อาลีฟ มามะ รายงาน..
(20 มกราคม 2564) ที่ การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดนราธิวาส พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมหารือถึงการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายพนัสพล โกสิยาภรณ์ ผู้อำนวยการกางยางแห่งประเทศไทย จังหวัดนราธิวาส นายแวฮามะ บากา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส นักวิชาการด้านเกษตร มหาวิทยาราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนรินทร์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
เนื่องจากการระบาดของโรคใบร่วงยางพารา เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อคอลเลตโตริกัม (Colletotrichum Leaf Disease) ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตยางพาราน้อยลง เกษตรกรไม่สามารถป้องกันรักษาการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราด้วยตนเอง ทั้งนี้สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส ได้รับแจ้งจากเกษตรกรในพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนเครือข่ายสภาเกษตรกรใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการในการป้องกัน และมาตรการเผชิญเหตุการยับยั้งเชื้อ รวมถึงมาตรการแก้ไข ฟื้นฟูของโรคระบาดใบร่วงยางพารา
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า วันนี้ทาง ศอ.บต. มารับฟังข้อมูล เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาใบร่วงของยางพารา ที่เป็นโรคใหม่และเป็นปัญหาหนักของชาวเกษตรกรชาวสวนยางในขณะนี้ซึ่งการแบ่งพื้นที่แก้ไขปัญหานั้น จะต้องช่วยกันดำเนินการเป็นขั้นตอน หาสาเหตุของการเกิดโรคระบาด ลักษณะของการทำลาย และหาวิธีการในการป้องกันปัญหา จัดสรรทรัพยากรหรือเครื่องมือว่าต้องการที่จะใช้อุปกรณ์แบบไหนบ้างในการรักษา เพื่อเป็นการยับยั้งไม่ให้โรคระบาดนี้กระจายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากไม่สามารถยับยั้งปัญหาดังกล่าวได้ โอกาสที่ต้นยางจะตายมีสูงมาก อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างสุดความสามารถ เพราะถือว่าชาวสวนยางเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญของแผ่นดินใต้ นอกจากนี้ศอ.บต.ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำพืชชนิดอื่นมาปลูกผสมผสานกับต้นยาง เช่น ต้นไผ่ และกาแฟ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างรายได้ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว
ด้าน นายพนัสพล โกสิยาภรณ์ ผู้อำนวยการกางยางแห่งประเทศไทย จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า โรคใบร่วงยางพารา เกิดจากเชื้อรา สาเหตุคือ Pestalotiopsis sp. โรคใบร่วง Pestalotiopsis sp. พบระบาดรุนแรงในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2559 และได้แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ.2560 สำหรับประเทศไทยได้พบโรคนี้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2562 ที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ประสบปัญหาโรคระบาดใบร่วงยางพารา ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 68,449 ราย กว่า 876,434.27 ไร่ และ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีเกษตรกรที่ประสบปัญหา จำนวน 63,642 ราย กว่า 779,734.00 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่มีการระบาดของโรคใบร่วงยางพารามากที่สุด ทำให้รายได้เริ่มลดลง จากที่เคยได้ 100เปอร์เซน เหลือไม่ถึง 50 เปอร์เซน โดยขณะนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่มีการกระจายข้อมูลข่าวสาร สร้างความเข้าใจถึงความรุนแรงของโรคระบาด รวมถึงการเตรียมตัวในการรับมืออย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามศอ.บต. จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ไขปัญหา และหาแนวทางในการยับยั้งของโรคระบาดใบร่วงยางพาราให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ต่อไป
814 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี