จากกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคหัดในจังหวัดยะลา อย่างหนักมาตั้งแต่เดือน กันยายน เป็นต้นมาทำให้มีผู้ป่วยมากถึง 800 กว่าราย และเสียชีวิต 9 ราย สาเหตุของการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว มาจากการไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดของประชาชนส่วนหนึ่ง ทำให้เด็กที่อยู่ในเกณฑ์ตั้งแต่อายุ 9 เดือน ไปจนถึงต่ำกว่า 10 ปี มีการแพร่เชื้อไปอย่างรวดเร็ว ส่วนที่เสียชีวิตทั้งหมดพบว่า ไม่เคยได้รับวัคซีนเลยและผู้ปกครองนำมารักษาตัวที่โรงพยาบาลช้า ทำให้หมอช่วยชีวิตไม่ทัน นั้น
( 25 ต.ค.61 เวลา 09.00 น. ) ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ต.ท่าสาป อ.เมืองยะลา นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็น ประธานพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ โครงการประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยโรคหัด ปีงบประมาณ 2562 (เคาะประตู สู้หัด เร่งฉีดวัคซีน 100%)
นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ประเทศไทย ได้ดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนป้องกัน โรคหัดแก่เด็กอายุ 9 เดือน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2527 และให้วัคซีนป้องกันโรคหัดแก่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อีกเป็นเข็มที่สอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงเป็นวัคซีนรวมโรค หัด หัดเยอรมัน คางทูม(MMR) โดยให้เข็มที่ 1 ในเด็กอายุ 9 – 12 เดือน และเข็มที่ 2 ในเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง – 3 ปี และเก็บตก อีกครั้งในชั้นประถมปีที่ 6 เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2555 ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนเข็ม1และ เข็ม 2 เฉลี่ยทั่วประเทศสูงกว่าร้อยละ 89.59 และ 91.08 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงมีผู้ป่วยโรคหัดรายงานผ่านระบบเฝ้าระวังโรคปีละ 4,000 – 7,000 ราย และยังมีการระบาดของโรคหัดเป็นระยะๆ เนื่องจากปัญหาความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในเด็กยังต่ำในบางพื้นที่ และมีกลุ่มวัยรุ่นวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด เนื่องจากไม่ได้รับวัคซีนในวัยเด็ก แต่หลบรอดการป่วยด้วยโรคหัดในช่วงเวลาที่ผ่านมา มาอยู่รวมกันในสถาบันสถานศึกษาต่างๆ สำหรับจังหวัดยะลา ปีงบประมาณ 2561 ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด(MMR1) ในเด็กอายุ 9-12 เดือน มีความครอบคลุมร้อยละ 77.17. และความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด(MMR2) ในเด็กอายุ 2 ปี ครึ่ง – 3 ปี ร้อยละ 73.20 ซึ่งจะเห็นได้ว่าความครอบคลุมการได้รับป้องกันโรคหัด ในกลุ่มเด็กอายุ 9 – 12 เดือน (MMR1) และในกลุ่มเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง – 3 ปี (MMR2) ต่ำกว่าร้อยละ 95 จึงเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคหัดในพื้นที่จังหวัดยะลา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 23 ตุลาคม 2561 จังหวัดยะลา มีรายงานผู้ป่วย จำนวน 826ราย อัตราป่วยเท่ากับ 183.0 ต่อประชากรแสนคน
ซึ่งพบมีการระบาดมากในอำเภอยะหา บันนังสตา กาบัง ธารโต ตามลำดับ โดยพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยเป็นโรคหัด 515 ราย อัตราป่วย 913.67 ต่อประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แสนคน และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย อัตราป่วยตาย 1.87 ต่อประชากรแสนคน ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา จึงจัดทำโครงการประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยโรคหัด ปีงบประมาณ 2562 (เคาะประตู สู้หัด เร่งฉีดวัคซีน 100%) เพื่อเพิ่มระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดทั้งเข็ม 1 และ เข็ม 2 อย่างน้อยร้อยละ 95 และจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแสเชิญชวน รับบริการวัคซีนในเด็กอายุ 9 เดือน – 5 ปี โดยกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการในทุกอำเภอเชิงสัญลักษณ์ให้ทราบเพื่อดำเนินงานร่วมกัน ในวันนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์ โครงการประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยโรคหัด ปีงบประมาณ ๒๕62 (เคาะประตู สู้หัด เร่งฉีดวัคซีน 100%) ณ ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรม คือ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครองเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประมาณ 400 คน เขตอำเภอเมืองยะลา โดยมีกิจกรรมคือ ปล่อยผ้าแพรลูกโป่ง ปล่อยขบวนรถรณรงค์ให้บริการวัคซีนสู่ชุมชน และ เสวนาหัวข้อ “การรับวัคซีนป้องกันโรคกับหลักศาสนาอิสลาม”
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินฯโรคหัด และประชุมร่วมกับเครือข่าย 8 อำเภอผ่านระบบconference ทุกวัน (08.30 น.- 09.00 น. มาตรการ 323 “ หาให้ครบ ฉีดให้ทัน ” ระดมสรรพกำลังบุคลากรและวัคซีน ลงพื้นที่เชิงรุก ดำเนินการวินิจฉัยโรคให้เร็ว แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ทราบภายใน 3 ชม. เพื่อลงสอบสวนโรค หาผู้สัมผัสโรคให้ครบ ภายใน 2 วัน และดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ผู้สัมผัสโรคอายุต่ำกว่า12ปี ภายใน 3 วัน และมาตรการ “ประชารัฐร่วมใจ เคาะประตูสู้หัด เร่งรัดฉีดวัคซีน 100%” เป็นนโยบายท่านผู้ว่าฯสยบโรคหัดให้ได้ใน 2 สัปดาห์ โดย ให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC)ทุกอำเภอให้นายอำเภอเป็นประธาน สาธารณสุขอำเภอเป็นเลขาและให้ภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ ร่วมดำเนินการ เชิงรุกปูพรม ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้เด็กอายุ 9 เดือน – 5 ปีทุกคน (ยกเว้นเด็กที่รับวัคซีนครบแล้ว) ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์ (วันที่ 22 ต.ค. – 4 พ.ย. 2561)
สถานการณ์ช่วงระบาดโรคหัด จังหวัดยะลา (1 ม.ค.-23 ต.ค.61) จำนวนผู้ป่วย 826 ราย (1 ก.ย..-23 ต.ค.61) จำนวนผู้ป่วย 714 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดคืออำเภอยะหา (162 ราย) รองลงมา อ.บันนังสตา (122 ราย) อ.กาบัง (108 ราย) อ.ธารโต (84 ราย) อ.เมืองยะลา (82 ราย) อ.กรงปีนัง (79 ราย) รามัน(61 ราย) และ อ.เบตง (16ราย) ตามลำดับ เสียชีวิต 9 ราย (อ.กรงปินัง 4 ราย อ.บันนังสตา 2 ราย อ.ธารโต 2 ราย อ.กาบัง 1 ราย) ผู้ป่วยรายใหม่ 18 ราย พื้นที่ที่ต้องดำเนินการและเฝ้าระวังเร่งด่วนในพื้นที่ อ.ยะหา อ.บันนังสตาและอ.กาบัง
///////////////////////////
อับดุลฮาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา รายงาน
1,164 total views, 15 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี