เมษายน 25, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ทุเรียนพื้นบ้าน สืบสานภูมิปัญญาปักษ์ใต้สงขลา 24 ก.ค.นี้ ผู้สนใจเตรียมพบเวทีโครงการฯ

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)  รพี  มามะ บรรณาธิการข่าว.
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน


ในห้วงที่ผ่านมา ผู้เขียน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและคุยกับ คุณ แฟ็บ หรือ ภาวิณี ไชยภาค ผู้จัดการร้านมากันนะ ร้านอาหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทุ่งแนะ ตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังจากปีที่แล้วได้เคยร่วมเสวนา เรื่องทุเรียนพื้นบ้าน สืบสานภูมิปัญญาปักษ์ใต้สงขลา   มาครั้งนี้ผู้เขียนเลยอยากจะเจาะลึกถึงโครงการที่น่าสนใจนี้ตั้งแต่โครงการนี้เริ่มก่อตัวจนจะมีการจัดเวทีอีกครั้งในวัน 24 กรกฎาคมนี้ ในประเด็นดังนี้
1. ที่มาและหลักการเหตุผล
คุณ ภาวิณี ไชยภาคได้เล่าว่า “ โครงการฟื้นทุเรียนพื้นบ้าน สืบสานภูมิปัญญาปักษ์ใต้สงขลา นั้น เกิด จากวิกฤติราคาผลผลิตการเกษตรหลายชนิดมีราคาตกต่ำ โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาวะในหลายด้าน มีแนวโน้มที่ต่อเนื่องเป็นระยะยาว ในขณะที่พืชที่เริ่มมีความหวังเช่นกล้วยหอมทอง ทุเรียน เริ่มส่อแววของการเพิ่มพื้นที่ปลูกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพันธุ์ทุเรียนหลักได้แก่หมอนทอง กระดุมทอง ชะนี ก้านยาว และพวงมณี มีการคาดการณ์ว่าในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า อาจจะเกิดสภาพล้นตลาดหรือภัยธรรมชาติที่แปรปรวนรุนแรงมากขึ้น จนก่อวิกฤติสำหรับเกษตรกรรายย่อยได้เช่นกัน ทางเลือกที่เป็นไปได้จึงต้องกลับไปที่ทรัพยากรพันธุกรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้านที่อนุรักษ์และรักษาทั้งพันธุ์พืช ระบบนิเวศน์เหล่านั้นไว้ที่เด่นๆคือทุเรียนพื้นบ้าน ในภาคใต้พบว่ามีสายพันธุ์ที่รสชาดดี หอมอร่อย เป็นพันธุ์ประจำถิ่นมีชื่อเฉพาะมากมาย แต่กำลังหายไปเพราะการตัดโค่นขายไม้ นำเมล็ดไปเป็นต้นตอทุเรียนพันธุ์ ละเลยการดูแลรักษา ตลอดจนขาดการส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจัง แต่ยังมีความหวังเนื่องจากเป็นพืชอัตลักษณ์มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นพืชมรดกหรือพืชรวมญาติชนิเดียวที่ญาติพี่น้องได้มาพบปะเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันได้ประจำปี ดังนั้นหากคาดหวังว่าจะพึ่งพาทุเรียนพันธุ์ดี 5 สายพันธุ์ดังกล่าว ทั้งปัจจุบันและอนาคต ไม่เพียงพอและกำลังมีความเสียงทั้งจากประเทศคู่แข่งและผลกระทบจากภาวะเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ผลผลิตแปรปรวนได้ง่าย จึงมีความพยายามของเกษตรกร ภาคประชาชนหลายกลุ่ม ภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่สภาทรัพยากรพันธุกรรมพื้นบ้านภาคใต้ ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาเกษตรธรรมชาติธาตุ4(สวนป๊ะหรน หมัดหลี) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีปักษ์ใต้ โครงการวิจัยของดีทุ่งตำเสา สกว.ท้องถิ่นโหนดสงขลา สำนักงานเทศบาลเมืองสงขลา โครงการวิจัยรูปแบบและกระบวนการสื่อสารเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสวนยางและกลุ่มอาเซียนอาศรม ร่วมตัวกันจัดงานฟื้นฟูทุเรียนพื้นบ้าน ในปี 2560

