เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

บทความพิเศษ….สถานการณ์ดำรงอยู่ของมุสลิมกลุ่มน้อย

แชร์เลย

โดย ดร.วิสุทธิ์  บิลล่าเต๊ะ..

ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ประจำภาคใต้

.สถานการณ์ดำรงอยู่ของมุสลิมกลุ่มน้อย ระหว่างความเป็นดารุลอิสลามและดารุลฮัรบี

บทนำ

          คำว่าดารุลอิสลาม และดารุลฮัรบีถูกพูดถึงมากขึ้นในหมู่ผู้ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย การใช้คำว่า “ดารุลอิสลาม” กับ “ดารุลฮัรบี” ในนิยามของคนที่ต่อสู้เพื่อนำรัฐปาตานีในอดีต กลับมาผงาดอีกครั้งโดยเป็นอิสระจากรัฐไทย มีความหมายเป็นขั้วตรงข้ามกันชัดเจน       คือ ดารุลอิสลาม หมายถึง ดินแดนที่ปกครองโดยมุสลิมและมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ส่วนดารุลฮัรบี หมายถึง ดินแดนที่ผู้ปกครองมิใช่มุสลิม และประชากรส่วนใหญ่ก็มิใช่มุสลิม และแน่นอนเป็นดินแดนที่ต้องทำสงคราม (ฮัรบ์) เพื่อแยกตัวเป็นอิสระ แล้วตั้งรัฐอิสลามขึ้นแทน

   บทความนี้มิใช่ข้อเขียนทางวิชาการ เพียงแต่นำความคิดเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเรียบเรียงเสนอ เผื่อบางทีผู้อ่านจะได้แง่คิดในอีกมุมมองก็ได้

      พึงเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า คำศัพท์ “ดารุลอิสลาม” และ “ดารุลฮัรบี” นั้น ไม่ปรากฏ ณ ที่ใดใน     พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และประมวลวจนะแห่งบรมศาสดา ﷺ แต่ปรากฏการใช้ครั้งแรกโดยอิหม่าม          อบูฮานีฟะฮฺ (รอฮิมะฮุลลอฮฺ) (ฮิจรอฮฺศักราช 80 หรือ คริสต์ศักราช 699 – ฮิจรอฮฺศักราช 150 หรือ คริสต์ศักราช 767) ทั้งนี้ด้วยสถานการณ์ขณะนั้นที่รัฐอิสลามกับมิใช่อิสลามมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด         อยู่ตลอดเวลา ศัพท์ “ดารุลอิสลาม” กับ “ดารุลฮัรบี” จึงเกิดขึ้นตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เป็นศัพท์วิชาการที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อกำกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมีความหมายตามบริบทแห่งยุคสมัย และยอมเปลี่ยนแปลงเมื่อบริบทของสังคมโลกเปลี่ยนไป

ในฮิจรอฮฺศตวรรษ ที่ 1-2 ซึ่งอิหม่ามอบูฮานีฟะฮฺดำรงชีพอยู่ โลกในทัศนะของนักวิชาการมุสลิม       มีเพียง 2 ค่าย คือ ค่ายอิสลาม กับค่ายที่มิใช่อิสลาม (อัลกุฟร์) ค่ายอิสลามเป็นฝ่ายถูกรุกราน และต้องป้องกันตัวจากการล่วงละเมิดอธิปไตยของอีกฝ่ายอยู่เสมอ จนมีการบัญญัติศัพท์เรียกอีกฝ่ายว่า “ดารุลฮัรบี”          ซึ่งสะท้อนสภาวะการทำสงครามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดารุลฮัรบีในขณะนั้นจึงหมายถึงดินแดนที่ไม่มีหลักอิสลามกำกับวิถีชีวิตผู้คน ไม่มีอำนาจและไม่มีเสรีภาพทางศาสนาสำหรับมุสลิม แต่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการรุกราน และละเมิดสิทธิของมุสลิมอยู่เสมอ  คำว่า “ฮัรบี” บ่งชี้ว่ามุสลิมต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา เพราะโอกาสที่จะเกิดสงครามมีสูงยิ่ง

ส่วนดารุลอิสลาม หรือดารุสสลาม หมายถึง ดินแดนที่มุสลิมสามารถบริหารจัดการปกครองตนเองได้ โดยมีหลักกฎหมายอิสลาม (ชะรีอะฮฺ) กำกับการดำเนินชีวิต

