การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2564 เรื่องรับทราบรายงานผลการปฎิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำปีงบประมาณ 2561 นายซูการ์โน มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ยะลา เขต 2 พรรคประชาชาติได้ร่วมอภิปรายด้วย
นายซูการ์โน มะทา กล่าวว่า “ได้ตั้งข้อสังเกตต่อรายงานฉบับนี้ว่า แม้ว่ามีกฎหมายให้ กกต.รายงานผลการปฎิบัติงานต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่อยากได้ยินคำชี้แจงจากเลขาธิการ กกต. ว่านับต่อจากนี้ไปท่านในฐานะผู้กำกับดูแล กกต.จะพยายามทำรายงานผลการปฎิบัติงานที่เป็นปัจจุบันที่สามารถตอบข้อซักถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้”
นายซูการ์โน กล่าวอีกว่า “จากที่ได้ดูรายงานแล้วก็รู้สึกว่ามีความสมบูรณ์ และมีความภาคภูมิใจที่ กกต.ระบุว่าเกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ซึ่งตนเชื่อว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 การตั้งองค์กรอิสระอย่าง กกต. เพื่อให้เป็นองค์กรที่จะธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้ธรรมาภิบาล แต่จากการฟังการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาเห็นว่า กกต.เป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายในเวลาเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมามีคณะกรรมการเข้ามาทำหน้าที่แล้ว 4 ชุด ดำเนินการการเลือกตั้งแล้ว 6 ครั้ง ในจำนวนนี้มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 และ 2557 ซึ่งในปีดังกล่าวนั้นมีเหตุการณ์ทางการเมือง แต่ไม่ระบุในรายงานว่าภายหลังจัดการเลือกตั้งปี 2549 แล้วมีการก่อรัฐประหารขึ้น เช่นเดียวกับหลังการเลือกตั้งปี 2557 มีการก่อรัฐประหารก็ไม่มีการระบุในรายงานเล่มนี้เช่นกัน ท่านคือองค์กรที่ดูแลการเลือกตั้ง และอะไรคืออุปสรรคที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ท่านต้องกล้าระบุในรายงานด้วย”
นายซูการ์โน กล่าวย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 ว่า “ผมได้รับการเลือกตั้งแต่ไม่ได้รับเงินเดือนเพราะถูกก่อรัฐประหาร แต่ในรายงานเขียนว่า กกต.เป็นโจทก์เพราะเป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จภายในหนึ่งวัน แต่ไม่ระบุสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ทำไมไม่เขียนความจริงเหล่านี้ลงไปในรายงาน พี่น้องประชาชนทั่วประเทศรู้กันทั้งหมดว่าในปี 2557 จัดการเลือกตั้งไม่สำเร็จเพราะอะไร เป็นที่มาของการก่อปฏิวัติรัฐประหารทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องแขวนมา 12 ปี แต่ผมก็ยังมีความเชื่อมั่นว่า กกต.จะเป็นองค์กรที่ปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นให้เป็นที่พึ่งของประชาชนให้ได้ ตามเจตนารมณ์ที่ท่านเขียนไว้”
“ระเบียบต่างๆที่ใช้บังคับทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาองค์กรปกครองท้องถิ่น เรื่องบัญชีค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งกำหนดชัดเจน แต่บางครั้งการใช้สิทธิ์ในการโฆษณาติดโปสเตอร์ต่างๆท่านเขียนว่าห้ามผู้สมัครติดโปสเตอร์ตามรถเมล์ หรือบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน ผมลงสมัครเลือกตั้งมาสองครั้งแต่เจอผู้สมัครฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนี้ แต่ก็ไม่มีผลทางกฎหมายใดๆทั้งสิ้น วันนี้หากท่านจะออกระเบียบผมคิดว่าต้องแก้ไขให้ผู้สมัครลงเลือกตั้งสามารถติดโปสเตอร์เพราะจะเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ผมยังเสียดายงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท เราต้องการเห็นการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการเลือกตั้ง จะทำอย่างไรไม่ให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง การจัดอบรมต่างๆน้อยมาก ยิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้สังคมเกิดวลีที่ว่า ‘เงินไม่มากาไม่เป็น’ กลายเป็นวลีเด็ดทางการเมืองไปแล้ว ผมขอถามท่านว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร”
นายซูการ์โน กล่าวทิ้งท้ายว่า “ประการสุดท้ายขอฝากว่าระเบียบใดที่ออกไปแล้วกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกจำกัดสิทธิ์มากเกินไป จะทำให้การส่งเสริมประชาธิปไตยดูย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ของท่าน ท่านให้โอกาสพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ แต่กลับไม่ให้สมาชิกในพรรคการเมืองนั้นไปหาเสียงให้กับสมาชิกของพรรคการเมือง นี่มันย้อนแย้งมาก จึงขอฝากให้ท่านทบทวนแก้ไขระเบียบนี้”
มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ
รองโฆษกพรรคประชาชาติ
21 ม.ค.64
#พรรคประชาชาติ
#PrachachatParty
915 total views, 6 views today
More Stories
“ชาดา” ลงพื้นที่นราฯ ชมวิสาหกิจชุมชนแฮนอินแฮนด์รือเสาะ สร้างงานสร้างคุณภาพชีวิต 200 ครอบครัว
โฆษกพรรคประชาชาติ ยัน พรรคผลักดัน พ.ร.บ.สันติภาพ ตลอดจนการอำนวยความยุติธรรมดับไฟใต้ รัฐบาลอาจต้องมีปรับคณะพูดคุยสันติสุขใหม่ พร้อมขอโอกาสพรรคทำหน้าที่เพื่อประชาชน
พรรคประชาชาติ พบปะพี่น้องชุมชนหลังโรงเรียนจีนยะลา เปิดออฟชั่นพรรคฯมากกว่าพหุวัฒนธรรม