พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ศอ.บต. ชู 10 ปอเนาะผู้สูงวัยต้นแบบ จ.ยะลา ดูแลผู้สูงอายุ พร้อมขยายสู่พื้นที่ 3 จชต. เพื่อรองรับผู้สูงวัยที่มีกว่า 2.2 แสนคน

แชร์เลย

นโยบายการพัฒนาไร้รอยต่อเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาชายแดนใต้ ถือเป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนาในทุกมิติ 

( 14 พ.ย. 61 ) ศอ.บต. ได้ให้ความสำคัญในมิติในด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดประชุมหารือแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยอาศัยสถาบันศึกษาปอเนาะ เพื่อส่งเสริมการศึกษาและอาชีพแก่ผู้สูงอายุ สอดรับนโยบายสังคมสูงวัยของรัฐบาล และผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ซึ่งได้นำร่องยกระดับสถาบันปอเนาะผู้สูงอายุไปแล้ว 10 แห่ง ในพื้นที่ อ.เมือง อ.รามัน ของ จ.ยะลา ในปี 2561 ภายใต้โครงการจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม ตามวิถีอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่มีการเสนอและให้ข้อคิดเห็นว่า ผู้สูงอายุที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ในพื้นที่มักเลือกเข้าเรียนศาสนาในสถาบันปอเนาะ เพื่อมุ่งศึกษาทางธรรม ให้คลายกังวลเรื่องการใช้ชีวิตในโลกหน้า การที่ศอ.บต. ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่ควรเน้นการสร้างอาชีพเพื่อให้รายได้เงินเก็บออม เพราะไม่ได้เป็นเรื่องหลักที่ผู้สูงอายุนึกถึง แต่ควรเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อสร้างความภูมิใจ

นอกจากนี้ ศอ.บต. ยังได้เปิดเผยเอกสารระบุข้อมูลของผู้สูงอายุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ปัจจุบันมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 227,110 คน และในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือกว่า 122,654 คน มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้สนับสนุนให้นักเรียนผู้สูงวัยปลูกผักสวนครัวระยะสั้น เลี้ยงปลาดุก ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ และขยายพันธ์มะนาว เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่นักเรียนด้วย

พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงการประชุมหารือในวันนี้ว่า เป็นการพัฒนาแบบไร้รอยต่อ ในการช่วยเหลือและสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ดูแลประชาชนทุกภาคส่วน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว ซึ่งภายหลังลงพื้นที่ พบผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องสุขภาพอนามัย อาชีพและความเป็นอยู่ กว่า 20,000 คน จึงเป็นที่มาของการร่วมหารือในครั้งนี้ เพื่อให้สถาบันปอเนาะในพื้นที่กว่า 400 สถาบัน เป็นสถาบันหลักในการดูแล เนื่องจากผู้สูงวัยที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่เลือกอาศัยอยู่เพื่อเรียนศาสนา

ด้านนายอับดุลเราะห์มาน มะเกะ ผู้บริหารปอเนาะดารูลอูลูมวิทยา หนึ่งในสถาบันปอเนาะนำร่องที่ดูแลผู้สูงอายุและส่งเสริมด้านอาชีพ ต.ยะต๊ะ จ.ยะลา เผยว่า สถาบันปอเนาะเป็นหัวใจ สถานที่เรียนรู้และที่พักพิงของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ บั้นปลายของผู้สูงอายุในพื้นที่ส่วนใหญ่เลือกเรียนศาสนาที่ปอเนาะ มุ่งหน้าสู่การศึกษาเพื่อโลกหน้า จึงขอขอบคุณรัฐบาลที่เข้าใจ เข้าถึงการแก้ปัญหาในครั้งนี้  เนื่องจากบางโรงเรียนยังขาดแคลนและมีความไม่พร้อมในการดูแล อำนวยความสะดวกผู้สูงอายุ จึงเป็นการดีที่ ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเติมเต็มเพื่อให้การเรียนรู้ศาสนาในบั้นปลายชีวิตเป็นไปอย่างดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. ได้มอบหมายให้ 10 สถาบันปอเนาะนำร่อง ขยายผลการส่งเสริมอาชีพและดูแลผู้สูงอายุสู่ปอเนาะตำบลละ 1 แห่งใน จ.ยะลา ส่วน จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส มอบหมายเจ้าหน้า ศอ.บต. เร่งสรรหาและคัดเลือกสถาบันปอเนาะเพื่อร่วมดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

//////////////////////////////

บุหงา รายา SPMC news รายงาน

 679 total views,  2 views today

You may have missed