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของอบูฮานีฟะฮฺเอง การจะพิจารณาว่า ดินแดนใดเป็นดารุลฮัรบีนั้น         ต้องคำนึงถึงเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่

  1. ดินแดนนั้นใช้กฎหมายที่ขัดแย้งกับอิสลามหรือไม่
  2. ดินแดนนั้นมีเขตแดนติดกับดารุลฮัรบีหรือไม่
  3. มุสลิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้น มีชีวิตมั่นคงปลอดภัยหรือไม่

ทัศนะของอบูฮานีฟะฮฺนี้ แม้จะมีนักวิชาการยุคนั้นหลายคนไม่เห็นด้วย แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าเหมาะสมกับสมัยปัจจุบันอย่างยิ่ง เนื่องจากบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปัจจุบันเปลี่ยนไปจากในอดีตอย่างมากมาย เป็นบริบทที่ประเทศต่างๆในโลกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีประชาธิปไตยที่ส่งเสริมเสรีภาพ เป็นระบบการปกครองกระแสหลัก และมีหน่วยงานองค์การสหประชาชาติเป็นหน่วยงานที่รวบรวมประเทศต่างๆเข้ามาอยู่ด้วยกันภายใต้กฎบัตรต่างๆ ที่ช่วยให้โลกมีกฎระเบียบอันอำนวยให้คนทุกศาสนาได้รับการปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เป็นโลกที่ประเทศหนึ่งๆ ประกอบด้วยคนหลากหลายศาสนาและวัฒนธรรม แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องปะทะขัดแยง ยกเว้นบางพื้นที่เท่านั้นที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยมีมูลเหตุทางศาสนาอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง เช่น กรณีปาเลสไตน์และโรฮิงยา เป็นต้น

เมื่อบริบทเปลี่ยน มุมมองในเรื่องดารุลอิสลาม และดารุลฮัรบีก็ควรต้องปรับปรนไปตามบริบทด้วย ทั้งนี้ในมุมมองของข้าพเจ้ามีปัจจัยที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา 3 ประการ คือ

ปัจจัยการพิจารณา

  1. เป้าหมายชีวิต
  2. เสรีภาพทางศาสนา / ความเป็นญะมาอะฮฺ
  3. กรณีศึกษาที่เป็นจริง
  4. เป้าหมายการสร้างชีวิต

มุสลิมในฐานะที่เป็นชีวิตหนึ่งซึ่งถูกรังสรรค์โดยอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า มีหน้าที่ต้องดิ้นรนขวนขวาย    ไปให้ถึงเป้าหมายแห่งการรังสรรค์นั้น เพราะการรังสรรค์สรรพสิ่งของอัลลอฮฺ มิได้เป็นไปอย่างไร้สาระแก่นสาร หากแต่ทุกอย่างล้วนมีฮิกมะฮฺ (วิทยปัญญา) เหตุผลและผลประโยชน์ทั้งสิ้น

رَبَّنَا مَا خَلَقۡتَ هَٰذَا بَٰطِلٗا سُبۡحَٰنَكَ فَقِنَا عَذَابَ ٱلنَّارِ (آل عمران :191)

“โอ พระผู้อภิบาลแห่งเรา พระองค์มิได้ทรงสร้างสรรพสิ่งเหล่านั้นมาอย่างไร้สาระแก่สาร พระองค์ทรงความบริสุทธิ์จากการกระทำดังนั้นแน่นอน ขอทรงโปรดปกปักรักษาเราจากโทษทัณฑ์แห่งไฟนรกด้วยเถิด”

แล้วเป้าหมายดังกล่าวคืออะไร ? พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซูรอฮฺ อัซซาริยาต อายะฮฺที่ 56 มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เมื่อระบุว่า

 

وَمَا خَلَقۡتُ ٱلۡجِنَّ وَٱلۡإِنسَ إِلَّا لِيَعۡبُدُونِ

“เรา (อัลลอฮฺ) มิได้สร้างญินและมนุษย์มาเพื่อการอื่นใด เว้นแต่จะให้พวกเขาสักการบูชาเรา”

เป้าหมายนี้จึงเป็นตัวชี้วัดสถานะของมุสลิมได้ดีที่สุด ความเป็นมุสลิมยังอยู่หรือหลุดออกไป สำเร็จหรือล้มเหลว มีทางนำหรือลุ่มหลง ล้วนผูกพันอยู่กับเป้าหมายนี้ รวมทั้งการกำหนดสถานะสังคมมุสลิมว่า        เป็นดารุลอิสลามหรือดารุลฮัรบี ด้วย

