พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

SCOOTER VESPA BETONG TEAM บุกดงพงไพร มอบถุงยังชีพให้ “โอรังอัสลี” หลังจากหลีกเลี่ยง ป้องกันตนเองเข้าป่าลึก จากการแพร่ระบาดโควิด-19 จากคนในชุมชน

แชร์เลย

Betong news รายงาน..


(23มิ.ย.63) นายซูไฮมี มีนา ผู้ช่วยเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ได้นำสมาชิกกลุ่ม SCOOTER VESPA BETONG TEAM เดินทางไปมอบถุงยังชีพพร้อมสัมผัสวิถีพงไพรของกลุ่มโอรังอัสลี ที่บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา โดยก่อนหน้านี้ หัวหน้ากลุ่มโอรังอัสลีได้พาลูก หลาน หนีเข้าไปในป่าลึกเป็นการชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะชาวบ้าน ป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จากคนในชุมชน


นายซูไฮมี มีนา ผู้ช่วยเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เล่าว่า กลุ่มโอรังอัสรี อาศัยอยู่ป่าลึกเขตอุทยานแห่งชาติบางลางและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อำเภอธารโต อำเภอเบตง จังหวัดยะลาและอำเภอจะแนะ จ.นราธิวาส ส่วนกลุ่มโอรังอัสรี ในพื้นที่บ้านนากอ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา แห่งนี้ เป็นชุมชนที่มีสมาชิก กว่า 40 คน สร้างกระท่อมเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ตัดหญ้า กรีดยาง ตัดทุเรียน ซึ่งบางคนสามารถพูดภาษามาลายูได้คล่องแคล่วและสามารถพูดภาษาไทยกลางในระดับที่สื่อสารกันได้


นายซูไฮมี เล่าอีกว่า เมื่อก่อนชาวอัสลีจะขุดหัวมันกิน แต่ระยะหลังพอเริ่มติดต่อกับชาวบ้านมากขึ้น จึงเริ่มเปลี่ยนมากินข้าว หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งปัจจัยหนึ่งก็เนื่องจากการที่ในป่ามีแหล่งอาหารน้อยลง เพราะพื้นที่ป่าถูกบุกรุกมากขึ้น ประกอบกับจำนวนของประชากรอัสลีที่เพิ่มขึ้น ทำให้อาหารขาดแคลน ทุกวันนี้ได้พยายามปลูกฝังเรื่องการรักษาป่าให้กับกลุ่มโอรังอัสลี ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ โดยจะคอยสอดส่องคนที่ลักลอบตัดต้นไม้ และไม่อยากให้คนภายนอกรุกล้ำเข้าไปในโลกของเขา ที่หมายถึงไม่อยากให้คนบุกรุกเข้าไปตัดป่า เพราะป่าคือบ้านของเขา โดยเขาสัญญาว่าจะช่วยรักษาป่าให้ดี นอกจากนี้อยากให้คนภายนอกเปิดใจยอมรับชาวอัสลี หรือโอรังอัสลีว่าเป็นคนเหมือนกับเรา และที่สำคัญ อย่าเรียกคนกลุ่มนี้ว่า เงาะป่า หรือ ซาไก เพราะเป็นคำเรียกที่เหมือนเป็นการดูถูกพวกเขา คำว่า “โอรัง” เป็นคำมลายู หมายถึง คน “อัสลี” หมายถึงดั้งเดิม จึงอยากให้เรียกว่าโอรังอัสลีมากกว่า เพราะพวกเขาเป็นคนดั้งเดิมที่มาอยู่ที่นี้ก่อนพวกเราอีก ซึ่งการใช้ชีวิตของคนอัสลีทำให้คนภายนอกผืนป่าอย่างเราได้เห็นว่า การที่พวกเขาอยู่ในป่านั้น ไม่มีเงิน เขาก็อยู่ได้ เพราะใช้ชีวิตเรียบง่ายและพอเพียง คนอยู่ในเมือง หากไม่มีเงินก็คงจะอยู่ไม่ได้ และถึงแม้ ในปัจจุบันคนอัสลีจะเริ่มมีการรับวัฒนธรรมคนภายนอกเข้าไปปรับใช้บ้าง แต่ก็ยังรักษาวิถีประเพณีของตนเอาไว้ได้อย่างเข้มแข็ง เช่น การใช้ชีวิตเป็นครอบครัว เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าชมเชยอย่างยิ่งของกลุ่มชนกลุ่มดั้งเดิมกลุ่มนี้


ด้านพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ (โอรังอัสลี) ซึ่งอยากให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความสำคัญกับกลุ่มเหล่านี้ ทั้งในด้านของสุขภาวะ ด้านการศึกษา การส่งเสริมอาชีพให้มีที่ดินทำกิน ซึ่งอาจจะเกิดจากความเชี่ยวชาญ ความสามารถเฉพาะตัว อาทิ การทำเครื่องประดับ การทำยาสมุนไพร การทำอาวุธที่ใช้ป้องกันตัวเอง เพื่อนำไปเป็นสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นจากกลุ่มโอรังอัสรี สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวของเขาได้ โดย ศอ.บต. จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (โอรังอัสลี) จะมีการขับเคลื่อน และบริหารจัดการในรูปแบบของนิคมสร้างตนเอง สนับสนุนด้วยการจัดสรรที่ดิน ชั่วคราว ให้สามารถมีพื้นที่ทำกิน เลี้ยงดูตนเองและประชากรในกลุ่มได้ สนับสนุนให้เข้าถึงการบริการของรัฐด้านต่าง ๆ ด้วยการออกบัตรรับรองสถานะเพื่อยืนยันตัวตนชั่วคราว ซึ่งมีจำเป็นอย่างยิ่ง ที่กลุ่มเหล่านี้ควรจะได้รับการดูแลสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เพื่อการดำรงชีวิต เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่ให้ตรงตามความเหมาะสมของกลุ่ม การเข้าถึงวัคซีนที่จำเป็นแก่เด็ก รวมถึงการบริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น

/////////////////////////////////////////////////////

 804 total views,  2 views today

You may have missed