พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ศอ.บต.ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน หลังชาวบ้านในอำเภอตากใบร้องทุกข์ที่ทำกินได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขังตลอดปีไม่สามารถทำกินได้

แชร์เลย

 (14 พฤศจิกายน 2561) ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนทอง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่อาทิ โครงการชลประทานนราธิวาส, สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 13 นราธิวาส, องค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนทอง, โครงการส่งเสริมน้ำและบำรุงรักษาลุ่มแม่น้ำบางนรา และตัวแทนจากชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรในพื้นที่ เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนทอง ได้นำเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนในพื้นที่ มาร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ถึงปัญหาของชาวบ้านที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังในเขตที่ดินทำกินเกือบตลอดทั้งปี โดยพื้นที่ประสบปัญหาอยู่ในเขตของบ้านโคกชุมบก หมู่ที่ 5 ตำบลบางขุนทอง ชุมชนบ้านโคกใน หมู่ที่ 2 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2,000 ไร่ ดังนั้นศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ได้จัดทีมงานตรวจสอบทันที เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรม โดยได้นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ พร้อมแก้ไขปัญหาชั่วคราว จนถึงแก้ปัญหาระยะยาวในอนาคตต่อไป

ด้านนายสะมาน เซ็งโต๊ะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนทอง เปิดเผยว่า มีชาวบ้านมาร้องทุกข์ อยากให้ส่วนราชการมาตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้คลายลง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวบ้านที่รอเวลามานับสิบปีกับปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมีชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอมา 3 ข้อ 1. ให้ก่อสร้างคันกั้นน้ำใหม่โดยให้สร้างคันกั้นน้ำบริเวณรอยต่อป่าพรุโต๊ะแดงและเขตครอบครองของราษฎร 2.ขุดยกร่องและก่อสร้างสะพานตัดถนนในพื้นที่เพื่อเปลี่ยนสภาพที่ดินจากที่นาว่างเปล่ามาเป็นการปลูกพืชที่เหมาะสม เช่น ปาล์ม เป็นต้น 3. การปักแนวเขตที่ดินครอบครองของราษฎรและแนวเขตป่าไม้ให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันแนวเขตยังไม่ชัดเจน

 นายสะมาน เซ็งโต๊ะ เปิดเผยอีกว่า สภาพปัญหาพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ติดต่อกับป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้ทำคันกั้นน้ำดำและน้ำป่าไว้ เมื่อถึงฤดูฝนทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำท่วมไหลเข้ามาบริเวณพืชส่วนและไร่นาของชาวบ้าน ซึ่งอยู่ด้านล่างของคันกั้นน้ำที่ดินทำกินของชาวบ้าน จึงมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ไม่สามารถทำกินบนที่ดินบริเวณดังกล่าวได้ ประกอบกับชลประทานได้มีการสร้างคันกั้นน้ำโดยต้องขุดคูลึกและมีความกว้างมากเพื่อให้ได้คันดินที่สูงพอ แต่ยังพบกับปัญหาที่ไม่มีสะพานข้ามไปที่ดินทำกิน จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องทิ้งให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาเป็นเวลาหลายสิบปี ทำให้มีต้นไม้ขึ้นและเจริญเติบโตจนกลายเป็นป่า ซึ่งทำให้เข้าใจว่าจุดตรงนั้นเป็นป่าสงวนไปแล้ว จากการที่ อบต. ลงพื้นที่ตรวจสอบจากชาวบ้านว่า ที่ดินบริเวณนี้มีเอกสารสิทธิครอบครอง เช่น นส.3, นส.3 ก และ สค.1 และยังเคยเป็นที่นาอันอุดมสมบูรณ์มาก่อนที่จะมีการสร้างคันกั้นน้ำ

ทั้งนี้ หลังจากที่ ศอ.บต. ได้ประชุมหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำปัญหาที่เกิดขึ้น มาร่วมแก้ไขพร้อมกัน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับความธรรมแล้ว ยังได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสภาพปัญหาความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พร้อมได้พบปะกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยชาวบ้านได้นำเอกสารสิทธิที่ตนเองครอบครองที่ดินทำกินอย่างถูกกฎหมายมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ โดยยืนยันว่าพื้นที่ทำกินดังกล่าวเป็นพื้นที่ของชาวบ้านจริง ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราว ทางชลประทานได้เสนอที่จะมีการเพิ่มช่องระบายน้ำ 1 – 2 ช่องเพิ่มการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านมีความพอใจกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะสั้นๆ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะเร่งหารือ พร้อมประชุมทำความเข้าใจกับชาวบ้านอีกครั้ง

//////////////////////////////////

บุหงา รายา รายงาน

 814 total views,  4 views today

You may have missed