แม้จะอยู่ในสถานะมุสลิมกลุ่มน้อย แต่หากสามารถดำเนินชีวิตตามระบบอิสลาม จนสามารถกระทำการอิบาดะฮฺได้ตามเจตนารมณ์อิสลาม สถานะของความเป็นคนกลุ่มน้อยทางวัฒนธรรมก็ไม่ได้เป็นสิ่งขัดขวาง มิให้สังคมนั้นเป็นดารุลอิสลามได้ ขณะเดียวกันประเทศที่มีมุสลิมเป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่มีรัฐบาลเผด็จการอำนาจที่ขัดขวางการสร้างระบบอิบาดะฮฺของประชาชน และกระทำการกดขี่ข่มเหงพลเมืองที่ต้องการสถาปนาอิสลาม รวมทั้งพยายามสถาปนาระบบต่าง ๆ ที่ขัดแย้งสวนทางกับคำสอนของอิสลาม ก็ย่อมไม่อาจนับได้ว่าดินแดนนั้น เป็นดินแดนอิสลามอย่างแท้จริง เช่น ประเทศโลกอาหรับปัจจุบัน และประเทศที่พลเมืองบางส่วนต้องอพยพ  ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศซึ่งประชากรส่วนใหญ่มิใช่มุสลิม เพียงเพราะมีความคิดสถาปนาอิสลาม และต้องการ         อิบาดะฮฺที่สมบูรณ์ในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเท่านั้น

การดำรงตนของชนมุสลิม ย่อมนับได้ว่าไร้สาระแก่นสาร หากเป็นการดำรงอยู่โดยมีเป้าหมายเพียงการเสพสุข และแสวงหาลาภยศสรรเสริญทางโลก โดยมิคิดถึงเป้าหมายแห่งการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ แม้จะอยู่ในดินแดนประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลมุสลิมก็ตาม แต่หากการดำรงอยู่แม้จะในสภาพชนกลุ่มน้อย แต่เป็นการดำรงอยู่ที่รัฐมิได้ขัดขวางการประกอบอิบาดะฮฺ และพลเมืองมุสลิมสามารถวางระบบการดำเนินชีวิตที่อำนวยต่อการอิบาดะฮฺอย่างแท้จริงได้ภายใต้สิทธิและเสรีภาพที่ประเทศนั้นคุ้มครอง ความเป็นชนกลุ่มน้อยนั้นก็มิใช่เหตุที่เราจะเรียกดินแดนดังกล่าวว่า ดารุลฮัรบีแต่อย่างใด

จะเรียกดารุลฮัรบีได้อย่างไรเล่า ในเมื่อพลเมืองส่วนน้อยนี้ อาจมีสิทธิและเสรีภาพทางศาสนามากกว่ามุสลิมที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลมุสลิมกันเองเสียด้วยซ้ำ ?

มุสลิมมิได้ถูกกำเนิดมาเพื่อทำสงครามครอบครองดินแดน แต่การสงครามเป็นสิ่งที่ท่านบรมศาสดา ﷺ ได้พยายามหลีกเลี่ยงเสมอมา แม้ในยามที่ถูกกดขี่บีบคั้นอย่างหนักก็ยังถูกสั่งการว่า

… كُفُّوٓاْ أَيۡدِيَكُمۡ وَأَقِيمُواْ ٱلصَّلَوٰةَ … (النساء:77)

“จงเก็บมือของพวกเจ้าไว้เสียเถิด (ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง) และจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด”

  1. เสรีภาพทางศาสนา

เมื่อเป้าหมายชีวิตคือการอิบาดะฮฺ เสรีภาพทางศาสนาก็ต้องวัดกันที่อิบาดะฮฺนั่นเอง กล่าวคือ ประเทศใดที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่มุสลิมซึ่งเป็นประชากรของตนจนสามารถประกอบการอิบาดะฮฺตามที่อิสลามกำหนด ย่อมถือว่าประเทศนั้นให้เสรีภาพทางศาสนาแก่มุสลิม แม้รัฐบาลของประเทศดังกล่าวไม่มีมุสลิมร่วมอยู่ด้วยเลยก็ตาม

