เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

แก้วิกฤติ!! ชาวตากใบยึดอาชีพทำปลาฉิ้งฉ้างตากแห้งส่งขายมาเลย์ รายได้งาม

แชร์เลย

นางมาสือนะ บินยูโซ๊ะ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 102 บ้านกูแบยู ม.10 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ใช้พื้นที่ว่างตรงข้ามบ้านพัก จำนวน 2 ไร่ ปลูกเป็นโรงเรือนสำหรับใช้เป็นพื้นที่ทำปลาฉิ้งฉ้าง หรือ ปลาฉิ้งฉั้ง ตากแห้งส่งขายในพื้นที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยได้ยึดอาชีพนี้สืบทอดมาเป็นเวลานานกว่า 80 ปี จากรุ่นย่าสู่รุ่นหลาน ซึ่งปลาฉิ้งฉ้าง หรือ ฉิ้งฉั้ง นางมาสือนะ ได้รับซื้อจากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำการประมงชายฝั่งในเขตทะเล อ.ตากใบ ซึ่งเป็นปลาฉิ้งฉ้าง หรือ ฉิ้งฉั้ง ตัวสีขาว ที่อาศัยอยู่เฉพาะถิ่น ในราคากิโลกรัมละ 30 บาท แล้วนำไปแปรรูปเป็นปลาตากแห้ง ส่งขายไปให้ลูกค้าในประเทศมาเลเซีย ตกกิโลกรัมละ 230 บาท ซึ่งการทำปลาฉิ้งฉ้าง หรือ ฉิ้งฉั้ง นี้จะทำได้ในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี

ส่วนการแปรรูปปลาฉิ้งฉ้าง หรือ ฉิ้งฉั้ง ตากแห้งนี้มีกระบวนการที่ไม่ยุ่งยาก คือ เมื่อรับซื้อปลาจากชาวบ้านแล้ว ต้องนำปลาไปล้างกับน้ำให้สะอาด แล้วนำปลาไปต้มในกระทะที่น้ำเดือดจัด ประมาณ 5 นาที เมื่อปลาสุกแล้วนำปลาไปเทกระจายในตะแกรงเหล็กสี่เหลี่ยมที่เตรียมไว้ ก่อนจะนำออกไปตากแดด ซึ่งการตากแดดนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากอากาศร้อนจัดปลาก็จะแห้งในเวลา 1 วัน หากวันใดอากาศไม่เอื้ออำนวยหรือมีเมฆฝนปกคลุมท้องฟ้า การตากปลาก็จะใช้เวลานานถึง 2 วัน ซึ่งกระบวนการแปรรูปนี้จะใช้แรงงานคนช่วยกันถึง 4 คน

ส่วนขั้นตอนสุดท้ายก่อนบรรจุถุงพลาสติกใสเพื่อนำไปจำหน่าย ซึ่งมีน้ำหนักถุงละ 10 กิโลกรัมนั้น เมื่อเราได้ปลาฉิ้งฉ้าง หรือ ฉิ้งฉั้ง ที่ตากแห้งเป็นที่เรียบร้อย ก็ถึงกระบวนการใช้มือเด็ดหัวปลาที่ตากแห้งบรรจุใส่ถุง ประการสำคัญหัวปลาที่ถูกเด็ดแล้ว สามารถนำไปจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 14 บาท ซึ่งหัวปลานี้จะมีชาวบ้านที่มีอาชีพปลูกผักนานาชนิดขาย มารับซื้อถึงบ้านโดยจะนำหัวปลาไปหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อนำไปรดผักที่ปลูกจะโตเร็วและสีเขียวเข้มน่ารับประทาน

นอกจากนี้นางมาสือนะ ยังเปิดเผยถึงการส่งปลาฉิ้งฉ้าง หรือ ฉิ้งฉั้ง ส่งขายในพื้นที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ว่า การส่งขายปลาฉิ้งฉ้าง หรือ ฉิ้งฉั้ง ที่ตากแห้งนี้ จะนำขึ้นรถกระบะไปส่งให้ลูกค้าชาวมาเลเซีย โดยผ่านพรมแดน อ.ตากใบสัปดาห์ละ 2 เที่ยวๆละ 40 ถุง หรือ 400 ก.ก.ตกกิโลกรัมละ 230 บาท ก็จะได้เงินในแต่ละเที่ยว 92,000 บาท ซึ่งถือว่ามีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านและชาวประมงมีงานทำได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากเมื่อหมดฤดูทำปลาฉิ้งฉ้าง หรือ ฉิ้งฉั้ง ตากแห้ง นางมาสือนะ ก็จะรับซื้อปลาทะเลชนิดต่างๆจากชาวประมง เพื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาเค็มตากแห้ง ส่งขายให้กับลูกค้าชาวมาเลเซีย ซึ่งเป็นวัฎจักรการทำธุรกิจแปรรูปปลาตลอดทั้งปี

อัสอารี สะมะแอ  รายงาน

 897 total views,  2 views today

You may have missed