มีนาคม 28, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

“สมเกียรติ์” เลขาธิการ ศอ.บต.ร่วมผลักดันพัฒนาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา นราธิวาส “อาเมซอนแห่งอาเซียน” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม

แชร์เลย

บุหงา รายา รายงาน…(รพี มามะ บรรณาธิการข่าว)

ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส  พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พบปะเจ้าหน้าที่  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาเพื่อพูดคุยหารือแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อคิดเห็นเรื่องการพัฒนาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า     ฮาลา-บาลาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของพื้นที่ โดยมี นายชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ได้ดำเนินการในหลายมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ มีทั้งภาคการเกษตร การแปรรูป และภาคการท่องเที่ยว ในส่วนการท่องเที่ยวจะมีการดึงดูดค่อนข้างมากในภาคใต้ ทั้งในเชิงนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ  และการท่องเที่ยวในอีกหลายมิติ ที่นี่เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เป็นจุดที่เรียกได้ว่ามีทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ซึ่งมีเทือกเขาสันกาลาคีรีเป็นพื้นที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย  กับ ประเทศมาเลเซีย มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดที่เรียกว่าผืนป่าฮาลา-บาลา กินพื้นที่ 5 อำเภอ ตั้งแต่อำเภอ แว้ง สุคิริน จะแนะ ศรีสาคร และบางส่วนของเบตง มีป่าไม้หลากหลายพันธุ์ที่พื้นที่อื่นไม่มี มีสัตว์ปีก มีนกเงือกที่หาได้เฉพาะที่นี่ ถือว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง สามารถเรียกได้ว่า เป็นอเมซอนแห่งอาเซียน ทั้งนี้ ศอ.บต. อยากสร้าง    การรับรู้ให้พี่น้องประชาชนได้มาเยือนมาเที่ยวในขณะเดียวกันต้องรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้มีความสมบูรณ์ที่สุด  โดย ศอ.บต. จะเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพัฒนาผลักดันให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  เชิงธรรมชาติเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ป่าฮาลา-บาลา เป็นป่าดงดิบชื้น หรือป่าฝนเขตร้อน ตั้งอยู่บริเวณตอนใต้สุดของประเทศไทย     มีแนวป่าต่อเนื่องกับป่าเบอลุม (Belum) รัฐเปรัค ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย มีพรรณไม้พิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เรียกว่าพรรณไม้แบบ “เรดเมอแรนตี “ หรือพรรณไม้แบบมาเลเซีย เช่น สยาเหลือง สยาแดง สยาขาว หมากอ่อน ตะเคียนชันตาแมว จากเขา และปาล์มบังสูรย์ เป็นต้น มีสัตว์ป่าที่หายากหลายชนิด เช่น กระซู่ สมเสร็จ กระทิง เสือโคร่ง เลียงผา ช้างป่า ลิงกัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางตัดผ่านผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งสามารถพบเจอนกเงือก ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่สามารถพบเห็นตามเส้นทางบ่อยครั้ง เป็นเส้นทางสำหรับให้          นักอนุรักษ์และนักดูนกทั่วทุกสารทิศสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้อีกด้วย

/////////////////////////////////////////////////////

 912 total views,  2 views today