เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

สพป.ยะลา เขต 3 ติดตามโครงการอาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนในสังกัด เน้นการใช้โปรแกรม Thai School Lunch

แชร์เลย

(14 มิ.ย. 2561) นายโกมุท รุยอ่อน รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 พร้อมทีมงาน ได้ลงพื้นที่ตามปฏิทินกำกับติดตามการดำเนินการโครงการอาหารกลางวันนักเรียน ประจำปี 2561 ณ โรงเรียนบ้านเยาะ โรงเรียนบ้านโต และโรงเรียนบ้านจุโป อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนในการจัดรายการอาหารเน้นการใช้โปรแกรม Thai School lunch ให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายและครบตามตารางทุพโภชนาการที่กำหนดไว้ ไม่ต่ำกว่า 200 วัน อาหารเสริมนมโรงเรียนให้มีการตรวจสอบวันหมดอายุ ควบคุมการรับและจ่ายให้ถึงตัวนักเรียน รวมถึงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบเพื่อลดปริมาณขยะของโรงเรียนและให้แนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียนโดยการศึกษาแนวปฏิบัติระเบียบการใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด

นายโกมุท รุยอ่อน รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 กล่าวว่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีนโยบาย ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศลงพื้นที่กำกับติดตามโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนนั้น ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 ได้แบ่งพื้นที่การตรวจกำกับติดตามออกเป็น 12 โซน จำนวน 32 โรง เพื่อตรวจ กำกับติดตามความก้าวหน้าของสถานศึกษาจำนวน 3 เรื่อง เรื่องแรก โครงการอาหารกลางวันของนักเรียน เรื่องที่สอง อาหารเสริมนมโรงเรียน เรื่องที่สาม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน พร้อมทั้งให้แนวทางการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการอาหารกลางวัน และตรวจสอบการรับจ่ายอาหารเสริมนมให้ถึงตัวผู้เรียน ตลอดจนจัดทำโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเพื่อลดปริมาณขยะ สามารถนำขยะไปรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้านนายประสิทธิ์ เรืองหิรัญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโต เผยว่า สำหรับการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันได้ควบคุมตั้งแต่เด็กอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น เน้นให้ครูผู้รับผิดชอบดูแลโภชนาการเป็นหลัก คำนึงถึงคุณภาพความเพียงพอกับจำนวนนักเรียน มีการจัดทำรายการเมนูอาหารเป็นรายวันหมุนเวียนตามโปรแกรม Thai school lunch ที่กำหนด นอกจากนี้สิ่งที่มาเสริมอาหารกลางวันโรงเรียนได้จัดโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เช่น มีการปลูกผักสวนครัว ผลไม้ ที่เป็นประโยชน์กับนักเรียน โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการดูแล การทำความสะอาดโรงอาหาร อุปกรณ์การใช้ และปัญหาที่พบจากการดำเนินการงบประมาณที่โรงเรียนได้รับจัดสรรสิ่งใดบ้างที่โรงเรียนสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการงบประมาณ 20 บาทต่อหัวต่อคน นอกจากค่าอาหารกลางวันของนักเรียน สามารถที่จะดำเนินการจ้างแม่ครัว จัดซื้ออุปกรณ์การประกอบอาหารได้หรือไม่อย่างไร อยากฝากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดแนวทางปฏิบัติการใช้จ่ายงบประมาณหรือเงินเหลือจ่ายที่ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของโรงเรียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและถูกต้องอีกด้วย

อาดีนันท์ มะลี อ.เบตง จ.ยะลา รายงาน

 826 total views,  2 views today

You may have missed