ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์
(2/1/2563)มีโอกาสอันดีที่ได้ไปดูการข้ามแดนของพี่น้องแถวตากใบที่ไปทำงานรับจ้างก่อสร้างในประเทศมาเลเซีย ในภาพคือแม่น้ำสุไหงโก-ลก แถว ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ ฝั่งตรงข้ามคือประเทศมาเลเซีย คนบนเรือในภาพคือ พี่น้องคนไทยมลายูที่กำลังเดินทางกลับจากทำงาน บางคนไปแบบเช้าเย็นกลับ บางคนกลับบ้านอาทิตย์ละครั้งขึ้นอยู่กับความใกล้หรือไกลของสถานที่ทำงาน (กลับทุกเย็นวันพฤหัส เพราะวันหยุดที่่รัฐกลันตันคือวันศุกร์) พวกเขาเหล่านี้เป็นคนท้องถิ่น ที่มาจากหมู่บ้าน/ตำบลต่างๆ ใกล้ๆ ท่าเรือ รายที่ไปเช้าเย็นกลับก็จะขับรถมอเตอร์ไซค์มาจอดแถวท่าเรือ แล้วข้ามเรือ (ค่าเรือคนละสิบบาท) พอถึงฝั่งมาเลเซียเดินทางต่อไปยังสถานที่ทำงาน บางรายก็มีรถมอเตอร์ไซค์ของตนจอดอยู่ฝั่งมาเลเซีย เพื่อความสะดวก บางคนก็อาศัยรถเพื่อนไป บางคนที่พอมีกำลัง (เช่น เป็นเถ้าแก่รับเหมาก่อสร้าง) ก็ซื้อรถยนต์จอดไว้ฝั่งโน้น สำหรับพาลูกน้องไปที่ทำงาน
คนขับเรือรับจ้างบอกว่า ตั้งแต่ราวตีห้าครึ่งไปจนถึงราวแปดโมงเช้า คนจากฝั่งไทยจะข้ามไปฝั่งมาเลเซียไม่ขาดสาย และบอกเราให้มาอีกทีในช่วงเช้ามืด ส่วนช่วงเย็นก็จะมีแต่คนข้ามกลับ คนขับเรือยังบอกว่า ท่าเรือแบบนี้มีหลายแห่งตลอดลำน้ำแถบนี้
เมื่อวานเป็นวันพฤหัส จึงมีคนข้ามกลับมาค่อนข้างมาก พวกเขามีหนังสือผ่านแดน ซึ่งจะประทับตราเข้าออกเป็นช่วงๆ และทหารที่อยู่ตรงท่าเรือก็จะทำหน้าที่ถ่ายรูปหนังสือข้ามแดนของทุกคนที่เดินทางกลับเข้ามาฝั่งไทย
เมื่อกลับบ้าน แรงงานจากฝั่งไทยเหล่านี้ก็มักซื้อของติดไม้ติดมือมาฝากคนที่บ้านด้วย บางคนก็หิ้วไข่ไก่ หิ้วปลา หิ้วของใช้เล็กๆ น้อยๆ กลับมา ตอนนี้ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนตัวมาก การใช้จ่ายซื้อของจากฝั่งมาเลเซียจึงดูจะเป็นการใช้จ่ายที่คุ้มค่ากว่ามาซื้อในฝั่งไทย
หมายเหตุประวัติผู้เขียน
http://soc-ant.soc.ku.ac.th/index.php/staff/lecturer/50-chalida
//////////////////////////
696 total views, 15 views today
More Stories
การยางยะลาเพิ่มทักษะการกรีดยางอย่างถูกวิธี ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ในการแข่งขันกรีดยางชิงแชมป์อำเภอเบตง
I SEE THE FUTURE อบจ.ปัตตานี มอบแว่นสายตาแด่น้อง แก้ปัญหาด้านสายตา สู่การพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
HARD เชื่อมสัมพันธ์ ไทย – มาเลย์ ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ร่วมจัดการแผนความร่วมมือด้านการศึกษา