2. หลังจากเล่าเรื่องที่มาแล้วได้จัดกิจกรรมเวทีอะไร อย่างไร และกี่ครั้งแล้ว ปีแรก2560 มีการจัดประกวดทุเรียนพื้นบ้านขึ้นแล้ว 2 สนาม สนามที่1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ณ ลานศูนย์เรียนเกษตรธรรมชาติธาตุ4 ม.6 ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมอาคารเอนกประสงค์ บ้านโฮ๊ะ ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทั้งสองสนาม มีทุเรียนเข้าประกวด 30 กว่าพันธุ์ โดยสนามที่1 มี 19 พันธุ์ มีชื่อต่างๆได้แก่ หัวช้าง1 ทายาท คลองเพนียด1 คลองเพนียด2 คลองเพนียด3 หูแร่ ขมิ้น พิกุลทอง ไฟ บาลาแต1 บาลาแต 2 บาลาแต3 ยาย มะลิ หัวช้าง2 หัวล้าน ทองสร้อย อีนาง และแจ้ ในส่วนสนามที่ 2 มี 19 พันธุ์มีชื่อต่างๆได้แก่ ขมิ้นหมาด ขมิ้นดาหลา ขมิ้นดาหวัน อาซัน ขมิ้นเขาพระ สุชาติ1 ทองแดง1 อุไรวรรณ1 พ่อเลิศ(ทองแดง2) หมัดยูโสบ อุไรวรรณ2 ค่าง ขมิ้นนาแสน เขียวเรียว มิ้ง แมว และ ไอ้แหลม โดยเกณฑ์การตัดสินได้จากการระดมความคิดเห็นจากผู้มาร่วมงานทั้งหมดสรุปได้ 6 ข้อที่ถือว่าเป็นทุเรียนพื้นบ้านที่ดี ประกอบด้วย เกณฑ์ข้อที่ 1 มีรูปลักษณะและขนาดที่เหมาะสม สวยงาม เกณฑ์ข้อที่ 2 มีกลิ่นหอมจัดจ้าน เกณฑ์ข้อที่ 3 มีสีเนื้อสวย น่ารับประทาน เกณฑ์ข้อที่ 4 มีรสชาติหอม หวานมัน แน่น เกณฑ์ข้อที่ 5 มีเม็ดเล็ก สามารถนำไปไปเพาะพันธุ์ต่อได้ เกณฑ์ข้อที่ 6 มีเนื้อทุเรียนมาก เปลือกบาง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและสานต่อกระบวนการให้ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องจัดงานเป็นครั้งที่ 2 ขึ้น วัตถุประสงค์ 1.เพื่อฟื้นฟูและรณรงค์การยกระดับคุณค่าและมูลค่าทุเรียนพื้นบ้าน สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน 2.เพื่อจัดทำฐานข้อมูลในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและขยายผลการพัฒนาทุเรียนพื้นบ้าน จากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ในพื้นที่ภาคใต้ 3.เพื่อสืบสานทรัพยากรพันธุกรรมพืชพื้นบ้าน สู่การพัฒนาพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น


