พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ตอบข้อเรียกร้อง ต่อจุฬาราชมนตรี กรณีไม่เอามัสยิด (ตอนที่7/1ข้อ7)

แชร์เลย

โดย..สมเดช มัสแหละ…

ความที่ผมอยากที่จะให้มันจบเร็วๆ จึงคิดว่ามีแค่ 7 ข้อ ที่ไหนได้ 9 ข้อ …ผมต้องขอขอบพระคุณพี่น้องชาวพุทธเป็นจำนวนมาก ที่นำข้อมูลบางอย่างมาให้ผม ทำให้ผมมองเรื่องนี้แบบชัดเจนเข้าไปอีก หลายท่านบอกว่าเข้าใจพี่น้องมุสลิม ความรุนแรงมันเกิดจากคน ่ทานยกตัวตัวอย่างให้เห็นว่า อย่าว่าแต่มุสลิมถูกด่าเลย ขนาดพระอยู่คนละซีกการเมืองพระยังถูกด่าเล้ย ผมได้แต่ครับๆๆๆ..มาถึงข้อที่ 7.

7. ขอให้ท่านช่วยยกเลิกตราฮาลาล ซึ่งเป็นตราที่ชาวพุทธจำนวนมากกำลังไม่สบายใจและต่อต้านเพราะเก็บเงินผู้ประกอบการปีละ 300,000 ล้านบาทมา 20 กว่าปีโดยไม่จ่ายภาษีและไม่ทราบว่านำ เงินไปทำอะไร? หรือจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับโจร BRN หรือไม่

ข้อนี้ผมขอแยกเป็นข้อยอ่ยดังนี้ 1.ฮาลาล 2.เรื่องผลประโยชน์จากฮาลาล 3.โยงรายได้ฮาล้าลไปถึงการก่อการร้าย…

1.ฮาลาล หมายถึงสิ่งที่อนุมัติ หรือสิ่งที่อนุญาต มีอีกคำหนึ่งที่ตรงกันข้ามคือคำว่า “ฮารอม” คือสิ่งที่ต้องห้าม อย่างที่หลายท่านทราบแล้วว่า อิสลามเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ที่มีหลักคำสอนของศาสนามาเป็นแนวทาง

ซึ่งในทางพุทธก็มี เพียงแต่ส่วนมากเราจะให้เรื่องการปฏิบัติในวิถีพุทธไปอยู่กับพระสงฆ์ พุทธส่วนมากแค่ถือศีล 5 ซึ่งส่วนมากก็ไม่ครบ 5 ดังจะเห็นว่าในวิถีพุทธจริง ทำไม่ค่อยได้ ยกตัวอย่าง ปาณาติปาตา เวรมณี ห้ามฆ่าสัตว์ หรือ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ เทศกาลสำคัญๆ หรือชิวิตประจำวันก็ยังมีอยู่ ขนาดในวัด ก็ยังมีคนฝ่าฝืน จนต้องมีกฎหมายออกมาห้าม

ในอิสลามหากสิ่งใดคือข้อห้าม หรือ ฮารอม จะห้ามกับมุสลิมทุกคน ไม่ใช่ห้ามเฉพาะโต๊ะครู ส่วนคนอื่นๆทำได้ ตรงนี้ที่เราเรียกวิถี สิ่งที่เป็นข้อห้าม จะบอกไว้ในคัมภีร์ บางอย่างระบุตรงๆเลย เช่น สุกร สุรา เลือด บางเรื่องจะบอกรวมๆ เช่น สัตว์ที่ตาย(โดยไม่ได้เชือด) สัตว์ที่ล่าสัตว์เป็นอาหาร เป็นต้น

แต่ทุกข้อห้ามในอิสลาม มิใช่ห้ามจนสุดไปทุกเรื่อง เช่น สุกร ห้ามจริง แต่หากเพื่อรักษาชีวิตก็กินได้

