Cahaya รายงาน…
(8กย.62)ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีบีลลี่นักเคลื่อนไหวตัวแทนชาวเกรียงกลับต้องถูกบังคับให้สูญหายด้วยการอุ้มฆ่าเผาในถังแดงและกรณีอับดุลเลาะอีซอมูซอเสียชีวิตในระหว่างควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารเข้าศูนย์ซักถามหน่วยเฉพาะกิจ43ค่ายอิงคยุทธบริหารกนองจิกปัตตานีจึงถูกสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถูกสื่อหยิบยกนำเสนอข่าวไปทั่วโลก
ล่าสุดพตอ.ทวี สอดส่องเลขาธิการพรรคประชาชาติได้โพสต์ในเฟสส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าาว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … แล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.2559 ตามเรื่องเสร็จที่ 1543/2559 แต่ สนช ไม่นำร่างกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาให้แล้วเสร็จ แต่กลับพิจารณากฎหมายอื่นเสร็จมากกว่า 400 ฉบับ จึงเป็นบทพิสูจน์ว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย กฎหมายย่อมรับใช้ชนชั้นนั้น”
กรณีเหตุการณ์คดีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในสังคม ที่ปรากฏข่าวใหญ่พร้อมกันขณะนี้ คือ
1. กรณีนายพอละจี หรือบิลลี่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมในระหว่างฺนำน้ำผึ้งออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 17 เม.ย.57 โดยเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวอ้างว่าได้ปล่อยตัวนายพอละจี พร้อมรถจักรยานยนต์และน้ำผึ้งของกลางไปโดยไม่ได้ดำเนินคดี แต่น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายพอละจี และญาติ เชื่อว่านายพอละจี หายสาบสูญไปโดยถูกบังคับ
ต้องชื่นชมกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่สามารถค้นหาความจริงจนตรวจพบชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ถัง เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน จากนั้น ได้ตรวจพิสูจน์พบว่า “วัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส”
ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจี เมื่อพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานในสำนวนอื่นประกอบ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงเชื่อว่า วัตถุดังกล่าวเป็นกระดูกของ “นายพอละจี รักจงเจริญ ที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี”
2. กรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 32 ปี ชาวจังหวัดปัตตานี ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ซึ่งถูกซัดทอดและถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวเข้าสอบปากคำ ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี และมีอาการช็อกหมดสติถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปัตตานี ซึ่งถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อ 22 กรกฎาคม และได้เสียชีวิตอย่างสงบในเวลา 04.03 น. ของวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2562
ทั้ง 2 กรณีเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่มีการเรียกร้องและผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปราม “การทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย” ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าเป็นความผิดอาญา จะมีเพียงประมวลกฎหมายอาญา มวลความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ทั้งที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีใน “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่น ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี” และลงนามใน “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ” ต่อสหประชาชาติแล้ว
จากการติดตามทราบว่ากระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้พยายามจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ. …และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่ 1543/2559 โดยบันทึกเหตุผล ประกอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ว่า
เหตุผล โดยที่การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงซึ่งไม่อาจยกเว้นให้กระทำได้ไม่ว่าสถานการณ์ใด ๆ ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ จึงต้องมีบทบัญญัติที่กำหนดฐานความผิดเป็นการเฉพาะ ตลอดจนมีมาตรการป้องกันและปราบปราม มาตรการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อบทในอนุสัญญาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็น การยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้เทียบเท่าสากล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ได้นิยามคำไว้ในร่างกฎหมาย อาทิ
“การทรมาน” หมายความว่า การกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ
“การกระทำให้บุคคลสูญหาย” หมายความว่า การจับ ขัง ลักพา หรือกระทำ ด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยผู้กระทำปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือไม่ให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร หรืออยู่ที่ใด
“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับแต่งตั้ง อนุญาต การสนับสนุน หรือการยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย ให้ใช้อำนาจรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย
กฎหมายป้องกันและปราบปราม การทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย เป็นหลักประกันพื้นฐานการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นช่องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงบุคคลที่ผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ จ้าง วาน ให้กระทำมิชอบด้วยกฎหมายได้อย่างดี ในกรณีเจ้าหน้าที่รัฐทำการจับกุม คุมขัง ลักพา หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ และหลังจากนั้นแล้วได้กระทำตามอำเภอใจเพื่อลิดรอนเสรีภาพต่อร่างกายและจิตใจที่มีลักษณะปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น จนเป็นเหตุให้สิทธิตามกฎหมายของประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครอง
ในยุครัฐบาล คสช. และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. เป็นยุคที่ออกกฎหมายที่ถือว่ามากที่สุด จากเว็บไซต์ของ สนช ระบุว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ได้ประกาศว่าออกกฎหมายไปแล้วถึง 412 ฉบับ แต่เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ..ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเสร็จตั้งแต่ พ.ศ.2559 สนช. กลับพิจารณาอย่างล่าช้า ทั้งที่ปรากฏว่าในช่วงหนึ่งเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเวลาเดือนเดียว สนช. ผ่านกฎหมายไปแล้วถึง 66 ฉบับ
จึงไม่แปลกใจ เพราะ สนช เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. ที่เป็นระบอบเผด็จการ คำพังเพยที่ว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย กฎหมายย่อมรับใช้ชนชั้นนั้น” จึงเป็นอมตะความจริง เพราะร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ..เป็นกฎหมายที่ไม่ได้รับใช้ชนชั้นคสช. จึงเป็นกฎหมายที่ สนช ไม่นำมาพิจารณา หรือโยนทิ้ง โดยสถานะปัจจุบันจึงกลายเป็น “กฎหมายที่ค้างการพิจารณาในชั้นรัฐสภา”
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย:
https://drive.google.com/file/d/1wegyGirP15Qf3EZu3iQhj6We98YhuRI6/view?usp=sharing
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ
788 total views, 2 views today
More Stories
ด่วน ! INC ออกแถลงการณ์ ต่อรัฐบาล ยกเลิกใช้ พรก.ฉุกเฉิน จังหวัดชายแดนภาคใต้ หนุนพูดคุยโต๊ะเจรจาสันติภาพ (มีคลิปแถลง)
แม่ทัพภาคที่ 4 พบปะผู้บริหารทางการศึกษาเอกชน,ผู้บริหารมูลนิธิตาดีกา แดนใต้ ร่วมหารือแก้ปัญหาพื้นที่เพื่อสันติสุข เน้นย้ำ ใกล้ถึงถึงเดือนศิลอด ขอทุกฝ่ายจับมือ “รอมฎอนสันติ” ไม่เกิดเหตุรุนแรง เดือนอันประเสริฐ
กลุ่มพลังมวลชน ผู้นำศาสนา นักเรียน นักศึกษา รวมกว่า 500 คน ”รวมพลังต่อต้านความรุนแรง” ทุกรูปแบบ หน้าแฟลตตำรวจนราธิวาสจุดเกิดเหตุบอมบ์