ส่วนรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรีเป็นมุสลิมทั้งหมด แต่กระทำการชักชวนมิให้ประชาชนเข้าสู่การอิบาดะฮฺ รวมทั้งขัดขวางการสร้างสังคมบนพื้นฐานแห่งการอิบาดะฮฺ และลิดรอนสิทธิอันพึงมีพึงได้ของประชาชน ถือได้ว่ารัฐบาลนั้นปิดกั้นเสรีภาพทางศาสนา

ความเป็นดารุลอิสลาม หรือดารุลฮัรบีจึงไม่ควรขึ้นอยู่กับจำนวนมากน้อยของประชากรมุสลิมและ  มิใช่มุสลิม แต่ขึ้นอยู่กับเสรีภาพทางศาสนามากกว่า เพราะด้วยเสรีภาพเช่นนี้ การ“ตัมกีน” (تمكين) ทั้งในแง่กายภาพและจิตภาพที่ปรากฎในอัลกุรอานจึงจะเกิดขึ้นได้

การตัมกีน คือ การประทานปัจจัยทั้งด้านกายภาพและจิตภาพให้มุสลิมดำรงอยู่ได้ โดยทำให้ศาสนา  มีความมั่นคงและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ตัวอย่างการตัมกีนด้านกายภาพจากอัลกุรอาน ได้แก่ พระดำรัสแห่ง   อัลลอฮฺในอายะฮฺ 10 ซูรอฮฺ อัลอะรอฟ

وَلَقَدۡ مَكَّنَّٰكُمۡ فِي ٱلۡأَرۡضِ وَجَعَلۡنَا لَكُمۡ فِيهَا مَعَٰيِشَۗ قَلِيلٗا مَّا تَشۡكُرُونَ (الأعراف:10)

“เราช่วยให้พวกเจ้าลงหลักปักฐานในแผ่นดิน และเราได้สร้างปัจจัยการดำรงชีพไว้แก่พวกเจ้า            ซึ่งน้อยนักที่พวกเจ้าจะสำนึกในพระคุณ”

ส่วนการตัมกีนด้านจิตภาพ ถูกพูดถึงในซูรอฮฺอันนูร อายะฮฺที่ 55

وَعَدَ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ مِنكُمۡ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ لَيَسۡتَخۡلِفَنَّهُمۡ فِي ٱلۡأَرۡضِ كَمَا ٱسۡتَخۡلَفَ ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِهِمۡ وَلَيُمَكِّنَنَّ لَهُمۡ دِينَهُمُ ٱلَّذِي ٱرۡتَضَىٰ لَهُمۡ وَلَيُبَدِّلَنَّهُم مِّنۢ بَعۡدِ خَوۡفِهِمۡ أَمۡنٗاۚ يَعۡبُدُونَنِي لَا يُشۡرِكُونَ بِي شَيۡ‍ٔٗاۚ وَمَن كَفَرَ بَعۡدَ ذَٰلِكَ فَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡفَٰسِقُونَ ٥٥

“อัลลอฮฺทรงสัญญากับบรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติสิ่งดีงามว่า จะทรงให้พวกเขาปกครองแผ่นดิน เช่นเดียวกับที่ทรงให้ชนรุ่นก่อนได้ปกครองมาแล้ว และจะทรงให้พวกเขาสถาปนาศาสนาซึ่งพระองค์ทรงพอพระทัย และยังจะทรงเปลี่ยนแปลงความหวาดกลัวที่พวกเขาเคยประสบ ให้กลายเป็นความปลอดภัยอีกด้วย พวกเขาสามารถสักการะข้าโดยไม่ตั้งภาคีใด ๆ ต่อข้า และหลังเกิดสภาวการณ์เช่นนี้แล้ว ผู้ใดยังปฏิเสธข้าอีก ผู้นั้นก็นับเป็นคนละเมิดโดยแท้”

โองการนี้ชี้ให้เห็นการตัมกีนเชิงจิตภาพอันได้แก่ การมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยบุคคลสามารถปฏิบัติตนตามหลักศาสนาได้ในบรรยากาศที่อบอวลด้วยความปลอดภัย ปราศจากความหวาดกลัวบรรยากาศเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีมุสลิมเป็นคนกลุ่มน้อย จึงไม่อาจเรียกพื้นที่นั้นว่าดารุลฮัรบีได้    แต่ดารุลฮัรบีควรใช้เรียกพื้นที่ซึ่งมุสลิมไม่อาจปฏิบัติการทำอิบาดะฮฺได้ หรือแม้จะปฏิบัติได้บ้าง แต่เต็มไปด้วยความหมาดกลัวและหวาดระแวงมากกว่า

