พฤษภาคม 1, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

พสกนิกร ตื้นตันในน้ำพระทัยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยดูแลเด็กพิเศษที่มีความพิการในพื้นที่

แชร์เลย

บุหงา  รายา รายงาน…

 (2 สิงหาคม 2562) ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนราธิวาส ประชาชนในพื้นที่ร่วมพาบุตรหลานที่มีความพิการไปวัดรองเท้าสั่งตัดเพื่อฝึกเดิน ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมด้วยเหล่ากาชาด ศูนย์การศึกษาพิเศษ 3 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อน ดูแลเด็กพิเศษที่มีความพิการ พิการซ้ำซ้อน นอนติดเตียง ให้สามารถใช้ชีวิตประจำวัน และดูแลตนเองได้ เพื่อลดการอุ้มดูแลของพ่อแม่ตลอดเวลา ให้สามารถทำงานได้ เป็นเป้าประสงค์โครงการฯของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อาทิ โครงการนักกายภาพบำบัด โครงการเก้าอี้สุขใจ โครงการรองเท้าคู่แรก และโครงการรถสิริเวชยาน ซึ่งดำเนินการขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาน ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยที่ไม่สามารถไปสถานพยาบาลเพื่อรักษาตนเองได้

นายมะอีซอ บากา บิดาของเด็กชายอามิ บากา ที่ป่วยพิการซ้ำซ้อนด้านสมองและร่างกาย กล่าวถึงการดูแลบุตรภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า เก้าอี้สุขใจ เป็นอุปกรณ์ช่วยน้องอามิได้เป็นอย่างดี จากเด็กที่ต้องนอนติดเตียง ไม่สามารถชันคอและนั่ง ซ้ำยังมีรูปเท้าบิดเข้าใน จึงทำให้หมดกำลังใจคิดว่าน้องอามิคงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ตลอดชีวิต แต่เก้าอี้สุขใจทำให้น้องนั่งทรงตัวได้ แขนขาแข็งแรง รูปทรงเท้าดีขึ้น ภายหลังนั่งเก้าอี้สุขใจเป็นระยะเวลาเพียง 3 เดือน น้องอามิก็สามารถทรงตัวได้ จากนั้นจึงมีความหวังอยากให้บุตรชายเดินและช่วยเหลือตนเองในภายภาคหน้า จึงเข้าร่วมโครงการเก้าอี้สุขใจสู่รองเท้าสั่งตัดของ ศอ.บต. และเหล่ากาชาด และขณะนี้รูปเท้าของอามิดีขึ้นเกือบเป็นปกติ แม้จะยังเดินด้วยตนเองไม่ได้ เนื่องจากมีปัญหาด้านการสั่งการของสมอง แต่รู้สึกขอบคุณและตื้นตันในความห่วงใยของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มอบให้ประชาชนในพื้นที่

นางสโรทร ม่วงเกลี้ยง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงอุปกรณ์สั่งทำรองเท้าของของนายแพทย์เชิดพงศ์ หังสสูต แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่คิดค้นร่วมกับอาจารย์สถาบันเทคโนยีลาดกระบังว่า สามารถสแกนเท้าด้วยระบบ 3 มิติ ส่งไปยังโรงงานเพื่อสั่งตัด โดยกระบวนการของเทคโนโลยีสมัยใหม่และสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งเครื่องมือที่นำมาใช้วัดเท้าเพื่อทำรองเท้าแก่เด็กพิการในพื้นที่นี้จะใช้ทั้งหลักวิศวกรและวิชาแพทย์ ซึ่งสามารถช่วยดัดเท้าที่ผิดรูปของเด็กๆ พร้อมๆ กับการทำกายภาพ ซึ่งจะใช้งานได้ในที่สุด อย่างไรก็ดี สำหรับเคสของเด็กชายอามิ บากา ซึ่งเป็นผู้พิการซ้ำซ้อน สติปัญญาและร่างกายนั้น มีการพัฒนาได้ดีจากเดิมที่ต้องนอนติดเตียง ต้องใช้ผ้าเช็ดน้ำลาย 6 ผืนต่อวัน เนื่องจากสมองสั่งการได้ไม่ดีจึงทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้แขนขาหยิบจับหรือเดินได้ จึงจำเป็นต้องค่อยๆเรียนรู้ ซึ่งขณะนี้ก็สามารถนั่ง เล่น และประคองเดินได้แล้ว อย่างไรก็ดีมีเด็กหลายคนในความดูแลของ ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถพัฒนาได้และคิดว่า อนาคตจะสามารถทำงานช่วยเหลือตัวเอง โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องกังวลด้วย

สำหรับการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ได้ดูแลเด็กพิการและมอบกายอุปกรณ์ช่วยความพิการ คือ เตียงฝึกยืน เก้าอี้สุขใจ และรองเท้าสั่งตัด พร้อมเสนอโครงการจัดทำรถโมบายสิริเวชยานเคลื่อนที่เพิ่มอีก 3 คัน ให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี สงขลา และสตูล ในปีงบประมาณ 2563 นี้

/////////////////////////////

 661 total views,  2 views today

You may have missed