สำหรับองค์กรและผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการ 1.สำนักงานจังหวัดสงขลา 2.สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา 3.สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา 4.สำนักงานเทศบาลเมืองทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 5.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคใต้ 6.มูลนิธิอนุรักษ์ดินและน้ำ 7.สภาทรัพยากรพันธุกรรมพื้นบ้านภาคใต้ 8.วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ 9.ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาเกษตรธรรมชาติธาตุ 4 10.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ 11.กลุ่มอาเซียนอาศรมชุมชนหูแร่ 12.คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 13.วิทยาลัยรัตภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 14.สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศรัย จังหวัดสงขลา 15.สถาบันการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศรัยภาคใต้ 16.สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา 17.เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาคใต้ตอนล่าง 18.สภาลุ่มน้ำคลองภูมี ลุ่มน้ำคลองรัตภูมิ 19.องค์การบริหารส่วนตำบลจะโหนง ต.จะโหนง อ.จะนะ จ.สงขลา 20.องค์การบิหารส่วนตำบลคลองเปี๊ยะ ต.คลองเปี๊ยะ อ.จะนะ จ.สงขลา 21.สถานวิจัยการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศพื้นที่ภาคใต้แบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 22ชมรมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์บ้านบ้านสงขลา 23.หอการค้าจังหวัดสงขลา 24.ศูนย์อาหารโภชนาการและการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 25.ครัวมากันนะ๑ทุ่งแนะ ร้านอาหารสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลนครินทร์ 26.หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ 27.สำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย ส่วนวิจัยเพื่อท้องถิ่น โหนดจังหวัดสงขลา 28.ชมรมปัญญาเกษตรอินทรีย์ทุ่งตำเสา 29.มูลนิธิพัฒนามนุษย์นานาชาติโฟกัส้ 30.สำนักบริหารทรัพยากรป่าไม้ที่13 โดยจะขับเคลื่อนระหว่าง มิถุนายน ถึงกันยายน 2562

3. ช่วยเล่ารายละเอียด แผนงานกิจกรรมที่จะดำเนินการหรือ จะขับเคลื่อนระหว่าง มิถุนายน ถึงกันยายน 2562
สำหรับแผนงานกิจกรรมที่จะดำเนินการหรือ จะขับเคลื่อนระหว่าง มิถุนายน ถึงกันยายน 2562 เราแบ่งจัด 5 ครั้ง 5 สถานที่ กล่าวคือ ครั้งที่ 1 วันที่ 22 กรกฎาคม อบต.พิจิตร อำเภอนาหม่อม ครั้งที่ 2 วันที่ 24 กรกฎาคม ร้านมากันนะ ศูนย์อาหารและโภชนาการ (มอ.) ตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 3 วันที่ 4 สิงหาคม ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาเกษตรธรรมชาติธาตุ 4 หมู่ที่ 6 ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 4 ห้องประชุมเทศบาลเมืองทุ่งตำเสา ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 5 อบต.ท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โดยเราวางการดำเนินงานดังนี้ 1.จัดประชุมคณะทำงานและภาคีต่างๆ ที่ร่วมจัดงานเพื่อสรุปบทเรียน เตรียมการและวางแผนการดำเนินงานโครงการ 2.นำเสนอแผนงานและโครงการ พร้อมการเตรียมทีมงานกับภาคีและเครือข่าย 3.จัดทำฐานข้อมูลทุเรียนพื้นบ้านทั้งระบบ(เจ้าของสวน ชื่อพันธุ์ คุณลักษณะเด่น และประวัติพัฒนาการของพันธุ์ทุเรียน) 4.จัดงานทุเรียนพื้นบ้านระดับท้องถิ่นจำนวน ครั้งและระดับจังหวัด 1 ครั้ง 5.จัดเวทีสรุปบทเรียน ติดตามประเมินผล และจัดทำแผนการขยายผล ท้ายสุดเราหวัง ผลที่คาดว่าจะได้รับ เช่น 1.สามารถฟื้นฟูและรณรงค์การยกระดับคุณค่าและมูลค่าทุเรียนพื้นบ้าน สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน 2.ได้ฐานข้อมูลในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและขยายผลการพัฒนาทุเรียนพื้นบ้าน จากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์ 3.มีแหล่งทุเรียนพื้นบ้านทั้งเจ้าของสวน สายพันธุ์ กล้าพันธุ์ เพื่อสืบสานทรัพยากรพันธุกรรมพืชพื้นบ้าน สู่การพัฒนาพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่นสงขลา บูรณาการสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งท้องถิ่นและจังหวัดในระยะต่อไป ครับก็ขอเชิญทุกท่านร่วมเวทีเสวนาและขับเคลื่อนร่วมกับเราได้

///////////////////////////////////////

 3,162 total views,  2 views today

You may have missed