แล้วการปฏิบัติในระดับใด จึงจะเรียกว่ามีเสรีภาพทางศาสนา ? หากพิจารณาจากถ้อยวจนะของ ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ นบีมุหัมมัด ﷺ ที่กล่าวไว้ว่า

بُنِيَ الإِسْلَامُ عَلَى خَمْسٍ: شَهَادَةِ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا رَسُولُ اللَّهِ، وَإِقَامِ الصَّلَاةِ، وَإِيتَاءِ الزَّكَاةِ، وَصَوْمِ رَمَضَانَ ، وَالحَجِّ

“อิสลามนั้นถูกวางไว้บนฐาน 5 ประการ ได้แก่ การปฏิญานตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และศาสดามุหัมมัดเป็นศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ การดำรงไว้ซึ่งการละหมาด การจ่ายซะกาต การถือศีลอด และการประกอบพิธีฮัจญ์”

พิจารณาจากวจนะนี้แล้ว น่าจะกล่าวได้ว่า เสรีภาพพื้นฐานที่มุสลิมทุกหนแห่งต้องการ คือ เสรีภาพ  ที่จะศึกษาเรียนรู้อุดมการณ์เตาฮีดอย่างลึกซึ้ง และดำรงไว้ซึ่งอิบาดะฮฺทั้ง 5 ได้เป็นอย่างดีนั่นเอง ทั้งนี้เพราะ    อิบาดะฮฺทั้ง 5 ดังกล่าว คือพื้นฐานสำคัญที่สุดในการสถาปนาระบบการดำเนินชีวิตแบบอิสลามให้สมบูรณ์ต่อไป

เสรีภาพการประกอบกิจอิบาดะฮฺทั้ง 5 ย่อมสร้างศักยภาพในการสถาปนาสังคมมุสลิมที่แข็งแกร่งได้ ขณะที่การลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจอย่างใดอย่างหนึ่งหมายถึง การลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน และถือเป็นการรุกรานศาสนาได้ เพราะรุกุนที่ขาดหายไปหนึ่งอย่าง ย่อมทำให้ชีวิตและสังคมเปราะบางในหลายๆด้านนั่นเอง

  1. กรณีศึกษา

มัสยิดบ้านเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 ประเทศไทย

มัสยิดบ้านเหนือเป็นหนึ่งในจำนวนเกือบ 4,000 มัสยิดที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด เป็นมัสยิดที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งแวดล้อมด้วยคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ อันเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 94 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่มุสลิมมีจำนวนเป็นอันดับสองอยู่ที่ประมาณร้อยละ      5 เท่านั้น

แม้จะเป็นชนกลุ่มน้อยทางวัฒนธรรม แต่มัสยิดต่าง ๆ ในประเทศไทยก็มีเสรีภาพที่จะธำรงรักษาไว้ซึ่งภาระหน้าที่ของตนอย่างกว้างขวาง ภายใต้กฎหมายที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อรองรับองค์กรอิสลามในประเทศไทย คือ พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พุทธศักราช 2540 ซึ่งรับรองสถานภาพนิติบุคคลขององค์กรตั้งแต่ระดับมัสยิดในชุมชนท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศ คือ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และจุฬาราชมนตรี

ในส่วนของมัสยิดบ้านเหนือ ได้ใช้เสรีภาพที่มีอยู่ในประเทศ ก่อร่างสร้างสังคมมุสลิมบนพื้นฐาน        5 ประการที่อิสลามวางไว้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการรักษาอัตลักษณ์มุสลิม และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน โดยแต่ละด้านต่างส่งเสริมกันและกันดุจก้อนอิฐที่ยึดโยงกันเป็นอาคารที่แข็งแรง

พื้นฐานข้อที่ 1 การปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ

การเข้าถึงความหมายอันแท้จริงของการปฏิญาณ ย่อมต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง       มัสยิดบ้านเหนือจึงได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนประจำมัสยิดขึ้น โดยจดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ    เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญ แต่บูรณาการคำสอนอิสลามเข้ามาในหลักสูตร และอบรมบ่มเพาะนักเรียนผ่านการประกอบอิบาดะฮฺตามหลักศาสนาอิสลาม โดยตั้งขึ้นเมื่อปีคริสต์ศักราช 2008 ในชื่อกัลยาณชนรังสรรค์มูลนิธิ มัสยิดบ้านเหนือ มีนักเรียนในปีแรก 45 คน และครู 5 คน

ปัจจุบันทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน 722 คน และครู 60 คน    โดยรัฐสนับสนุนการเรียนการสอน 100 เปอร์เซ็นต์

 

พื้นฐานข้อที่ 2 การละหมาด

มัสยิดบ้านเหนือส่งเสริมการละหมาดญะมาอะฮฺร่วมกันที่มัสยิด เพราะตระหนักว่าการละหมาด คือ สายใยจากอัลลอฮฺที่ช่วยร้อยรัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า และระหว่างมนุษย์กันเองให้มีความแน่นแฟ้นมั่นคง เนื่องจากเป็นศาสนกิจที่ชักนำให้คนมาพบปะกันอยู่อย่างประจำสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง ณ มัสยิด

ผลจากการส่งเสริมให้สัปปุรุษร่วมกันละหมาดที่มัสยิด ทำให้เวลาละหมาดทุกครั้ง ณ มัสยิดบ้านเหนือมีคนละหมาดร่วมกันไม่ต่ำกว่า 100 คนเสมอ และคน 100 คนนี้เองได้กลายเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมชุมชนบ้านเหนือในทุกมิติ คนเหล่านี้จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ ที่มัสยิดจัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การปกครอง และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม จนทำให้มัสยิดบ้านเหนือสามารถพัฒนาชุมชนได้โดยพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่า ละหมาดนั้นนอกจากจะเป็นอิบาดะฮฺที่บุคคลกระทำเพื่อสักการะพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างประชาคมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

พื้นฐานข้อที่ 3 การซะกาต

มัสยิดบ้านเหนือใช้ซะกาตเป็นเครื่องมือส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชาวชุมชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการตั้งกองทุนซะกาตขึ้นที่มัสยิด ทำหน้าที่เก็บรวบรวมซะกาตที่ชาวชุมชนจ่าย       เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของชะรีอะฮฺ โดยเริ่มก่อตั้งเมื่อปี คริสต์ศักราช 1999 ได้เงินซะกาตในปีแรก 114,400 บาท ปัจจุบันมีซะกาตเข้าสู่กองทุนเฉลี่ยปีละ 700,000 บาท ซะกาตของมัสยิดบ้านเหนือใช้ไปเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในชุมชนเป็นหลัก ด้วยการมอบเครื่องมือประกอบอาชีพแก่คนจนที่สามารถทำงานได้ ส่วนคนที่ไม่สามารถทำงานเนื่องจากความเจ็บป่วยหรือพิการ กองทุนซะกาตจะจ่ายเป็นเงินสวัสดิการรายเดือนให้แทน เดือนละ 700 บาทต่อคน นอกจากนี้ยังมีซะกาตเพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนในหมู่บ้าน และเด็กกำพร้าจากจังหวัดต่างๆที่มาเรียน ณ โรงเรียนกัลยาณชนรังสรรค์มูลนิธิ มัสยิดบ้านเหนือด้วย โดยในปี 2019 มีเด็กกำพร้าและยากจนในอุปถัมภ์ของกองทุนทั้งสิ้น 107 คน จาก 11 จังหวัดของประเทศไทย การอุปถัมภ์นี้ประกอบด้วย การสนับสนุนเรื่องค่าเล่าเรียน เสื้อผ้า อาหาร และหนังสือทั้งหมดจนกว่าเด็กๆจะจบมัธยมศึกษาปีที่ 6

พื้นฐานข้อที่ 4 การถือศีลอด

ศีลอดมีวิทยปัญญาสำคัญประการหนึ่งแฝงอยู่ คือ การสอนให้รู้จัดเห็นใจผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน และอ่อนแอทั้งหลาย ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ผลักดันคนเราให้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้ให้ และช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอยู่เสมอ

ชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่มีการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอยู่มิได้ขาด สังเกตจากเมื่อที่ใดในประเทศเกิดภัยพิบัติต้องการความช่วยเหลือ ชาวชุมชนก็จะช่วยกันทั้งในด้านทรัพย์สินและแรงงาน     ที่เด่นชัดยิ่ง คือ การช่วยเด็กกำพร้าและยากจนที่เล่าเรียนอยู่ในมัสยิดที่มักได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนรอมฎอน ซึ่งเด็กๆทุกคนจะได้รับการเลี้ยงอาหารทั้งตอนย่ำรุ่ง และตอนละศีลอดซึ่งต้องใช้เงินตกวันละ 8,000 บาท ทั้งนี้มีผู้บริจาคเงินเลี้ยงดูเด็กเหล่านี้ตลอดทั้งเดือน