ผมถึงบอกแล้วไงว่าเป็นมุสลิมมันยากตรงนี้ จะอยู่ จะกินก็ลำบาก แล้วไม่ทราบว่าจะกลัวคนจะมารับอิสลามทำไม การที่จะบอกว่าอิสลามเอาเปรียบ คนอื่นกินอาหารฮลาลได้ แต่มุสลิมกินอาหารไม่ฮาลาลไม่ได้ …

ทำไมท่านคิดว่าเอาเปรียบ ไม่คิดว่ามุสลิมลำบากเรื่องกินบ้างหรือ ผู้ที่มิใช่มุสลิม สบาย จะกินอะไร แบบไหนก็กินได้ทั่วไป ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะต้องดูเครื่องหมายที่บ่งบอกว่ากินได้ …ฮาลาล จะมีอีกคำหนึ่งที่ตามมาติดๆคือ “ตอยญิบัน” เราจะเรียกว่า สุขอนามัยก็ได้ คืออาหารที่อนุญาตที่ดี มีประโยชน์

ทุกวันนี้ผู้คนในโลก นอกจากมุสลิมแล้ว ผู้คนทั่วๆไปที่มิใช่มุสลิม เวลาซื้ออาหารก็ต้องดูเครื่องหมายรับรองเช่นกัน มันจึงมีเครื่องหมายมาตรฐานต่างๆเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า อาหารที่เราจะกินนี้ เรากินได้อย่างปลอดภัย มี อย. มอก GMP GMOs สารพัดที่ออกมา

เป็นมุสลิมท่านอย่าเข้าใจว่าไม่กินหมูเท่านั้น คำว่าไม่ฮาลาล มันรวมถึงหมู เห็ด เป็ด ไก่ ด้วย นี่ไงผมถึงว่ามันอยากที่จะมาเป็นมุสลิม มันมีรายละเอียดในการดำเนินชีวิตในหลายๆด้าน

ที่ห้ามเรื่องอาหารการกิน มุสลิมเองก็ไม่ได้หาเหตุผลอะไรหรอกว่าทำไมถึงห้าม เมื่อยอมรับในความเชื่อต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว อะไรที่เป็นคำสั่งห้าม ก็ละเว้น อะไรที่เป็นคำสั่งใช้ก็ปฏิบัติ

ยกตัวอย่าง การห้ามบริโภคเลือด มุสลิมไม่ไปค้าคว้าว่าห้ามเพราะเหตุใด แต่การแพทย์ยุคปัจจุบัน เป็นผู้ให้คำตอบเองว่า เลือดคือแหล่งที่อยู่ของบรรดาเชื้อต่างๆ จะตรวจโรคก็ต้องเอาเลือดไปตรวจ

จากเลือดนี่เอง จึงเป็นที่มาของการเชือด…การเชือดจะทำให้เลือดในสัตว์ไหลออกมา ซึ่งมันก็หมายถึงเชื้อโรคมันออกมาด้วย

การห้ามบริโภคสัตว์ที่ตายเองโดยไม่ได้เชือด เหตุผลคือ สัตว์ที่ตายเองเป็นโรคหรือไม่..??? สัตว์ที่ตายเอง เลือดยังคงอยู่ในร่างกายสัตว์…ส่วนเหตุผลว่าทำไมมุสลิมต้องเชือดสัตว์ โดยต้องกล่าวพระนามของพระเจ้า ประเด็นนี้ผมจะเขียนถึงต่อไป (ท่านช่วยเตือนผมด้วย) เพราะมันจะไปคล้อง/คล้ายกับศีลข้อหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าสอน คือ ปาณาติปาตา เวรมณี..???

