เมษายน 27, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

นักเรียน นักศึกษาจังหวัดยะลา บรรจงลวดลายบนผ้าพื้นถิ่น ฝึกอาชีพเสริมรายได้ช่วงเรียนและปิดเทอม พร้อมส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยการแต่งกายด้วยผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดยะลา

แชร์เลย

นางลิปิการ์ กำลังชัย วัฒนธรรมจังหวัดยะลา เผยว่า ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มองเห็นและแตะต้องได้ ทางสายตาและด้วยร่างกาย สร้างความรู้สึกที่ดีและไม่ดีกับผู้ที่พบเห็นในสิ่งนั้น เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดยะลา วัฒนธรรมจังหวัดยะลาจึงจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาผ้าพื้นถิ่นจังหวัดยะลา ให้กับนักเรียน นักศึกษา ให้มีความรู้ด้านการออกแบบผ้าและได้สืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาผ้าพื้นถิ่นยะลา และเป็นการสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้นักศึกษาในช่วงเรียนหนังสือและช่วงปิดเทอม อีกด้วย

โดยได้จัดการอบรมถ่ายทอดภูมิปัญญาผ้าพื้นถิ่นยะลาขึ้น ระหว่างวันที่ 2 – 4 สิงหาคม 2561 ที่วิทยาลัยสารพัดช่างยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งได้รับเกียรติจากนายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้

“ผ้าปาละงิง ผ้าบาติก ผ้าสีมายา เป็นผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดยะลา ล้วนมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และมีขั้นตอนกระบวนการผลิต ที่ต้องใช้ความชำนาญ ความละเอียด ใช้เวลาในการทำค่อนข้างมาก ผู้เข้าอบรมจะต้องมีความตั้งใจ มีความชำนาญ และมีทักษะมากพอสมควร หวังว่าหลังรับการอบรมดังกล่าวผู้รับการอบรม จะมีทักษะและความชำนาญในการผลิตผ้าพื้นถิ่นยะลา ไปพัฒนาต่อยอดให้เป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดยะลา พร้อมกันช่วยส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยการแต่งกายด้วยผ้าผ้าพื้นถิ่นยะลา ด้วยความภาคภูมใจ” ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าว

นอกจากนี้ ได้แบ่งกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมเป็น 3 กลุ่มย่อย กลุ่มผ้าศรียะลา กลุ่มผ้าสีมายา และกลุ่มผ้าเก๋ยะลา ซึ่งจะปฏิบัติและผลิตผ้าตามขั้นตอนที่ได้รับความรู้มา โดยมีตัวแทนแต่ละกลุ่มเป็นพี่เลี้ยงให้

“ชอบการผลิตผ้าสีมายา โดยการทำเหมือนผ้ามัดย้อมทั่วไป สำหรับผ้าสีมายานั้นจะเริ่มจากการที่เราไปเอาดินมายามาต้มกับน้ำเดือด ซึ่งดินมายามีความพิเศษคือ เป็นดินที่ผสมกับ ขี้ค้างคาวที่ทับถมกันมาเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปี และมีอยู่ที่เดียวในจังหวัดยะลา คือ ที่บ้านหน้าถ้ำ จ.ยะลา และสีที่ได้จากดินมายานั้นเป็นสีส้มคล้ายๆ สีอิฐ ซึ่งเป็นสีธรรมชาติ และมีความคงทน ซึ่งถือเป็นสิ่งล้ำค่า และความภาคภูมิใจของชาวบ้าน ต.หน้าถ้ำ ที่มีผลิตภัณฑ์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ และพร้อมทำเป็นอาชีพเสริมและพัฒนาลวดลายบนผ้าสีมายาต่อไปในอนาคต” ผู้เข้าอบรมกล่าว


——————————–

นิแอ สามะอาลี ส.ปชส.ยะลา / SPMCnews ยะลา

 909 total views,  2 views today

You may have missed