พื้นฐานข้อที่ 5 การประกอบพิธีฮัจญ์

ฮัจญ์เป็นอิบาดะฮฺที่ต้องอาศัยปัจจัยหลากหลาย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งทางด้านจิตใจ ร่างกายและทรัพย์สิน พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวถึงฮิกมะฮฺแห่งฮัจญ์ตอนหนึ่งว่า

لِّيَشۡهَدُواْ مَنَٰفِعَ لَهُمۡ … ٢٨

“เพื่อให้พวกเขาได้ประจักษ์ถึงผลประโยชน์ต่างๆ อันจะเกิดแก่พวกเขาเอง” (อัล-ฮัจญ์ 28)

โดยนัยนี้ มุสลิมจึงสามารถแสวงหาประโยชน์จากกิจการของฮัจญ์ได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งในส่วนของมัสยิดบ้านเหนือใช้ประโยชน์จากการทำฮัจญ์ใน 3 มิติ คือ

  1. มิติของการขัดเกลาจิตใจ โดยการจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฮัจญ์ แก่ผู้ที่จะไปประกอบพิธีในแต่ละปี
  2. มิติของการสร้างสังคมญะมาอะฮฺ โดยการจัดกระบวนเพื่อให้ชาวชุมชนรวมตัวกันในการไปทำฮัจญ์
  3. มิติทางเศรษฐกิจโดยการจัดตั้งกองทุนฮัจญ์มัสยิดบ้านเหนือขึ้นเมื่อปี คริสต์ศักราช 2015 โดย เชิญชวนสัปปุรุษเก็บออมเงินแบบสะสมกับกองทุนฯ ตามกำลังความสามารถ คือ เก็บสะสม 3 ระดับ 1,000 บาทต่อเดือน หรือ 2,000 บาทต่อเดือน หรือ 3,000 บาทต่อเดือน โดยกองทุนฯกำหนดนำสมาชิกกองทุนฯไปทำฮัจญ์ 4 ปีต่อครั้ง

ผลจากการปฏิบัติ คือ นอกจากชาวชุมชนจะได้ไปทำฮัจญ์ทุกสี่ปีแล้ว ยังช่วยให้เกิดการไหลสะพัดของเงินในชุมชนมากขึ้นอีกด้วย ก่อเกิดผลเชิงบวกทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจต่อชุมชนเป็นอย่างดี

เป็นดังนี้ แผ่นดินที่มุสลิมสามารถดำรงอัตลักษณ์ทางศาสนาได้ผ่านการใช้รุกุนอิสลามทั้ง 5 โดยมีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง แม้จะเป็นชนกลุ่มน้อยแต่คงไม่สามารถนับแผ่นดินนั้นว่าเป็นแผ่นดิน “ดินแดนฮัรบี” ได้ เนื่องจากมุสลิมสามารถสนองตอบเจตนารมณ์แห่งการสร้างขององค์พระผู้เป็นเจ้าผ่านการอิบาดะฮฺพื้นฐาน   ทั้ง 5 ประการได้อย่างครบถ้วน หน้าที่ของมุสลิมในแผ่นดินเช่นนี้ต้องเป็นการช่วยรังสรรค์สันติภาพแก่สังคมที่ตนอยู่อาศัย เพื่อคงไว้ซึ่งบรรยากาศแห่งมิตรภาพ และความสงบร่มเย็นอันจะช่วยทำให้อิสลามแผ่ขยายอย่างมั่นคงได้ ตามนัยแห่งโองการจากอัลลอฮฺ ซูรอฮฺ อัล-อันฟาล อายะฮฺที่ 61

وَإِن جَنَحُواْ لِلسَّلۡمِ فَٱجۡنَحۡ لَهَا وَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِۚ إِنَّهُۥ هُوَ ٱلسَّمِيعُ ٱلۡعَلِيمُ ٦١

“แม้นหากพวกเขาโน้มเอียงไปสู่สันติภาพ ก็จงโน้มตามเถิด และจงมอบหมายความเป็นไปต่ออัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ทรงได้ยินและทรงรอบรู้ยิ่ง”

 1,349 total views,  2 views today

You may have missed