พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ตลาดแปรรูปทุเรียน ได้ผลตอบรับดี สร้างรายได้เกษตรกร จชต. ต่อเนื่อง ขณะที่ ศอ.บต. พอใจการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นผลเป็นรูปธรรม

แชร์เลย

25 ส.ค. 2564 พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงพื้นที่ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจการแปรรูปและตลาดทุเรียน กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งมีการรับซื้อและแปรรูปทุเรียนเพื่อส่งออกประเทศจีนเป็นปีแรก (2564) สามารถยกระดับตลาดทุเรียนในพื้นที่ให้มีราคาสูงขึ้น โดยทุเรียนหมอนทองเกรด A-B รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 85 บาท ตกเกรด 55 บาท และทุเรียนมีรู ราคา 35 บาท
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกในการเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของการแปรรูปทุเรียน โดยเฉพาะการเกิดโรงงานแปรรูปอีกโรงงานหนึ่งจากคนในพื้นที่ที่เป็นเกษตรกรโดยแท้จริง อย่างศูนย์บ่มเพาะธุรกิจการแปรรูปและตลาดทุเรียน สามารถยกระดับตลาดทุเรียนในพื้นที่ให้ก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง โดยแปรรูปทุเรียน ตกเกรด ทุเรียนมีรู มีหนอน แบ่งแยกเนื้อทุเรียนเพื่อแช่แข็งส่งออกให้มีราคา ส่งผลให้ทุเรียนตกเกรดที่เคยไม่ได้ราคา สามารถมีมูลค่าได้ทุกเม็ด โรงงานนี้ถือเป็นผลงานของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนมาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรทุเรียนในพื้นที่ และประชาชนในละแวกเฉลี่ยวันละ 500-600 บาท อย่างไรก็ตามการเข้าเยี่ยมโรงงานในวันนี้ เพื่อยกระดับให้ศูนย์บ่มเพาะฯแห่งนี้สามารถดำเนินงานได้ครบวงจร นอกจากนี้ ฝากถึงเกษตรกรในพื้นที่ว่า อาชีพเกษตรจะยั่งยืนและมั่นคงได้หากเกษตรกรเป็นเกษตรกรยุคใหม่ มีความรู้ สามารถสร้างมูลค่าผลผลิตให้มีราคาและเป็นที่ต้องการของตลาดได้


ด้านนางเพ็ณนุรัต โพธิโพ้น ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร กล่าวว่า โรงงานมีการจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพมูลค่าสินค้าเกษตร โครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน สร้างโรงงานแปรรูปผลผลิตทุเรียนในรูปแบบ Freeze dried เพื่อส่งออก และส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทุเรียนและผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ 22 กลุ่ม ศูนย์คัดแยก 17 จุด และมีแปลงทุเรียนแปลงใหญ่ 19 แปลง เป็นเครือข่ายในการส่งทุเรียนมาจำหน่าย นอกจากนี้สามารถสร้างงานและรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ โดยส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อทุเรียนใน 5 จังหวัดมาส่งโรงงาน อีกส่วนหนึ่งเข้ามาทำงานในโรงงาน สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 600 บาท อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรที่ประสงค์จะจำหน่ายทุเรียนพันธุ์หมอนทองสามารถเข้ามาส่งจำหน่ายที่โรงงานได้ เนื่องจากโรงงานให้ราคามากกว่าท้องตลาด 3-5 บาท อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งโรงงานเป็นส่วนหนึ่งในการประกันราคาแก่เกษตรกรทุเรียนได้ว่า ราคาทุเรียนจะไม่ตกต่ำถึงขีดสุด เนื่องจากโรงงานสามารถแปรรูป เพื่อจำหน่ายและส่งออกได้


ภาพ/ข่าว
อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา

 4,919 total views,  4 views today

You may have missed