วันนี้ (15 กันยายน 2565) ที่อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำโดย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานเปิดกิจกรรมตรวจสารพันธุกรรม DNA และอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการในประเทศ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 2 โดยจัดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาคนด้อยโอกาสและขาดโอกาสทางสังคม แก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์หรือไร้สัญชาติ สืบเนื่องจากปัญหาการตกสำรวจของทางราชการการ ประชาชนไม่แจ้งเกิดเนื่องจากความยากจน ความเชื่อเฉพาะถิ่น การถูกทอดทิ้งและการขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการรับรองสถานะทางทะเบียนราษฎร์ ศอ.บต. เล็งเห็นถึงปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์หรือไร้สัญชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงจัดกิจกรรมพิสูจน์สารพันธุกรรม DNA ขึ้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดยเริ่มดำเนินการ ณ สถานกงสุลใหญ่ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีประชาชนคนไทยเดินทางไปทำงานในเมืองดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และเริ่มดำเนินการตรวจสารพันธุกรรม DNA ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2561 เพื่อให้ประชาชนได้รับการรับรอง มีสถานะ และเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานภายในประเทศ
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า วันนี้มีบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์หรือคนไร้สัญชาติ ร่วมกิจกรรมเพื่อขอรับการตรวจ DNA กว่า 100 คน และมีบุคคลอ้างอิงหรือเป็นคู่เทียบเพื่อยืนยันสถานะ อีกจำนวนกว่า 400 คน โดยโครงการดังกล่าวนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ชายขอบ ไปประกอบอาชีพในต่างประเทศ และไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ โดยศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการเพื่อมอบสถานะ สิทธิการเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์แก่ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตามภายในปี 2565 นี้ ได้จัดกิจกรรมไปแล้วในครั้งที่ 1 เดือนพฤษภาคม รวมเป็นจำนวนบุคคลไม่มีสถานะเข้ารับการตรวจพันธุกรรม 256 คน ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ ศอ.บต. ดำเนินโครงการ มีคนไทยไม่มีสถานะขอเข้ารับการตรวจสารพันธุกรรม กว่า 2,200 คน มีญาติพี่น้องที่เป็นคู่เทียบที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 4,000 คน บุคคลดังกล่าวใช้ชีวิตโดยไม่มีตัวตนในประเทศ ไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับการศึกษา ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย และสิทธิอื่นๆที่สมควรได้รับ บางรายอายุมากแล้วก็ไม่สามารถเข้าทำงานเนื่องจากไม่มีวุฒิการศึกษา อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ศอ.บต. ยังมีการติดตามในเรื่องการเข้าถึงสิทธิต่างๆเพื่อความเป็นธรรม อาทิ เงินช่วยเหลือ ดูแลบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี การเข้าถึงการศึกษา และอื่นๆ
ด้านนายนิแม เจะอาลี ประชาชน อ.รามัน จ.ยะลา ผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ได้นำคนในครอบครัวมาตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมจำนวน 4 คน เป็นลูกหลานในครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ของทั้ง 4 คนเสียชีวิตแล้ว โดยสาเหตุที่ไม่ได้ไปแจ้งเกิด เนื่องจากทั้ง 4 คนคลอดกับหมอตำแย ที่ประเทศมาเลเซีย จึงไม่กล้าเข้าแจ้งชื่อเพิ่มเข้ามาในทะเบียนบ้าน ที่ผ่านมาก็ต้องอาศัยอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ ทั้งที่ไทยและมาเลเซีย ขอบคุณ ศอ.บต. ที่ให้ชีวิตใหม่แก่บุตรหลานคนในครอบครัว วันนี้ได้เป็นคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ดีใจและขอบคุณมากจริงๆ
ภาพ/ข่าว
อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา
12,008 total views, 6 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี