พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

บิ๊กป้อมลงนราฯ “พ้มไม่ได้เป็นนายก” ก่อนอนุมัติ หลักการ 5 โครงการ และ 11 โครงการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และดันเป็นเมือง Smart City

แชร์เลย

รายงานพิเศษ..

(19 กันยายน 2565)  พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ลงพื้นที่ประชุมและตรวจติดตามการขับเคลื่อนงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมติกพต. ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในการประชุม กพต.สัญจร จชต. ครั้งที่ 4/2565

โดยการประชุมในครั้งนี้จะมีการพิจารณาหลักการโครงการฟื้นฟูและบูรณปฏิสังขรณ์วัดและโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พิจารณาหลักการส่งเสริมอัตลักษณ์ทางภาษา ประเพณี วัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ พิจารณาหลักการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พิจารณาหลักการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ พร้อมทบทวนมติการสนับสนุนสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกันนี้มีการติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญที่ ศอ.บต. นำเสนอ และ กพต.มีการอนุมัติไปแล้ว อาทิ โครงการเสริมสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนา เพื่อสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามฯ กิจกรรมมหกรรมการอ่านแห่งชาติ การแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 4 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดวสงขลา กิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและประวัติศาสตร์อุโมงค์ใหญ่ ต้าสวุ่ยต้อ อ.เบตง จ.ยะลา การพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซีย โครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการพลังงานไฟฟ้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ฯลฯ

ศอ.บต. เสนอที่ประชุมพิจารณาอนุมัติในหลักการ ประกอบด้วย กิจกรรมฟื้นฟูและบูรณปฏิสังขรณ์วัดและโบราณสถานฯ จะมีการดำเนินงานฟื้นฟูวัดที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปและวัดที่ชำรุดทรุดโทรม อยู่ในพื้นที่โดดเดี่ยวห่างไกล เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ด้านกิจกรรมส่งเสริมอัตลักษณ์ทางภาษา ประเพณี วัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมพหุวัฒนธรรม ศอ.บต.มีการนำเสนอการดำเนินงาน 2 ด้าน คือ ด้านภาษา ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ภาษานานาชาติจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อาหรับ จีน มลายู อังกฤษ และภาษาตุรเคีย เพื่อรองรับการประกอบอาชีพในอนาคต และด้านประเพณีและวัฒนธรรม ประกอบด้วย ส่งเสริมอัตลักษณ์การแต่งกายชุดประจำถิ่นให้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมจัดทำปฏิทินประเพณีและวัฒนธรรมประจำปี

สำหรับข้อเสนอการดำเนินงานกิจกรรมการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ศอ.บต.มีการจัดเวทีประชาคมในระดับอำเภอและจังหวัด ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนเสนอการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ตามความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง มีการเสนอแก้ไขปัญหา จำนวน 11 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาและยกระดับท่าอากาศยานนราธิวาสเป็นสนามบินนานาชาติ โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการฟื้นฟูและป้องกันการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จังหวัดนราธิวาสอย่างเป็นระบบ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง โครงการพัฒนาประมงชายฝั่งเชิงอนุรักษ์ โครงการก่อสร้างขยายเขตระบบประปาอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี โครงการวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ โครงการปรับปรุงซ่อมแซมก่อสร้างมัสยิด โครงการพุทธธรรมนำสันติสุข โครงการเสริมสร้างศักยภาพ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เพื่อการพัฒนาจังหวัดนราธิวาส และโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส

ทั้งนี้ที่ประชุมมีการพิจารณา ทบทวนการสนับสนุนสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้พิการจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 9 ราย โดยให้กระทรวงศึกษาธิการจัดงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยารายละไม่เกิน ๔ ล้านบาท โดยให้หักลบจากเงินเยียวยาที่เคยได้รับไปแล้ว พร้อมพิจารณาสนับสนุนสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตหรือผู้พิการจากเหตุการณ์ความไม่สงบรายใหม่ 2 รายด้วย

ทั้งนี้ที่ประชุมมีการหารือ พิจารณาและให้ความเห็นชอบอนุมัติในหลักการโครงการที่ ศอ.บต. นำเสนอ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกโครงการ เร่งแก้ปัญหาทุกมิติตามความต้องการของประชาชน

 

ลุงป้อม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่ 2 จ.นราธิวาส หวังเพิ่มช่องทางการค้าการลงทุนชายแดนระหว่าง 2 ประเทศ

วันเดียวกัน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ลงพื้นที่สำรวจและติดตามการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2 ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดน ไทย-มาเลเซีย โดยมี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้รายงานความก้าวหน้าโครงการฯ ณ สะพานข้ามเขตแดนไทย มาเลเซีย ด่านศุลกากรสุไหงโกลก อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส

