เมษายน 27, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

“กมลศักดิ์” ส.ส.นราธิวาสน้อยใจรายงาน กมธ.ศึกษาแนวทางส่งเสริมชาติพันธุ์ฯ ไม่ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์มลายู ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ในประเทศไทย

แชร์เลย

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ (ทนายแวยูแฮ) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายในญัตติรายงานผลการศึกษาเรื่องพิจารณาศึกษา และแนวทางส่งเสริม คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร

กมลศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มลายู แต่รู้สึกเสียใจ และน้อยใจที่การศึกษาของคณะกรรมาธิการ ตั้งแต่ปี 2562 ทั้งการศึกษาดูงาน มีการศึกษาดูงานเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือเท่านั้น แต่ไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับชาติพันธุ์มลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย รายงานฉบับนี้จึงยังศึกษาไม่ครอบคลุม ความรู้สึกน้อยใจของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้สะสมมาต่อเนื่อง ตนเป็น ส.ส.ในพื้นที่ยังมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ และตรงกับที่กรรมาธิการต้องการศึกษา ความรู้สึกนี้สะสมมายาวนาน ตั้งแต่ถูกปกครอง และมีปัญหาระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองมาโดยตลอด เพราะปัญหาการไม่ให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน

กมลศักดิ์ กล่าวว่า กรรมาธิการท่านหนึ่งได้ชี้แจงโดยกล่าวถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 70 คือทุกกลุ่มชาติติพันธ์ต้องได้รับการคุ้มครองสามารถปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาของตนเองได้ ขอเรียนว่า ไม่อยากให้คำว่าชาติพันธ์ุเป็นเพียงนามธรรมอยากให้มีความสำคัญเป็นรูปธรรมชัดเจนและมีการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งหากกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธ์ุมลายูแล้วจะโยงไปถึงเรื่องศาสนา และภาษา ซึ่งถูกมองในมิติความมั่นคงไปแล้ว การไม่ให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกันต่อผู้ถูกปกครอง ยังคงเป็นปัญหาต่อกลุ่มชาติพันธุ์มลายู หากเปรียบเทียบด้านการศึกษาแล้วกลุ่มชาติพันธุ์มลายูมีตัวชี้วัดต่ำที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งเศรษฐกิจและรายได้ต่อครัวเรือน น่าเสียดายที่กรรมาธิการไม่ได้ศึกษาปัญหาเหล่านี้ ซึ่งกลุ่มชาติพันธ์ุมลายูจะต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ แต่ตราบใดที่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 กลุ่มชาติพันธุ์มลายูก็ต้องได้รับการคุ้มครอง เช่น เรื่องอาหารกลางวันโรงเรียนตาดีกา ส.ส.พรรคประชาชาติเรียกร้องมาตลอดว่ารัฐต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาจริยธรรมที่มีอยู่และไม่เหมือนใคร ที่จะต้องเรียนตาดีกาที่มัสยิดทุกวันเสาร์อาทิตย์ บางแห่งครูต้องเลี้ยงปลาหรือเก็บขวดพลาสติกขายเพื่อนำมาเป็นค่าอาหารกลางวันให้เด็กๆ

กมลศักดิ์ กล่าวอีกว่า มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามเอาประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์มลายูและศาสนาอิสลามไปปลุกปั่นสร้างความขัดแย้ง ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติต้องสนใจประเด็นปัญหาเหล่านี้ หากปล่อยให้มีการปลุกปั่นยุยงสร้างความขัดแย้งด้วยข้อมูลเท็จแล้ว สะสมนานขึ้นอาจจะไม่ใช่แค่เป็นปัญหาความไม่สงบ เพราะผู้ไม่หวังดีกลุ่มหนึ่งได้สร้างประเด็นให้แปลกแยกออกจากประเทศไทย สร้างความเกลียดชังต่อผู้คนชาติพันธ์ุมลายูและศาสนาอิสลามในสื่อสังคมออนไลน์ จึงขอให้คณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ให้ครอบคลุม และหน่วยงานต่างๆต้องดูแลเรื่องเหล่านี้ ให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีสิทธิ์ที่เสมอกัน

หมายเหตุฟังคลิปย้อนหลังใน
https://fb.watch/2rUMCI4KJp/

อนึ่งข้อสังเกตของสส.กมลศักดิ์ สอดคล้องกับข้อกังวล ตัวแทนภาคประชาสังคมซึ่งสะท้อนต่อคณะประสานงานระดับพื้นที่ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันมีแม่ทัพภาคที่ 4 คนเดิม มีปีพ.ศ. 2562 (อ่านเพิ่มเติมในบทความhttps://www.matichonweekly.com/special-report/article_254753)

 837 total views,  2 views today

You may have missed