เมื่อท่านรู้จักสิ่ง “ฮารอม” ที่ต้องห้ามแล้ว ทีนี้มันก็จะเหลือสิ่งที่ “ฮาลาล” อนุมัติ …คำว่าอาหารฮาลาล ก็คืออาหารที่อนุมัติตามหลักการของศาสนาอิสลาม ท่านที่มิใช่มุสลิมอาจจะคิดว่ายุ่งยาก แต่มุสลิมเมื่อยอมรับในอิสลาม ก็จะไม่คิดว่าเป็นความยุ่งยาก

ผมเคยถามเพื่อนๆชาวพุทธบางคนที่ชอบกินเหล้า เขาบอกว่าศีลข้อนี้ยาก เขาทำไม่ค่อยได้ ก็เหมือนมุสลิมบางคนที่บอกว่าศีลข้อที่ให้ถือศิลอดมันยาก ทำไม่ค่อยได้ หรือแม้แต่การละหมาด มิใช่ว่ามุสลิมจะกระทำอย่างเคร่งครัดทุกคน แต่ในอิสลามใครที่ละเมิดข้อห้าม”ฮารอม” มีบาป มีโทษทางศาสนา นี่คือกติกา

เมื่อมุสลิมทานอาหารที่ไม่ฮาลาลไม่ได้ มันเลยต้องมีอาหารที่ฮาลาล สมัยก่อนบ้านใครบ้านมัน เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่เมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก และประชากรมุสลิมมีมากขึ้น ถ้ามองในประเทศไทยมันคือชนส่วนน้อย

นี่หากปัตตานีไม่แพ้ ยังคงเป็นรัฐเหมือนเดิม มุสลิมในประเทศไทยมีแค่นิดเดียวเอง แต่เมื่อผนวกสามจังหวัดมาเป็นประเทศไทย มุสลิมจึงมีมากขึ้น แต่ก็เป็นชนส่วน้อยอยู่ดี

หากมองไปที่อาเซียน มุสลิมคือชนส่วนมากของอาเซียน เมื่อกำลังการบริโภค และตลาด ของอาหารฮาลาลมากขนาดนี้ แน่นอนนักธุรกิจที่ต้องการทำตลาดอาหารมุสลิมก็ต้อง ยอมรับกติกาอันนี้

ไม่มีใครบังคับในเรื่องนี้ ส่วนมากมุสลิมจะผลิตเอง มุสลิมก็สามารถใช้คำว่าฮาลาลเองได้เลย แต่หาก จะผลิตเพื่อการจำหน่าย อะไรคือสิ่งที่จะรับรอง ว่าอาหารนั้นๆฮาลาลจริง

ตลาดมุสลิม ก็ต้องมองไปถึงสถาบันที่รับรอง เรื่องฮาลาล อันเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในยุโรป เขาก็จ้างองค์กรมุสลิม มาทำเรื่องนี้ หรือมารับรองเรื่องนี้ในผลิตภันฑ์ของเขาที่จะเจาะตลาดมุสลิม หากคุณไม่สนใจตลาดมุสลิม ก็ไม่มีใครไปบังคับคุณ

ในเมื่อประเทศไทยมีมุสลิม และมีองค์กรมุสลิมอยู่ ซึ่งโลกมุสลิมทราบดี ในยุคอดีตคือสำนักจุฬาราชมนตรี แต่ปัจจุบันมีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย องค์กรนี้ก็ต้องรับผิดชอบทุกเรื่องเกี่ยวกับฮาลาลอย่างเป็นทางการ

การตรวจสอบว่าอาหารนั้นๆฮาลาลจริงหรือไม่ ก็ต้องมีมุสลิมที่รู้เรื่องนี้ไปดูแล ท่านจะให้เขาไปดูเรื่องนี้ฟรีๆหรือไง เขาก็ต้องกินต้องอยู่ เรื่องฮาลาล ในบ้านเราไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐ ถามว่าผู้ปฏิบัติงาน จะเอาค่าจ้างที่ต้องลงไปดูเรื่องนี้จากใคร มันก็ต้องเป็นหน้าที่ขององค์กรมุสลิม ที่จะต้องกำหนด ราคาในเรื่องนี้ แล้วนำเงินนั้นมาใช้จ่าย

เมื่อเทคโนโลยี ก้าวหน้า องค์กรมุสลิมก็ต้องหาวิธีการที่จะนำเทคโนโลยีนั้นมาช่วย ถามว่าต้องใช้เงินไหม..???

