พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

รายงานพิเศษ/ปัตตานีผุดไอเดีย “บัยตุลมาล”กองทุนช่วยเหลือภาคประชาชน (การจ่ายซะกาตทรัพย์สิน)

แชร์เลย

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

รายงานโดย:อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)  // รพี มามะ บรรณาธิการข่าว//


1 มิถุนายน 2562 ผู้เขียนได้ร่วมเสวนาทางวิชาการ เรื่องการจ่ายซะกาตทรัพย์สิน ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี โดยผู้ร่วมเสวนา ประมาณ 50 คน จากตัวแทนผู้นำศาสนาอิสลา แกนนำนักธุรกิจ สตรี เยาวชน และนักการเมืองท้องถิ่น จึงขอสรุปการเสวนาดังนี้
1. ซะกาตทรัพย์สินมีค่ามากว่าที่เราคิดแต่อยู่ที่การจัดการ
บาบอชาฮาบุดดีน วาหลงกรรมการอิสลามฝ่ายวิชาการ ให้ทัศนะว่า “ซะกาตทรัพย์สินมีค่ามากว่าที่เราคิดแต่อยู่ที่การจัดการ กล่าวคือ ซะกาตทรัพย์สิน ภาษาอาหรับ เรียกว่า “ซะกาตมาล” เป็นซะกาตที่มีการกำหนดเวลา และมีเงื่อนไขของจำนวน เก็บเฉพาะมุสลิมที่มีทรัพย์สินถึงจำนวนที่กำหนด ถ้ามีต่ำกว่า ไม่ต้องจ่ายซะกาต ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาต มีดังนี้

1. โลหะเงินและทองคำ เงินสด เงินในบัญชี หุ้น สินค้า หากมีมูลค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก 85 กรัม หรือประมาณ 5.66 บาท (ทองคำ 1 บาท หนัก 15 กรัม) เมื่อครบรอบปีต้องจ่ายซะกาต 2.5% จากทรัพย์สินเหล่านี้
2. เครื่องประดับที่ถูกนำมาใช้ประดับ

3. ผลผลิตจากการเกษตร

4. ปศุสัตว์ เช่น แพะ แกะ วัว ควาย อูฐ เป็นต้น

5. ขุมทรัพย์ที่พบได้ในแผ่นดิน (สินแร่และทรัพย์ที่ถูกฝังดินไว้)
ในขณะผู้มีสิทธิในซะกาตมีด้วย 8 ประเภท ได้แก่

1.คนยากไร้ (ฟากีร) ได้แก่ คนที่ไม่มีทรัพย์ ไม่มีค่าเลี้ยงชีพ หรือมีแต่ไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ คนประเภทนี้สามารถรับซะกาตได้ตลอดปี

2.คนขัดสน (มิสกีน) ได้แก่ คนที่มีค่าเลี้ยงชีพในแต่ละวันครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า แต่ไม่เพียงพอ คนประเภทนี้จะมีฐานะดีกว่าคนยากไร้ และสามารถรับซะกาตได้ตลอดปีเช่นกัน

3.เจ้าหน้าที่ซะกาต ได้แก่ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมซะกาต และแจกจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาต บุคคลประเภทนี้รับซะกาตได้เพียงอัตราค่าจ้างของเขาเท่านั้น

4.ผู้ถูกดลใจให้เข้ารับอิสลาม บุคคลประเภทนี้มี 2 จำพวก
-จำพวกแรก ผู้ที่ยังไม่ใช่มุสลิม คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้ในกรณีที่เพื่อให้เขาเข้ารับอิสลาม หรือให้เพื่อยับยั้งป้องกันภัยในสังคมมุสลิมอันเกิดจากน้ำมือของเขา
-จำพวกที่สอง ผู้ที่เข้าอิสลามแล้ว คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาเพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวเขาให้ยืนหยัดในอิสลามได้อย่างมั่นคง หรือหวังในการเข้ารับอิสลามของคนใกล้ชิดและพวกพ้องของเขาเป็นต้น

5.ผู้ไร้อิสรภาพ ได้แก่ ทาสที่นายอนุมัติให้ไถ่ตัวเองได้ ทาสประเภทนี้สามารถมอบซะกาตให้เขาได้เพื่อให้เขาเป็นอิสรภาพ ซึ่งเขาสามารถรับซะกาตได้เพียงจำนวนทรัพย์ที่ขาดในการไถ่ตัวเองเท่านั้น และได้มีนักวิชาการบางกลุ่มให้ทัศนะว่าสามารถใช้ทรัพย์ซะกาตซื้อตัวทาสผู้นั้นเพื่อการปลดปล่อยได้เช่นกัน

6.คนมีหนี้สิน มี 2 ลักษณะด้วยกัน คือ
-ผู้เป็นหนี้สินของตัวเอง ได้แก่ ผู้ที่หยิบยืมทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อกิจการส่วนตัวของเขา และไม่มีลู่ทางที่จะใช้หนี้สินนั้นได้ คนลักษณะนี้สามารถรับซะกาตได้เพื่อใช้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น
-ผู้เป็นหนี้สินให้ผู้อื่น ได้แก่ บุคคลที่กู้ยืมเพื่อขจัดปัญหาในสังคม คนลักษณะนี้สามารถรับซะกาตได้เพื่อใช้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น ถึงแม้ว่าเขาจะมีฐานะร่ำรวยก็ตาม

7.ในวิถีทางของอัลลอฮ์ หมายถึง การรบในหนทางของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เท่านั้นแต่นักปราชญ์รุ่นหลังได้ขยายความว่าสามารถจ่ายซะกาตแก่ผู้ที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อเป้าประสงค์ในแนวทางของอิสลาม ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูจากคลังของอิสลาม (บัยตุลมาล)

8.คนเดินทาง ได้แก่ ผู้ที่เดินทางออกจากถิ่นเดิมของเขา และขาดปัจจัยในการเดินทางจนไม่สามารถกลับภูมิลำเนาเดิมได้ ดังนั้นคนประเภทนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้เพียงจำนวนที่ใช้เป็นปัจจัยเดินทางกลับภูมิลำเนาเท่านั้น

