นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นราธิวาส พรรคประชาชาติ ได้เสนอญัตติในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาลูกหนี้ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งมี ส.ส.ร่วมลงชื่อ 22 ท่าน
นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาลูกหนี้ กยศ. โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาได้รับโอกาสกู้เงินจาก กยศ.แล้วประมาณ 5.6 ล้านคน ทาง กยศ.ได้อนุมัติเงินกู้แล้วกว่า 6 แสนล้านบาท มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้กว่า 3.5 ล้านคน ลูกหนี้ชำระหนี้ปกติร้อยละ 40 อยู่ระหว่างชำระหนี้ร้อยละ 60 มีลูกหนี้ถูกฟ้องดำเนินคดีแล้วมากถึง 1 ล้านคน จึงต้องยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรศึกษาปัญหาหนี้ กยศ.เพราะมีลูกหนี้ผิดนัดจำนวนมาก และจะทำอย่างไรให้กองทุนฯ ได้รับชำระเงิน และลูกหนี้มีโอกาสที่จะชำระหนี้คืน ซึ่งต้องขอบคุณลูกหนี้ที่มีวินัยทางการเงิน ได้ชำระเงินทั้งหมดแล้ว 8 แสนราย
คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ จะตั้งขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางให้ลูกหนี้กว่า 3.5 ล้านคนได้ชำระเงิน และจะได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษารายอื่นๆ ได้มีโอกาสกู้ยืมเงินในการศึกษาต่อไปด้วย เพราะหากไม่รีบศึกษาปัญหาแล้ว อาจจะกลายเป็นปัญหาสะสม ซึ่งปัจจุบันมีลูกหนี้ถูกฟ้องแล้ว 1 ล้านราย และอีกกว่า 3.5 ล้านรายที่ประสบปัญหาการชำระเงิน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ในปัจจุบัน อาจจะส่งผลกระทบต่อกองทุนฯ ที่จะได้รับเงินชำระ จึงต้องศึกษาทั้งระยะสั้น และระยะยาว
ปัจจุบัน กยศ.อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 มีคณะกรรมการ 11 คน ที่มีอำนาหน้าที่กำหนดกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ การกู้ยืม และชำระหนี้คืน ซึ่งผมได้รับการร้องเรียนและสะท้อนปัญหาจำนวนมาก ต้องยอมรับว่าคนเรามีสถานะทางการเงินต่างกัน หลังสำเร็จการศึกษา บางคนโชคดีมีงานทำ ส่งผลให้ชำระหนี้ได้ แต่บางคนเรียนจบแล้วยังไม่มีงานทำ ผ่านไปหลายปียังหางานทำไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้การศึกษาแก่ประชาชน และหางานทำ เราจะผลักภาระการศึกษาให้เป็นภาระของประชาชนฝ่ายเดียวนั้น ยังไม่เป็นธรรม สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้จึงสมควรที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว
องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับ กยศ.ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ 1.กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของทุน 2.สถาบันการศึกษา และ 3.ลูกหนี้ที่เป็นนักเรียนและนักศึกษา ผมเห็นว่า 3 ฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันในคณะกรรมการ กยศ.ยังไม่มีตัวแทนจากสถาบันการศึกษา แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้มากที่สุดคือ สถาบันการศึกษาเอกชน จากที่ได้ติดตามปัญหานี้พบว่า มีกรณีหนึ่งที่ถูกนายหน้าจัดหานักศึกษาเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาเอกชน โดยบอกว่าสามารถเข้าเรียนได้โดยใช้ทุน กยศ. นักศึกษาหลายสิบคนจึงสมัคนเรียน โดยสมัครกองทุน กยศ.เรียบร้อย แต่ปรากฎว่านายหน้าฉ้อโกงโดยนำบัตรเอทีเอ็มของนักศึกษาไปเบิกเงินใช้ ส่งผลกระทบต่อนักศึกษา จนศึกษาต่อไม่ได้ และถูกฟ้องให้ชำระเงิน
ระยะเวลาการชำระหนี้ ตามระเบียบ กยศ.กำหนดให้ชำระหลังสำเร็จการศึกษา 2 ปี ทำสัญาผ่อนชำระได้ 15 ปี การขยายระยะเวลานี้ขึ้นอยู่กับกรรมการ จึงขอให้ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจ เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้มีการยืดหยุ่นตามสภาพการเงินของแต่ละคน
