หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 42 (นพค.42) อ.เบตง จ.ยะลา เป็นอีกหนึ่งจุดที่อยากให้ทุกท่านเข้าไปท่องเที่ยว เยี่ยมชมความสวยงามของดอกไม้เมืองหนาวนานาพันธุ์ และสัมผัสบรรยากาศคาเฟ่บนต้นไม้ใหญ่ ท่ามกลางธรรมชาติ รวมถึงแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรผสมผสาน ที่เข้ากันอย่างลงตัว มาถึงเมืองเบตงแล้ว
ตามที่ท่าน ผบ.นทพ. ได้มีดำริให้ นพค.42 สนภ.4 นทพ. พิจารณาคัดเลือกจุดเด่นที่น่าสนใจของหน่วย เพื่อจัดทำโครงการ “1 นพค. 1 ฟาร์ม 1 โรงเรียน 1 ชุมชน” ภายในหน่วยขึ้น เพื่อเป็นสวัสดิการของกำลังพลของหน่วย และเป็นช่องทางการดำเนินกิจกรรมร่วมกับประชาชนในพื้นที่ในการส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักหน่วย เพิ่มการพัฒนาศักยภาพของคน ชุมชน พื้นที่ สภาพแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น สามารถดำรงอยู่ได้บนพื้นฐานของความพอเพียง ประกอบกับใช้ชีวิตร่วมกับความเปลี่ยนแปลง ของโลกสมัยใหม่ให้สอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการดำรงชีวิต โดยการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์การเรียนรู้เชิงเกษตร รวมไว้ด้วยกัน
นพค.42 จึงได้เล็งเห็นความสำคัญขององค์ความรู้ที่อยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง และเพื่อเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด ดั่งเช่น พระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น นพค.42 สนภ.4 นทพ. จึงได้จัดทำโครงการ “ ฟาร์มปลูกรักเบตง” ขึ้นมา โดยให้คำนิยามเอาไว้ว่า ฟาร์ม หมายถึง แหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปลูกรัก หมายถึง การสร้างความรักความผูกพันที่ดีต่อกัน เบตง หมายถึง สถานที่ที่รวมผู้มาเยือนให้รู้จักเมืองเบตง
ฟาร์มปลูกรักเบตง จึงหมายถึง แหล่งเรียนรู้ที่สร้างความรักความผูกพันต่อผู้มาเยือนให้จดจำเมืองเบตง นั่นเอง
นพค. 42 ได้จัดทำฟาร์มต้นแบบนี้ ในรูปแบบฟาร์มไม้ดอกไม้ประดับ ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 42 ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ บ้านจันทรัตน์ ม.6 ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งมีพื้นที่ติดกับท่าอากาศยานเมืองเบตงนั่นเอง ฟาร์มปลูกรักเบตง สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกทั้งเป็นการพัฒนาพื้นที่หน่วยเดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการจัดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรผสมผสาน เพิ่มแนวความคิดให้แก่ผู้มาเยี่ยมชม สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักกับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่42 อีกด้วย
ฟาร์มปลูกรักเบตง มีพื้นที่ 2.5 ไร่ ได้จัดสรรพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ทั้ง อาคารจำหน่ายสินค้าโอท้อป รวบรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์จากกลุ่มอาชีพในพื้นที่และผลไม้แปรรูปตามฤดูกาล นำไปวางจำหน่ายให้ผู้มาเยี่ยมชมสามารถซื้อเพื่อเป็นของฝากได้ และเป็นจุดจำหน่ายอาหารว่าง เครื่องดื่ม และกาแฟสด โดยจัดทำเป็นคาเฟ่กลางต้นไม้ใหญ่ ในชื่อ “Pluk Rak cafe” ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศที่ไม่เหมือนใคร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย มีจุดบันทึกภาพที่สวยงามและเป็นที่น่าจดจำ
โคก หนอง นา จำลอง เป็นแหล่งเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร เป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ เป็นการให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเอง โดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้นอย่างเป็นระบบ
แปลงไม้ดอกไม้ประดับ โดยปรับภูมิทัศน์เพิ่ม.เยี่ยมชมความสวยงามของพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับนานาชนิดตามฤดูกาล เช่น ต้นทองอุไร ต้นช่อม่วง ต้นกล้วยไม้ดิน ต้นกุหลาบหลากสี ต้นทองนพคุณ ต้นหลิวไต้หวัน ต้นรักแรกพบ ต้นต้อยติ่งฝรั่ง เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถเก็บภาพบรรยากาศในมุมต่างๆได้ตลอดทั้งฟาร์ม
หลังจากโครงการ “ฟาร์มปลูกรักเบตง” ได้เริ่มเปิดให้เยี่ยมชมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.2565 นั้น ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราได้รับประโยชน์ได้ทันทีคือ หน่วยมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม กำลังพลได้ใช้ประโยชน์หลากหลาย รวมถึงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน และทักษะอาชีพเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม แหล่งเรียนรู้ที่ศึกษาดูงาน และเผยแพร่งานของหน่วยให้ประชาชนในพื้นที่ตลอดจนนักท่องเที่ยว ได้รู้จักกับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 42 มากยิ่งขึ้น
ภาพ/ข่าว
อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา
20,748 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี