มีนาคม 28, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ซะกาต:สังคมสงเคราะห์ภาคประชาชนในวันอีด (ตอนที่2)

แชร์เลย

รายงานโดย:อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 

 

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10219526540134546&set=a.3589519657067&type=3&theater
สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด คณบดี คณะอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยฟาตอนี

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
อันเนื่องมาจากเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากผู้อ่านจำนวนมากและจำนวนมากเช่นกันอยากทราบเรื่องซะกาตที่เกี่ยวเรื่องเงินที่ได้รับไม่ว่าเงินเก็บ เงินเดือน เงินสะสมในรูแบบต่างๆร่วมสมัยในบ้านเราเช่นเงินกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชนทั้งศาสนา สามัญ ( http://www.aidfunds.org/home/)เงินสะสมประกันสังคมต่างๆทั้งของรัฐและเอกชน ประมาณนี้ ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้นำปัญหานี้ไปพูดคุยกับดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด คณบดี คณะอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยฟาตอนี อีกครั้ง โดยท่านได้อธิบายดังนี้

ซะกาตเงินได้หรือซะกาตเงินเก็บ
——————————————-
หลายๆ ครั้งที่เกิดเป็นคำถาม ทำไมเกษตรกรจนๆ ทำไร่ทำนา มีที่ดิน 4 – 5 ไร่ ต้องจ่ายซะกาตข้าว 5 – 10 % ทันทีที่ได้ผลผลิต
ในขณะผู้มีรายได้มหาศาลจากการทำธุรกิจขนาดใหญ่ การทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าอาคารใหญ่โต หรือเงินเดือนสูงๆ นายธนาคาร นายแพทย์ วิศวกร เจ้าของบริษัทขนส่งเดินดินเดินอากาศ เจ้าของโรงแรม หรือนายหัว เถ้าแก่ ทำรายได้จากพืชเศรษฐกิจ เจ้าของสวนยางพารา ทุเรียน ไร่ปาล์ม ชา กาแฟ ฯลฯ ก็ไม่ต้องจ่ายซะกาต นอกจากจะมีการเก็บเงินรายได้จากการขายไว้จนครบรอบปีโดยไม่นำไปหมุน
หากนำไปหมุน นำไปลงทุนต่อไป ก็ไม่ต้องจ่ายซะกาต เพราะเก็บไว้ไม่ครบรอบปี
คำถามนี้เกิดขึ้นในกระบวนการปรับใช้ข้อกฎหมาย หรือ “ตัวบท-นัศ” อันเป็น “ศาสนา” กับ “ข้อเท็จจริง” ที่นักวิชาการอิสลามมีความเห็นต่างกัน หาใช่การตั้งข้อสงสัยต่อ”ศาสนา” ไม่
เป็นปกติวิสัยในการวินิจฉัยเหมือนเช่นการปรับใช้กฎหมายในวงการตุลาการทั่วไป
ทัศนะของนักวิชาการอิสลามในการวินิจฉัยว่าจะ “เลือก” ใช้ตัวบทใดกับกรณี ก็เฉกเช่นทัศนะของนักกฎหมายในการวินิจฉัยว่าจะ “เลือก” ข้อกฎหมายใดกับกรณี
ต่อกรณีนี้ นักวิชาการอิสลามร่วมสมัยหลายๆ ท่าน จึงเห็นว่า การจ่ายซะกาตเงินได้ในลักษณะเดียวกับ “ภาษีเงินได้” ในปัจจุบัน ที่นักวิชาการเรียกว่า “มาลมุสตะฟาด” อันหมายถึง การคำนวณรายได้จริง โดยไม่คำนึงว่าจะต้องเก็บเป็นตัวเงินไว้จนครบรอบปีหรือไม่ เป็นทัศนะของซอฮาบะฮ์และนักวิชาการอิสลามทั้งในอดีตและร่วมสมัยบางส่วน น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการประยุกต์ใช้ระบบซะกาตร่วมสมัย ตลอดจนเป็นการตอบโจทย์หลักการใช้จ่ายเงินหะลาลที่ผ่านกระบวนชำระจนเป็นรายได้ที่สะอาดบริสุทธิ์ไร้สารตกค้างใดๆ
● ความหมายซะกาตเงินได้
เป็นเงินได้ใหม่ เช่น การให้ ค่าจ้าง เงินเดือนประจำ รายได้จากสินค้าและพืชผลทางการเกษตรทุกชนิด หรืออาชีพอิสระ (รวมทั้ง

● ทัศนะนักวิชาการต่อประเด็นนี้
นักวิชาการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
1) ฝ่ายศอหาบะฮ์และนักวิชาการส่วนใหญ่
2) ฝ่ายศอหาบะฮ์และนักวิชาการส่วนน้อย
ฝ่ายศอหาบะฮ์และนักวิชาการส่วนใหญ่ เช่น อบูบักร อุมัร อุษมาน อาลี อาอิชะฮ์ อับดุลลอฮ์ บินอุมัร อิบนุมัสอูด หะซัน บะศอรี อุมัร บินอับดุลอะซีซ อัซซุฮรีย์ รวมถึงมัซฮับทั้งสี่ อบูหะนีฟะฮ์ มาลิก ชาฟิอีย์ อะหมัด และอื่นๆ เห็นว่า การจ่ายซะกาตเงินได้ไม่วายิบ นอกจากต้องครบรอบปี
ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ในที่ประชุมวิชาการเกี่ยวกับซะกาตหลายๆครั้ง หรือโดยทั่วไป ต่างเห็นพ้องกับทัศนะนี้
ในขณะที่ฝ่ายศอหาบะฮ์และนักวิชาการส่วนน้อย ได้แก่ อิบนุอับบาส และมุอาวียะฮ์ และดาวูด อัซซอฮิรีย์ เห็นว่า การจ่ายซะกาตเงินได้เป็นสิ่งวายิบทันทีที่เกิดรายได้ โดยไม่รอให้ครบรอบปี
ทัศนะนี้ เป็นทัศนะของนักวิชาการปัจจุบันบางส่วน เช่น ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี และชัยค์ยูซุฟ กอรฏอวีย์

● หลักฐานฝ่ายที่เห็นว่าต้องจ่ายซะกาตเงินได้เมื่อครบรอบปี
หะดีษเกี่ยวกับการคิดรอบปีซะกาต ที่นักวิชาการผู้ใหญ่ทุกยุคสมัยยอมรับว่าถูกต้องและปฏิบัติมาตลอด
● หลักฐานฝ่ายที่เห็นว่าต้องจ่ายซะกาตเงินได้
1) อัลกุรอานและหะดีษที่บัญญัติให้จ่ายซะกาตโดยทั่วไป
2) หะดีษเกี่ยวกับการคิดรอบปีซะกาต แม้ว่าจะมีจำนวนมาก แต่ทั้งหมดเป็นหะดีษอ่อน ไม่อาจใช้อ้างอิงได้
3) ศอหาบะฮ์ขัดแย้งกัน จึงควรเลือกใช้ทัศนะที่มีรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพการณ์มากที่สุด
4) การเห็นว่าซะกาตเงินได้ไม่วาญิบ หมายถึง การไม่คิดรอบปีและเก็บซะกาตโดยทันทีจากผู้มีรายได้ จากการทำการเกษตร การเพาะปลูกเล็กๆน้อยๆ แต่ไม่เก็บซะกาตในลักษณะดังกล่าวจากผู้มีรายได้มหาศาล จากการทำธุรกิจขนาดใหญ่ การให้เช่าอาคารใหญ่โต หรือเงินเดือนสูงๆ นายแพทย์ วิศวกร เจ้าของบริษัทขนส่งเดินดินเดินอากาศ เจ้าของโรงแรม หรืออื่นๆ ไม่สอดคล้องกับความยุติธรรมและเหตุผลของอิสลาม
5) กียาสกับซะกาตพืชผลทางการเกษตร
● วิธีการจ่ายซะกาตเงินได้ตามทัศนะของฝ่ายที่เห็นด้วย
1) ให้จ่ายเงินได้แต่ละระยะ หรือแต่ละเดือน โดยมีเงื่อนไขว่ารายได้ดังกล่าวต้องมีจำนวนเท่ากับพิกัดนิศอบพืชผลทางการเกษตร
2) ปริมาณการจ่าย ใช้ปริมาณร้อยละ 5 หรือร้อยละ 10 ตามลักษณะของซะกาตรายได้จากการเกษตร
3) ไม่มีการหักหนี้ก่อนจ่ายซะกาต เช่นเดียวกับพืชผลทางการเกษตร
สำหรับเงินสะสมในรูแบบต่างๆร่วมสมัยในบ้านเราเช่นเงินกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชนทั้งศาสนา สามัญโดยหวังว่าจะได้รับเมื่อครบกำหนด หากครบเงื่อนไขต้องจ่ายก็เปรียบเสมือนคนติดหนี้เราและหวังว่าจะได้แน่นอนซึ่งตามมัซฮับชาฟิอีย์ต้องจ่ายทุกปีหรือตามมัซฮับอื่นจ่ายเมื่อได้รับเงินแล้ว
● หมายเหตุ
1.อ่านเรื่องนี้ตอนที่1ได้ใน http://spmcnews.com/?p=16546&fbclid=IwAR2DdNW49BeUymC9YMFs6oe5sOaY9UNm6AB0VTKDirMJ6Jys0KzLW70IVxs
2.เรียบเรียงสาระและหลักคิดจาก “ฟิกฮ์ซะกาต” ศาสตร์ว่าด้วยซะกาต ของ ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์

 824 total views,  6 views today