ปัญหาสำคัญที่สุด คือดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ทราบดีว่าหากไม่มีดอกเบี้ยหรือไม่เบี้ยปรับแล้ว อาจจะสร้างลักษณะนิสัยที่ไม่ดีต่อวินัยทางการเงิน แต่กองทุนต้องไม่ทำตัวเป็นสถาบันทางเงินเสียเอง ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ย 1% ถือว่าไม่มาก แต่ผมคิดว่ากองกองทุนกำลังเลี่ยงการใช้คำว่า “ดอกเบี้ย” โดยใช้คำว่า “เบี้ยปรับ” แทน ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักต่อผู้ที่ไม่มีงานทำ
ผมเห็นหมายศาลที่ส่งมาให้ลูกหนี้ บางรายมีเงินต้นประมาณ 2 แสนบาท แต่รวมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับแล้วประมาณ 5-6 แสนบาท ซึ่งระเบียบ กยศ.กำหนดไว้ว่า หากค้างดอกเบี้ยไม่เกิน 1 ปี คิดเบี้ยปรับร้อยละ 12 หากเกิน 1 ปี เบี้ยปรับร้อยละ 18 จึงมองว่า “เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกเลิกเบี้ยปรับ”
ปัญหาสำคัญอีกประการคือ “ผู้ค้ำประกัน” หากมีลูกหนี้ถูกฟ้อง 1 ล้านราย จะมีผู้ค้ำประกันที่ถูกดำเนินคดีด้วย อีก 1 ล้านราย กลายเป็นปัญหาสังคมวงกว้า ง ผู้ค้ำประกันจะถูกฟ้องเป็นจำเลยที่สอง ซึ่งส่วนมากผู้ค้ำประกันเป็นอาจารย์ หรือญาติพี่น้อง เมื่อลูกหนี้ไม่มีเงินชำระ ส่งผลให้ผู้ค้ำประกันต้องถูกยึดทรัพย์สิน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันถูกทำลาย มีปัญหาทะเลาวิวาทกัน กลายเป็นปัญหาสังคมวงกว้าง
ลูกหนี้จำนวนมากเรียกร้องขอให้ยกเลิกเบี้ยปรับ เพราะเบี้ยปรับมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะสามารถจ่ายได้ แต่ลูกหนี้พร้อมที่จะชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ผมจึงมีความคิดเห็นว่า ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องคดี จำเป็นจะต้องหารือแก้ปัญหาระยะสั้น ผมจึงเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรจะต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาลูกหนี้ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้ประชาชนในประเทศมีการศึกษา ไม่มีปัญหาสังคมดังที่กล่าวมา
นางสาวมีดะ สาและ หนึ่งในลูกหนี้ กยศ.ซึ่งเธอเป็นคนในพื้นที่นราธิวาส บอกกับผู้สื่อข่าว ทราบข่าว เรื่อง ส.ส.พรรคประชาชาติเสนอ ผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาลูกหนี้ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งมี ส.ส.ร่วมลงชื่อ 22 ท่าน แล้ว เธอบอกว่า เธอฐานะไม่ดีนัก แต่ใจรักที่จะเรียน และจบ ป.ตรี แต่ปัญหาคือ มีงานทำแต่รายได้ ไม่เพียงพอรายจ่าย เพราะมีลูกอีก 2 คน และตกที่นั่งลำบากมากสุดๆ เมื่อโดน กยศ.เรียกจ่ายเงินต้นและดอก พร้อมเบี้ยปรับ แทบล้มทั้งยืน ซ้ำร้าย เพื่อนหลายคนที่กู้ยืมเงิน กยศ.ถูกยึดทรัพย์หลายราย มีไม่ใครช่วยได้จริงๆ แต่เมื่อ ส.ส.พรรคประชาชาติ ที่อาสาทำเพื่อประชาชน และนำสู่กระบวนการ กรรมมาธิการพิจารณาวิสามัญ ทุกคนดีใจมาก และเชื่อมั่นว่า ปัญหาจะได้รับการแก้ไข จากสิ่งที่เราทุกคนมองว่า มันมืดสนิท กลับมีความหวัง และแสงสว่างอีกครั้ง
/////////////////////////////////////////////////////
1,141 total views, 2 views today
More Stories
“ชาดา” ลงพื้นที่นราฯ ชมวิสาหกิจชุมชนแฮนอินแฮนด์รือเสาะ สร้างงานสร้างคุณภาพชีวิต 200 ครอบครัว
โฆษกพรรคประชาชาติ ยัน พรรคผลักดัน พ.ร.บ.สันติภาพ ตลอดจนการอำนวยความยุติธรรมดับไฟใต้ รัฐบาลอาจต้องมีปรับคณะพูดคุยสันติสุขใหม่ พร้อมขอโอกาสพรรคทำหน้าที่เพื่อประชาชน
พรรคประชาชาติ พบปะพี่น้องชุมชนหลังโรงเรียนจีนยะลา เปิดออฟชั่นพรรคฯมากกว่าพหุวัฒนธรรม