหลักสูตร และการสร้างบรรยากาศแบบอาหรับผ่านการนำเสนอนิทรรศการหรือการแสดงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวอาหรับ เช่น การแต่งกาย สิ่งของเครื่องใช้ อาหารการกิน และอื่น ๆ ในวาระและโอกาสต่างๆ ตามความเหมาะสม ปัจจุบันโลกยุคดิจิทัล ยิ่งเอื้อให้อาจารย์ผู้สอนสามารถใช้สื่อการสอนภาษาอาหรับได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนผู้เรียนก็สามารถที่จะสื่อสารและรับฟังข้อมูลข่าวสารจากโลกอาหรับได้ ภาษาอาหรับจึงไม่เพียงเป็นภาษาที่ใช้เพื่อการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานและศึกษาค้นคว้าทางวิชาการเท่านั้น แต่จำเป็นสำหรับการสื่อสาร การประกอบธุรกิจ การท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ การทูต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งจะบรรลุผลสัมฤทธิ์นี้ได้ สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษาจะต้องทำงานอย่างหนักและผนึกกำลังร่วมมือกันกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จัดการเรียนการสอนภาษาอาหรับในพื้นที่ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย โรงเรียน ปอเนาะและสถานศึกษาอื่นๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านภาษาอาหรับ กระบวนการจัดการเรียนการสอน และการสร้างบรรยากาศสภาพแวดที่เอื้อต่อการเรียนรู้ภาษาอาหรับบนดินแดนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอาหรับมาแต่กำเนิดอย่างสังคมมลายู แม้จะมีการอ่านอัลกุรอานและละหมาดโดยใช้ภาษาอาหรับ แต่ในชีวิตประจำวันไม่ได้ใช้ภาษาอาหรับ จึงจำเป็นต้องการมีสร้างบริบทสภาพแวดล้อมและการพัฒนาร่วมกันหลายฝ่าย โดยขณะนี้สถาบันอิสลามและอาหรับศึกษาได้ดำเนินการประสานความร่วมมือและจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอาหรับให้กับนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่บ้างแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง


3. ความคาดหวังต่อการจัดการเรียนการสอนภาษาอาหรับในอนาคต
ในอนาคตคาดหวังและตั้งความปรารถนาไว้ว่า การศึกษาภาษาอาหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับความสนใจและการพัฒนาศักยภาพทั้งครูผู้สอนและนักศึกษาผู้เรียน มีกิจกรรมการแข่งขันเพื่อยกระดับทักษะการใช้ภาษาอาหรับ ทั้งทักษะการพูด การอ่าน การฟัง และการเขียนอย่างต่อเนื่องและยิ่งใหญ่ เกิดแนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาอาหรับ นักศึกษาจากต่างประเทศและประเทศอาหรับหลั่งไหลเข้ามาศึกษาเพิ่มมากขึ้น จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยอย่างยิ่งจังหวัดนราธิวาสจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ภาษาอาหรับในประชาคมอาเซียนและโลกมุสลิมควบคู่ไปกับการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและการค้าชายแดน / ด้วยความประสงค์ของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา (อินชาอัลลอฮ์)
หมายเหตุ
1.ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันในเพจ
https://m.facebook.com/aias.pnu/
2.ส่วนหนึ่งกิจกรรมอบรมพัฒนาภาษาอาหรับของสถาบัน(โปรด/
https://drive.google.com/file/d/1aexLC_Lj_GFU3yVienwYIr6a9K2IaKQZ/view?usp=sharing)

 1,783 total views,  2 views today

You may have missed