ทั้งนี้จากมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กพต.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ได้มีข้อสั่งการให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชาแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เร่งรัด ประสาน ผลักดันการทำงานของทุกส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ให้พัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย – มาเลเซีย ซึ่งได้มีการดำเนินการเริ่มต้นตามแผนโครงการมาอย่างยาวนาน อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดย ศอ.บต. ได้ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในการขนส่งการค้าชายแดน และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส – เมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย) เป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ IMT – GT เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอีก 1 สะพาน คู่ขนานกับสะพานเดิม เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำ โก-ลก แห่งที่1 มีความคับแคบไม่สะดวกต่อการตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศที่ในแต่ละวันมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งการออกแบบสะพานแห่งนี้ ทางฝั่งประเทศมาเลเซียจะเป็นผู้ออกแบบ และฝ่ายไทยได้สำรวจทางธรณีวิทยาเรียบร้อยแล้วและส่งให้กับทางมาเลเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความก้าวหน้า ณ ปัจจุบัน ทางรัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงโยธาธิการของประเทศมาเลเซีย เข้าพบท่านรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 นั้น และได้นำเสนอข้อมูลให้รัฐบาลมาเลเซียเพื่อเร่งรัดผลักดันต่อไปแล้ว สะพานแห่งนี้หากก่อสร้างเสร็จก็จะยกระดับการสัญจรผ่านแดนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นซึ่งปัจจุบันในห้วงวันหยุดหรือเทศกาลจะมีประชาชนเดินทางค่อนข้างแออัด คับคั่ง และเกิดความไม่สะดวกซึ่งประชาชนในพื้นที่รอคอยให้โครงการนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายปี

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปิด ระบบ NT Fee WiFI ครอบคลุมพื้นที่อาคารด่านตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวชายแดน ให้สามารถเชื่อมโยงสู่ระบบอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง

ต่อมา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รักษาการนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เปิดประธานรับมอบ WiFi เครือข่ายอินเตอร์เน็ต พร้อมพบปะประชาชนกว่า 3,000 คน ณ บริเวณหน้าด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) กล่าวว่า ในฐานะประธาน กพต. พร้อมด้วยรัฐมนตรีหลายท่าน ยินดีร่วมมือในการ ทำประโยชน์เพื่อประชาชนตามข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ ซึ่งวันนี้ มีผลงานพัฒนาที่ก้าวหน้าชัดเจน อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ ส่งเสริมการเลี้ยงวัว, การแก้ไขการว่างงานช่วงโควิด-19, การปลูกพืชอาหารสัตว์ และการบริหารจัดการไฟฟ้ายั่งยืน การพัฒนาสังคมที่สำคัญ ได้แก่ สนับสนุนอาหารให้โรงเรียนตาดีกาและโรงเรียนพระพุทธศาสนา, การแก้ไขภาวะโภชนาการต่ำในเด็กเล็ก และแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนอย่างยั่งยืน การส่งเสริมอัตลักษณ์พื้นที่ ได้แก่ จัดตั้งสถาบันภาษานานาชาติ 6 ภาษาและปฏิทินประเพณี 12 เดือนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์และโรงเรียนเทคโนโลยีและนวัตกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ Sky Walk อัยเยอร์เวง, น้ำพุร้อนนากอ, อุโมงค์ปิยะมิตรแห่งที่ 2 และการแข่งขัน เบตง เทรล เป็นต้น การแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ได้แก่การบริหารจัดการน้ำ, การบริหารจัดการด่านชายแดนและแก้ไขปัญหาที่ดิน ทำกิน นำระบบเทคโนโลยีมาบริหารพื้นที่ ได้แก่ กล้องตรวจจับอัจฉริยะ เสาไฟฟ้ารองรับการคมนาคมอัจฉริยะ และติดตั้งระบบ WI-FI พื้นที่เศรษฐกิจ การพัฒนาตามความจำเป็นของพื้นที่ ได้แก่ การปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปี, พัฒนาทักษะงานบริการรองรับงานในซาอุดิอาระเบีย, ส่งเสริมผู้นำศาสนา, การยกระดับสนามบินจังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งได้มอบหมายส่วนราชการดำเนินการเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณา กพต. เร่งด่วน ได้แก่ การพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน โดยกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-ผู้นำชุมชน เป็นแกนนำ การส่งเสริมภาคประชาสังคมและประชาชน การจัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนา การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 และสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก อำเภอตากใบ การแก้ไขปัญหาแรงงานต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย การจัดตั้งอุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสทรงเจริญ พระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา ในปี 2567 และการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะทุกเรื่องเป็นความห่วงใยและปรารถนาดีของรัฐบาล ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ กพต. ดำเนินการ เพื่อประชาชนทุกภาคส่วน

ทั้งนี้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือNT เป็นหน่วยงานภาครัฐภายใต้การกำกับของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับผิดชอบด้านสื่อสารโทรคมนาคมของชาติ ได้รับนโยบายรัฐบาลเพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง โดย NT ได้ดำเนินการติดตั้งระบบ NT Free WiFi ครอบคลุมพื้นที่อาคารด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอสุไหงโก-ลก ให้สามารถเชื่อมโยงสู่ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านระบบ NT Free Wifi เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับแพลตฟอร์มระบบ NT Free WiFi นี้รองรับทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน สามารถอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ที่เดินทางผ่าน ด่านตรวจคนเข้าเมืองแห่งนี้นอกจากนี้ NT ยังได้ดำเนินการติดตั้งระบบ NT Free WiFi ตามสถานที่ต่างๆ เช่นสนามบินนานาชาติ ท่าเรือ ด่านตรวจคนเข้าเมือง และสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
อย่างไรก็ตามศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดนราธิวาส บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT ยังมีเป้าหมายที่จะนําเนินการให้เมืองสุไหงโก-ลก เป็นเมือง Smart City เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) การพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

 81,737 total views,  6 views today

You may have missed