เมษายน 19, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

สสจ.ยะลาร่วม รพ.รามัน ยะลา และมูลนิธิกาญจนบารมี จัด คัดกรองมะเร็งเต้านม เคลื่อนที่(Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10

แชร์เลย

สสจ.และ โรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา และมูลนิธิกาญจนบารมีจัด คัดกรองมะเร็งเต้านม  เคลื่อนที่(Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ
(21 กุมภาพันธ์ 2561) ที่โรงพยาบาลรามัน อ.รามัน จ.ยะลา นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผู้อำนวยการรพ.รามัน ผู้บริหาร บุคลากรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา/เครือข่ายบริการ พร้อมด้วยกลุ่มสตรีทั้งหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน และชมรม อสม.จังหวัดยะลา ให้การต้อนรับ นายวรเชษฐ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา
ตัวแทนมูลนิธิกาญจนบารมีในพิธีเปิดโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่(Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาสเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการป่วยและตายอันดับ 1 ของสตรีไทย ข้อมูลเมื่อปี 2554 พบสตรีไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม จำนวน 34,539 ราย เสียชีวิตประมาณ 2,724 ราย เฉลี่ยวันละ 7 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2549 จำนวน 711 คน และแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี สตรีที่อายุ 30 ปี ขึ้นไป ทุกคน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 20 กว่าล้านคน มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ช้าซึ่งมักจะมีการลุกลามและแพร่กระจายไปแล้ว ร้อยละ 56 สาเหตุการป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด การป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด คือการตรวจเพื่อค้นหาให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งการตรวจมี 3 วิธีคือ 1)การตรวจเต้านมด้วยตนเอง 2)การตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ 3)การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม ซึ่งการตรวจเต้านมได้ด้วยตนเองนั้น จะสามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ หากได้รับการวินิจฉัย และรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่ยังไม่ลุกลามหรือแพร่กระจายจะลดความรุนแรงของการเป็นมะเร็งเต้านม และสามารถรักษาหายขาดได้ถึงร้อยละ 80-90 กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดตัวชี้วัดให้ ร้อยละของสตรีอายุ 30-70 ปี มีการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว

ในส่วนของการตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์ แม้จะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่การให้บริการยังไม่สามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย จังหวัดยะลา โดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ร่วมกับโรงพยาบาลรามัน อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้เห็นความสำคัญของการเฝ้าระวัง และค้นหาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก จึงร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี จัดโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่(Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญ พระชนมพรรษาครบ 5รอบ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรณรงค์ให้สตรีที่อยู่ห่างไกล และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยด้วยมะเร็งเต้านม ได้รับการตรวจค้นหาในระยะเริ่มแรก และเพื่อเป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มสตรี ในจังหวัดยะลา ได้ตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม และให้ความสำคัญกับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

กิจกรรมประกอบด้วย สตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาสได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์ เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) การจัดนิทรรศการความรู้เรื่องมะเร็งเต้านม สอนการตรวจเต้านมด้วยตนเอง การจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จากโรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกแห่ง และโรงพยาบาลปัตตานี ตลอดจนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ที่อำนวยความสะดวกด้านการไฟฟ้าอีกด้วย

ปีแอร์ สามะอาลี / ภาพข่าว / SPMCnews ยะลา

 773 total views,  2 views today

You may have missed