จาก 8 จำพวกนี้ การจ่ายซะกาตที่ดีที่สุด คือการจ่าย ผ่านเจ้าหน้าที่ของกองทุนซะกาตภายใต้องค์กรการจัดเก็บซะกาต เพราะ สามารถนำทรัพย์ที่เบี้ยหัวแตกมาให้แต่ละคนตามใจชอบมาบริหารจัดการ ในการมอบให้ใคร อย่างไร และต่อยอดเพื่อให้คนที่รับในปีนี้ต่อไปอาจเป็นผู้ให้ก็เป็นได้ ดังนั้นการที่สำนักกรรมการอิสลามมีแนวคิดจัดตั้งกองทุนซะกาตที่อยู่ภายใต้ บัยตุลมาลน่าจะสามารถช่วยเหลือภาคปะชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
2. รูปแบบการบริหารกองทุนและข้อเสนอแนะ
บาบอฆอซาลี อะห์มัด กรรมการอิสลามฝ่ายวิชาการได้อธิบาย“บัยตุลมาล”กองทุนช่วยเหลือภาคปะชาชน
คำว่า บัยตุลมาล (بَيْتُ الْمَالِ) อ่านว่า บัยตุน – อัลมาล คำนี้เกิดจากการสันธานของคำสองคำคือคำว่า บัยตุน แปลว่าบ้าน และคำว่า อัลมาล แปลว่า ทรัพย์สิน เมื่อรวมกันแล้วคำนี้ตามหลักภาษาแปลว่า สถานที่ที่จัดเตรียมไว้เพื่อเก็บรวบรวมทรัพย์สิน ด้านศัพท์เทคนิคหรือวิชาการ หมายถึง สถานที่เก็บรักษาทรัพย์สินเพื่อ ประโยชน์แก่ ประชาชนทั่วไปในประเทศอิสลาม ซึ่งทรัพย์สินที่รวบรวมไว้นั้นได้มาจากการจัดเก็บรายได้ต่างๆ ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้เปรียบเสมือนงบประมาณแผ่นดินไม่มีผู้ถือสิทธ์ผูกขาดหากแต่เป็นผลประโยชน์ของมุสลิมในประเทศนั้นๆ ทุกคน ทั้งนี้ประมุขของประเทศจะพิจารณาความเหมาะสมของผู้มีสิทธิ เช่น ผู้ขัดสน ยากจน คนพลัดถิ่น หรือเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ หรือการทหาร เป็นต้นนั้นคือในประเทศมุสลิมที่ระบบการจัดการอิสลาม หรือซุลฎอน
บัยตุลมาล ได้ถูกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยท่านนบีมุฮัมมัดในรูปของกองทุนเพื่อสาธารณะประโยชน์ ในระหว่างสมัยของเคาะลีฟะฮุอบูบักรุได้มีการซื้อบ้านไว้หลังหนึ่งเพื่อวัตถุประสงค์นี้ ในระหว่างสมัยของเคาะลีฟะฮุอุมัรุ บัยตุลมาลมีทรัพย์สินเพิ่มมาขึ้น เคาะลีฟะฮุอุมัรุจัดระบบกองคลังโดยอาศัยความยุติธรรมและความมั่นคงเป็นพื้นฐาน เจ้าหน้าที่บัยตุลมาลจะถูกเรียกว่า ซอฮิบุล บัยตุลมาล และในแต่หัวเมืองจะมีเจ้าหน้าที่บัยตุลมาลประจำอยู่ ในมะดีนะฮุมีกองคลังกลางเป็นผู้ดูแลรักษาบัญชีรายได้
สำหรับการปรับให้เท่าทันกับยุคสมัย และบริบทแต่ละประเทศ อันเนื่องมาจากประเทศไทยไม่สามารถทำได้โดยวิธีดังกล่าว ซึ่งสามารถปรับรูปแบบผ่าน สำนักงานกรรมการอิสลามซึ่งมีพรบ.รองรับและประธานคณะกรรมการอิสลามถือว่าเป็นกอฎชัรอี รับมอบอำนาจจากจุฬาราชมนตรีอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอนุโลมให้สามารถปรับรูปแบบการเก็บรายได้ต่างๆด้านศาสนา เช่นซะกาต มาบริหารจัดการภายใต้ บัยตุลมาล
สำหรับซะกาต จะเป็นรายได้หลักมาบริหารจัดการภายใต้ บัยตุลมาลนี้ ซึ่งคณะทำงานของ บัยตุลมาลนี้ อาจจะมาจาก นักวิชาการศาสนา ตัวแทนผู้นำศาสนาและชุมชน แต่ละพื้นที่ ตัวแทนนักวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลังและทุกภาคส่วนซึ่งในโครงสร้างอาจมีการแบ่งหน้าทีเป็นหัวหน้า (จะเรียกอะไรก็แล้วแต่) รอง เลขานุการ ฝ่ายต่างๆที่จำเป็น
บาบอหะยีมะมูน หะยีดาวุด กรรมการอิสลามฝ่ายวิชาการให้ทัศนะว่า การจัดเก็บซะกาตต่างๆให้อยู่ภายใต้ บัยตุลมาลจะสอดคล้องกับทัศนะนักวิชาการศาสนาร่วมสมัยโลกมุสลิมและจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมที่เป็นภาคประชาชนมากๆโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณรัฐหรืองค์กรต่างประเทศ(อย่างน้อยลด)เพราะมันสามารถยืนด้วยลำแข็งตนเอง
ในช่วงเปิดแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า เรื่องนี้ควรเป็นวาระเร่งด่วนให้สามารถปฏิบัติให้ได้ภายใต้กรรมการบริหารสำนักงานอิสลามจังหวัดปัตตานีชุดปัจจุบัน ในขณะที่ ท่านอุสตาซซอลาฮุดดีน หะยีอับรอรอเซ็ด เลขานุการ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จะขอนำข้อคิดเห็นของมติที่ประชุมวันนี้รวมทั้งข้อเสนอของอุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (ผู้เขียน) ปรึกษานักกฎหมายไทยเรื่องกฎระเบียบ นำคณะทำงานไปดูงานที่มาเลเซียในเรื่องการจัดการเรื่องนี้ และปรึกษาฝ่ายภาษีอากร เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี การลดหย่อนภาษีได้หรือไม่กรณีเงินบริจาคต่างๆของมุสลิม
หลังจากนั้นดร. แวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานีได้ขอบคุณและถ่ายรูปเป็นระลึกร่วมกับผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน
_____
หมายเหตุ อ่านเพิ่มเติม
ศึกษารูปแบบการจัดการ “ซะกาต” มาเลย์ เตือนรัฐอย่ามุ่งผลเฉพาะด้านความมั่นคงของผู้เขียนในhttps://www.isranews.org/south-news/academic-arena/1940-qq-sp-1432731473.html
ประมวลภาพการเสวนา
https://www.facebook.com/1245604111/posts/10219546748439741?s=1245604111&sfns=mo

 3,635 total views,  6 views today

You may have missed