เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมการประชุมแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (IMT-GT) ที่ประชุมเห็นพ้องหนุนเขตพัฒนาร่วมระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 ดึงศักยภาพ สร้างความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจของ 3 ประเทศ

แชร์เลย

รพี  มามะ บรรณาธิการข่าว…

( 23 มิถุนายน 2562) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน  ครั้งที่ 34  (34 th ASEAN Summit)  และการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 12 แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซียมาเลเซียไทย (IMT-GT) ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 4 สิ้นสุดลง ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล กรุงเทพฯ จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

การประชุมระดับผู้นำครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมประชุมพร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตุน มหาเธร์ บิน โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะปาดูกา ลิมจ๊อกฮอย  เลขาธิการอาเซียน และ นายทาเคฮิโกะ นาคาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือADB โดย นายโจโก้ วิไดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย  ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมฯ ในครั้งนี้

การประชุมหารือและข้อสรุปของการประชุมให้ความสำคัญกับการเน้นย้ำบทบาทการประชุมระดับผู้นำ IMT-GT การแสดงความชื่นชมความสำเร็จในการดำเนินงานของแผน IMT-GT  เพื่อยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศอย่างเป็นรูปธรรมในรอบปีที่ผ่านมาและบทบาทสำคัญของแผนงาน IMT-GT ในการสนับสนุนประชาคมอาเซียน รวมทั้ง ชื่นชมความสำเร็จในการขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT ครบรอบ  25 ปี ชื่นชมการขับเคลื่อนและทบทวนแผนการดำเนินงาน ตามวงรอบของแผน IMT-GT การเสนอแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการที่มีลำดับความสำคัญสูงที่สร้างประโยชน์อย่างกว้างขวางในอนุภูมิภาคหรือบทบาทของแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เน้นย้ำความสำคัญการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของแผนงานIMT-GT  บนพื้นฐานของการลดหรือขจัดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง

ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำการพัฒนาด้านความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่มีการจัดลำดับความสำคัญและบูรณาการแผนงานระหว่างกัน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงโดยใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในโลกและภูมิภาคเน้นย้ำการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าในผลิตผลเกษตรสำคัญโดยเฉพาะยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  ประมงอาหารแปรรูปและผลิตภัณฑ์ฮาลาล เน้นย้ำ  การต่อยอดการพัฒนาเมืองสีเขียวสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในหลายมิติ  เน้นย้ำการเสริมสร้างบทบาทของมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดในการร่วมมือกับภาคีการพัฒนายูนิตสภาธุรกิจ IMT-GT พร้อมกันนี้ยืนยันการสนับสนุนความร่วมมือด้านต่างๆร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนาต่างๆและรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 11 แผนงาน IMT-GT

การประชุมในครั้งนี้ ทั้ง 3 ประเทศเห็นพ้อง และ สนับสนุน การขับเคลื่อนการทำงาน ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอ เขตพัฒนาร่วมระเบียงเศรษฐกิจที่ 6  หรือ Economic corridor  6 เป็นความร่วมมือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ ระหว่างจังหวัดปัตตานี  จังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาสของประเทศไทย รัฐกลันตัน และ เปรัค ของประเทศมาเลเซีย พาดผ่านไปยังเกาะสุมาตราใต้ ในฐานะพื้นที่ร่วมพัฒนาของประเทศอินโดนีเซีย  โดยมีแผนงานโครงการที่สำคัญ อาทิ การเร่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่ 2 แห่งเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนไทยมาเลเซียด้านตะวันออกเพื่อให้มีประโยชน์จากการใช้สะพานข้ามแม่น้ำระหว่างประเทศดังกล่าว ในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งจะสนับสนุนความเชื่อมโยงกับเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา    และนราธิวาสรวมทั้งเมืองต้นแบบแห่งที่ 4 ที่อำเภอจะนะ และเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาสที่จะเชื่อมโยงกับมาเลเซีย และเส้นทางสายตะวันออกของมาเลเซียเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนและเชื่อมโยงสุมาตราใต้ทางทะเล

พร้อมนี้  ที่ประชุมฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบในพื้นที่ การเชื่อมโยงโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าในผลผลิตเกษตรสำคัญ เช่น ยาง ปาล์มน้ำมัน ประมงแปรรูปและผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยมุ่งเน้นการวิจัย  และพัฒนาที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ UNINET และสภาธุรกิจ สร้างอุปสงค์ในอนุภูมิภาคต่อผลผลิตเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าในระยะยาว

////////////////////////////////////////////

 795 total views,  2 views today

You may have missed