ต้องบอกว่า เรื่องนี้บังคับกันไม่ได้ หากธุรกิจนั้นไม่ต้องการเครื่องหมายฮาลาล… แต่หากต้องการ จะเอาเครื่องหมายนั้นมาติดเองไม่ได้ ถ้าเอามาติด แล้วผลิตภัณฑ์นั้นมีใคร หรือองค์กรใดรับรอง เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือด้วย

มันก็เหมือนการรับรองมาตรฐานต่างๆ เช่น ISO มันต้องสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ หากผู้บริโภค ที่เป็นมุสลิม ไม่มั่นใจ ตรวจสอบย้อนกลับ ใครคือผู้รับผิดชอบ เกิดมุสลิมในประเทศต่างๆ สืบทราบว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ไม่ฮาลาลจริง ความเสียหายก็เกิดกับเจ้าของธุรกิจนั้นๆ แต่หากมีองค์กรรับรอง องค์กรนั้นๆก็ต้องรับผิดชอบ

การที่มุสลิมจะรู้ว่าต้องทำอย่างไร อาหาร หรือสิ่งนั้นจะฮาลาลได้ มุสลิมก็ต้องเรียนศาสตร์ที่เรียกว่า วิชาฟิกก์ หรือนิติศาสตร์อิสลาม /นิติศาสตร์อิสลาม มีที่มาจากพระมหาคัมภีร์อัล-กรุอ่าน และพระวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด ก็เหมือนชาวพุทธต้องยึดพระไตรปิฏก ที่เป็นพระวจนะขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเอง

หากจะผลิตอาหารฮาลาล ก็ต้องรู้เรื่องนิติศาสตร์อิสลาม /การล้างเนื้อล้างแบบไหนที่ฮาลาล อะไรที่เอามาทำอาหารฮาลาลไม่ได้ ผู้ผลิตต้องรู้ หรือการทำอาหารสำเร็จรูป “เชฟ” พ่อครัว แม่ครัว ต้องทราบว่าสิ่งที่จะนำมาทำอาหาร ที่อนุมัติคืออะไร อันนี้หากท่านจะตีตลาดมุสลิมนะครับ แต่ถ้าหากไม่ต้องการตลาดมุสลิม จะทำแบบไหนก็ไม่มีปัญหา

ผม หรือมุสลิม ต่างหากที่อิจฉาคนพุทธ ที่กินกินอาหารอะไรก็ได้ เจอร้านอาหารฮาลาลก็กินได้ เจอร้านทั่วๆไปก็กินได้ ชีวิตสะดวกสบายมาก จะมาวิตกทุกข์ร้อนอะไรกับเรื่องฮาลาล

ส่วนเรื่องผลประโยชน์ของกิจการฮาลาล เรื่องนี้เราต้องแยกเรื่องเป็นอีกกรณีหนึ่ง เมื่อมันเป็นธุรกิจ แน่นอนมันก็มีผลประโยชน์ ใครได้ใครเสีย ตอนต่อไปมาว่ากัน…

ระวังให้ดีเถอะต่อต้านเรื่องฮาลาลกันดีนัก เขมรมีองค์กรฮาลาลที่มาตรฐานเมื่อไหร่ บริษัทห้างร้านแห่ไปของฮาลาลที่เขมร จะรู้สึก หรือบางที่ฐานการผลิตอาหารฮาลาล ย้ายฐานไปเขมรกันหมด เราจะเสียทั้งโอกาสและรายได้มหาศาล อย่าลืมมุสลิมเขมรมีมาก ในคณะรัฐมนตรีก็มีมุสลิมหลายท่าน เขาอาจจะเป็นคู่แข่งในเรื่องนี้กับไทยก็เป็นได้

รัฐบาลเขมรทำเรื่องฮาลาลเอง จ้างคนไทยไปดูแล ส่งอาหารฮาลาลมาขายในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือตลาดมุสลิมทั่วโลก เขมรร่ำรวยไม่รู้เรื่องอีกแล้ว คนไทยมัวอยู่ขัดกันไปมา….

 1,159 total views,  2 views today

You may have missed