(27 เม.ย.61) บรรยากาศตลาดค้าส่งทุเรียน ที่บริเวณด่านพรมแดน อ.เบตง จ.ยะลา ติดกับ กิ่งอำเภอเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย คึกคักมากเป็นพิเศษ เนื่องจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ต่างมีความต้องการซื้อทุเรียนในประเทศไทย หลังปีนี้ผลผลิตออกมาน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฝนตกต่อเนื่องในช่วงออกผลผลิต แม้จะไม่ถึงในช่วงทุเรียนพื้นบ้านของ อ.เบตง ออกผลผลิตก็ตาม แต่ทางพ่อค้าแม่ค้ามีความต้องการทุเรียนพันธุ์พวงมณีและชะนี รวมถึงทุเรียนพื้นบ้านของ อ.เบตง และผลไม้ชนิดอื่นๆ ซึ่งนักบริโภคทุเรียนชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ต่างชื่นชอบรสชาติของผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์พวงมณี ชะนี และทุเรียนพื้นบ้านของ อ.เบตง ซึ่งมีรสชาติคล้ายกันแต่ของไทยจะมีรสชาติดีกว่า จึงกลายเป็นผลไม้ที่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ให้ความนิยมชื่นชอบเป็นอย่างมาก
นายอับดุลเลาะ พ่อค้าขายส่งทุเรียน กล่าวว่า ทุเรียนนอกฤดูส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดต่างประเทศ ราคาซื้อในช่วงนี้จะค่อนข้างแพง ถ้าราคาถูกจะเป็นทุเรียนประเภทตกไซส์ คือ ทุเรียนที่มีรูปร่างไม่สวย แต่เนื้อข้างในเหมือนกัน แต่ถ้าต้องการทุเรียนคุณภาพดีจะแข่งขันกันที่ราคา พ่อค้าแม่ค้าจำเป็นต้องซื้อของด้วยต้นทุนที่สูง แต่ถ้าสู้ราคาไม่ได้ก็ต้องซื้อทุเรียนประเภทตกไซส์มาขายแทน โดยทุเรียนที่ขายในประเทศไทยต้องเป็นทุเรียนคุณภาพ มีเปอร์เซ็นต์สูง 90-100 เปอร์เซ็นต์ ทุเรียนต้องแก่เท่านั้นถึงจะขายได้ แต่ถ้าส่งออกแม้ว่าจะเป็นทุเรียนที่เปอร์เซ็นต์ต่ำประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถขายได้ เพราะผู้บริโภคต่างประเทศนิยมบริโภคทุเรียนอ่อนกรอบๆ ปัจจุบันทุเรียนที่ขายตามท้องตลาดโดยเฉพาะตลาดค้าส่งจะหาได้เฉพาะทุเรียน 80-90 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
จากการที่ผลผลิตทุเรียนในปีนี้ค่อนข้างน้อย ปัจจัยสำคัญมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ดอกทุเรียนที่ออกเป็นจำนวนมากร่วง ส่งผลให้ปีนี้ทุเรียนออกล่าช้ากว่าปีอื่นๆ คาดว่าผลผลิตจะเข้าสู่ตลาดไม่มากนัก แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม ทุเรียนจะเริ่มทยอยเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่ทุเรียนที่รับมาในขณะนี้สั่งมาจากจันทบุรี เพื่อส่งออกจะมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์พวงมณี และพันธุ์ชะนี ซึ่งราคาขายทุเรียนในช่วงนี้ ทุเรียนพันธุ์พวงมณี มี 3 เกรด คือ เกรดเบอร์ 1 ราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 120-125 บาท นำมาขายส่งออก กิโลกรัมละ 135- 140 บาท เกรดเบอร์ 2 ราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 75-80 บาทขายส่งออก กิโลกรัมละ 95-120 บาท และเกรดเบอร์ 3 ราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 40-50 บาท ขายส่งออก กิโลกรัมละ 55-60 บาท ส่วนทุเรียนพันธุ์ชะนี มี 2 เกรด คือ เกรด A รับมาจากพ่อค้าคนกลางที่ตลาดจันทบุรี เกรด A รับมา กิโลกรัมละ 50-55 ขายส่ง กิโลกรัมละ 55-70 บาท เกรด B ราคาขายส่งจากพ่อค้าคนกลาง กิโลกรัมละ 35-40บาท ขายส่ง กิโลกรัมละ 55-60 บาท ซึ่งผู้บริโภคชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ จะเลือกซื้อทุเรียนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 4 กิโลกรัม เนื่องจากจะมีรสชาติกำลังพอดีไม่หวานจนเกินไปและเนื้อทุเรียนจะอ่อนกรอบๆ
ส่วนทุเรียนพันธุ์เหมา ซาน หว่อง ขณะนี้ยังไม่ออกผลผลิต ซึ่งขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 400-500 บาท ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคของชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ และในช่วงเดือนกรกฏาคมผลผลิตทุเรียนพื้นบ้านของ อ.เบตง จะออกผลผลิต และทุเรียนพันธุ์เหมา ซาน หว่อง ออกผลผลิต จะมีคณะนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เหมารถตู้ รถบัสมาซื้อกินถึงสวนทุเรียนของเกษตรกรถึงสวนเลยทีเดียว ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ได้เป็นอย่างดี
ภาพ/ข่าว อดินันท์ มะลี SPMCNEWS อ.เบตง จ.ยะลา
955 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี