เมษายน 28, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

รอง ผวจ.หญิงยะลา พบผู้นำศาสนากรรมการอิสลามยะลา เครือข่ายผู้หญิงฯ มอบนโนบายช่วยเหลือเด็ก และสตรี

แชร์เลย

spmc ยะลา รายงาน..

(3 พ.ย) นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างเครือข่ายผู้หญิงกับ คณะกรรมการอิสลามและหน่วยงานภาครัฐ ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา โดยมี ดร.สะมะแอ ฮารี ประธานกรรมการอิสลามให้การต้อนรับ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสร้างความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสลามจังหวัดและองค์กรภาครัฐในการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือโครงการ VAW

นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวให้กำลังใจและมอบนโยบายแก่กลุ่มเครือข่ายสตรี คณะกรรมการอิสลามที่ได้ช่วยกันทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสตรี เยาวชน เด็ก ในพื้นที่ปัจจุบันพบว่ามีปัญหาเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง รวมทั้งปัญหา ยาเสพติด การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ให้ความเป็นธรรมกับผู้หญิงได้โดยร่วมกันทำงานกับผู้นำศาสนาและประสานส่งต่อกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในวันนี้ก็ได้เชิญพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา บ้านพักเด็กจังหวัดยะลา สำนักงานยุติธรรมจังหวัดยะลา และผู้แทนจากหน่วยงานความมั่นคงศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า

นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์เคสของศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี ณ สนง.กรรมการอิสลามยะลาว่า จากการที่ได้ดำเนินโครงการฯมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 พบว่า มีสถิติผู้หญิงมาใช้บริการขอคำปรึกษา ความช่วยเหลือ ร้องความเป็นธรรมเรื่องปัญหาครอบครัว มรดก สินสมรส จำนวน 1,208 ราย ในจำนวนนี้มีผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 200 ราย พบว่ามีผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกาย 46 คน(23%) และในปี 2563 มีจำนวน 1,983 ราย ในจำนวนนี้มีผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 377 รายพบว่ามีผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกาย 150 คน(39.8%)


ทางโครงการ vaw ได้นำเสนอความเห็นที่เป็นข้อเสนอแนะในทางปฎิบัติและเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการปกป้องคุ้มครองเด็ก สตรี ที่ประสบปัญหาความรุนแรงอย่างยั่งยืน เช่น
1.ระบบการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของจังหวัดมีช่องว่างทุกจุด ตั้งแต่การป้องกัน การคุ้มครองสิทธิ และการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และโควิด 19 มีแนวโน้มเพิ่มอัตราความรุนแรงต่อผู้หญิงในพื้นที่ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม และมีทุนทางศาสนาวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องต่อยอด เพราะได้ผลกว่ารัฐทำเอง แต่ให้มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลทางสังคมร่วมกับเครือข่ายผู้หญิง และเป็นการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงในการเป็นผู้นำท้องถิ่น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิด ระบบป้องกันและคุ้มครอง รัฐต้องสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์ผู้หญิงให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิง ในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 3 จังกวัด เพื่อเป็นข้อต่อระหว่างอิสลามจังหวัดกับสหวิชาชีพตาม พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว
2.ขยายชุมชนต้นแบบทั้งสามจังหวัด แกนนำผู้หญิงที่อบรมแล้วมีบทบาทดึงความร่วมมือหลายภาคส่วนในชุมชนได้จริง การลดจำนวนการใช้บริการที่อิสลามจังหวัดได้ จะเพิ่มประสิทธิภาพของฝ่ายไกล่เกลี่ยอิสลามจังหวัดในการคุ้มครองและเรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงได้ตามที่กำหนดในหลักศาสนา และทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายไทยควบคู่กันไป
3. กองทุนผู้หญิง สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้รอผลฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดู เป็นกองทุนหมุนเวียน
4.กฎหมายอิสลามเมื่อนำมาใช้ในบริบทปัจจุบันขาดความละเอียดอ่อนต่อสถานะผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก รวมถึงรูปแบบความรุนแรงซับซ้อนขึ้น จึงควรสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายอิสลามอย่างเร่งด่วน จำเป็นต้องมีผู้แทนหญิงที่ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ตรงในเข้าร่วมการปรับปรุงด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งหญิงและชายมีความทัดเทียมกันในการเข้าถึงความยุติธรรม

ทั้งนี้กลุ่มเครื่อข่ายผู้หญิงมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการอิสลาม
1.สนับสนุน กกอ. ในการดำเนินการปรับปรุงการบริการที่เป็นมิตรกับผู้หญิง มีมาตรฐานเดียวกัน
2.การแยกอยู่โดยไม่ให้รับค่าเลี้ยงดูกรณีวินิจฉัยว่าสามีเป็นผู้ผิดสัญญาการแต่งงาน สามีควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าเลี้ยงดูภรรยาและลูกระหว่างแยกอยู่รอการหย่าและหลังการหย่า หากไม่มี ควรให้ทำสัญญากู้ และผู้หญิงสามารถรับเงินเยียวยาจากรัฐหรือกองทุนซะกาดก่อนเพื่อไม่ให้คุณภาพชีวิตผู้หญิงและลูกตกต่ำ
3.พยาน มีความยุ่งยากในการหาพยาน เวลาผู้หญิงมีปัญหาในครอบครัว(สามี) มักจะไม่บอกใคร คนในครอบครัวเป็นพยานไม่ได้อีก คำให้การของผู้หญิงเองน่าจะเพียงพอ หรือยกเลิกการมีพยานเพราะมีอิหม่ามเป็นผู้รับรองเหตุการณ์แล้วผู้หญิงควรมีสิทธิตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง เช่นเดียวกับการแต่งงานที่หลักการอิสลามเห็นควรว่าผู้หญิงต้องยินยอมแต่งงาน
4.ไม่มีฐานข้อมูลทะเบียนสมรสทำให้อิหม่ามตรวจสอบการแต่งงานแล้วไม่ได้ และไม่สอบถามความพร้อมในการให้ความเป็นธรรมตามหลักศาสนาก่อนสมรสคนใหม่ หากอนุญาตการแต่งงานมากกว่าหนึ่งคนในจังหวัดชายแดนใต้โดยแตกต่างจากพลเมืองทั่วไป จำเป็นต้องกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้หญิงที่ปฏิบัติได้จริง ด้วยการเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนสมรส เพื่อสนับสนุนการปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้หญิง อิหม่ามที่จัดการแต่งงานต้องสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบการแต่งงานแล้วและซักถามความพร้อมในการทำหน้าที่และการให้ความเป็นธรรมตามหลักศาสนา บันทึกในสัญญาการแต่งงาน ใช้เป็นหลักฐานหากมีการละเมิด
5.การไกล่เกลี่ยในกรณีทำร้ายร่างกาย อิหม่ามควรมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายไทย แนะนำให้ผู้หญิงไปแจ้งความกับตำรวจ เพราะการทำร้ายร่างกายผิดกฎหมายไทยและรณรงค์ให้ตำรวจในพื้นที่ต้องรู้หน้าที่และรับแจ้งความ
6.ขั้นตอนและเกณฑ์การไกล่เกลี่ยคืนดีโดยเฉพาะกรณีที่มีการทำร้ายร่างกาย จำเป็นต้องมีความชัดเจนและปฏิบัติได้โดยอิหม่าม เพื่อลดความเสี่ยงของผู้หญิงถูกทำร้ายซ้ำ อิหม่ามควรให้ข้อมูลกับผู้หญิงในการเดินทางมา กกอ. ด้วยความพร้อม เพื่อลดการเสียเวลาและเสียโอกาสรายได้ เพราะผู้หญิงจำนวนมากรายได้น้อย เสนอให้ยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมการฟ้องหย่าสำหรับผู้หญิงรายได้น้อย

ดร.สะมะแอ อารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวในข้อเสนอของกลุ่มดังกล่าวว่า ทุกเรื่องที่กลุ่มเสนอมานั้น ทางคณะกรรมการอิสลามได้ปฏิบัติกันมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็พยายามทำงานต่อไป บางเรื่องประสบความสำเร็จและบางเรื่องเป็นความดื้อของประชาชนเอง ที่ไม่ยอมปฎิบัติตามกฏเกณฑ์ของศาสนา ทั้งนี้อยากฝากถึงกลุ่งเสริมพลังสตรีว่าปัญหาหลักก็เกิดจากทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีพื้นทางศาสนาจึงเกิดปัญหาต่างๆที่ตามมา และเจ้าหน้าที่กรรมการอิสลามก้เหมือนเสือกระดาษ มีอำนาจเต็มแต่ใช้การไม่ได้ในกฏหมายบ้านเมือง

ทีมข่าว SPMcnews / ยะลา

 769 total views,  2 views today

You may have missed