วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 11.00 น. Mr.salin mutlu sen เอกอัครราชฑูตคณะผู้แทนถาวรตุรกีประจำ OIC และคณะ ที่เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตรวจเยี่ยมการดำเนินกรรมวิธีในการออกสัญชาติให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ณ ศูนย์พัฒนาและฝึกอาชีพ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 โดยมี พลโท ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และคณะให้การต้อนรับ
สำหรับการดำเนินงานโครงการพาคนกลับบ้านครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้นโยบายของ พลโท ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 มุ่งเน้นเชิงคุณภาพ เป็นประการสำคัญ ต้องการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ตรงจุด และทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มความสามารถ เพื่อต้องการให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐออกมารายงานตัวแสดงตน ทั้งนี้เห็นว่าผู้เห็นต่างจากรัฐจำนวนมาก ต้องการยุติบทบาทการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรง และ หันกลับมาร่วมมือกับรัฐ จากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐและเคยต่อสู้กับรัฐที่หลบหนีออกจาก ภูมิลำเนา อยากกลับมาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม อยู่ร่วมกับครอบครัวและมาร่วมพัฒนาพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ดำเนินการรับรายงานตัวบุคคลที่หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ประสงค์เข้าโครงการพาคนกลับบ้าน ที่หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นแนวร่วมกลุ่มพูโล และ บีอาร์เอ็น โดยได้เข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพนธ์ 2561 โดยจัดที่พักรองรับ ณ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน ที่ 44 อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกรรมวิธีของโครงการพาคนกลับบ้านตามนโยบาย ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่มุ่งเน้นเชิงคุณภาพเป็นประการสำคัญ โดยภายหลังเข้าร่วมโครงการ ทางหน่วยได้ดำเนินกรรมวิธีในการออกสัญชาติให้กับผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ในห้วงที่ผ่านมา รวม96 ราย ขณะนี้ได้ทำการพิสูจน์สัญชาติและออกบัตรประจำตัวประชาชนแล้วจำนวน 37 ราย
Mr.salin Mutlu sen เอกอัครราชฑูตคณะผู้แทนถาวรตุรกีประจำOIC กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น OIC ในฐานะประเทศมุสลิมมีความห่วงใยสภาพความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมในประเทศไทยอยากให้พี่น้องชาวมุสลิมในประเทศไทยอยู่อย่างมีความสุขและรู้สึกดีใจที่ได้ลงพื้นที่มาดูการดำเนินงานโครงการที่นำ ผู้เห็นต่างกลับมายังประเทศไทย ขอให้การดำเนินโครงการนี้สำเร็จ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี ขอชื่นชมรัฐบาลไทย ที่ให้การดูแลพี่น้องมุสลิมเป็นอย่างดี ซึ่งทาง OIC พร้อมที่จะรับฟังแนวทางจากรัฐบาลไทยว่ามีนโยบายอะไรในการพัฒนาและจะดูแลความสงบสุขชาวมุสลิมในประเทศไทยอย่างไร และขอให้พี่น้องชาวมุสลิมให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลไทย ในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป ในฐานะประเทศมุสลิมด้วยกันก็ไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรง และอยากให้อยู่ด้วยกันอย่างสันติต่อไป
นายรอแม กาซอ ผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ได้กล่าวแสดงความรู้สึกต่อการเข้าร่วมโครงการว่า โครงการพาคนกลับบ้านเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผมได้กลับบ้าน ผมยังคิดเสมอว่าอยากกลับประเทศไทย จนประสานผ่านทางแม่ทัพภาคที่ 4 โดยแม่ทัพให้ทหารพรานกรม 4 4 เดินทางไปรับที่ท่าเรือ ครั้งแรกที่ได้เหยียบแผ่นดินน้ำตา เหมือนจะไหลคิดในใจเราได้กลับบ้านจริงๆ การต้อนรับ ที่อยู่ที่พัก รอยยิ้มความเป็นกันเองของทุกคนที่นี่ประเทศไทยที่ผมรัก เจ้าหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือทุกเรื่องจนตอนนี้สิ่งที่ผมต้องการมาตลอดก็เป็นจริงนั้นก็คือบัตรประชาชน ผมคือ คนไทยประชาชนของในหลวงและทุกคนที่นี่คือคนไทยลูกหลานในประเทศไทยเป็นคนถูกกฎหมายมีสัญชาติไทยพร้อมกับพ่อลูก โลกของเราจะกลับมาพัฒนาประเทศชาติไทยต่อไป
ด้านพลโท ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการพาคนกลับบ้านได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และได้รับการตอบรับจากผู้เห็นต่างจากรัฐมากยิ่งขึ้น ทำให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อภาครัฐ และเปลี่ยนอุดมการณ์วางอาวุธและหันมาสู่กระบวนการตามแนวทางสันติวิธี ทั้งนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า จะยังคงมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ เพื่อมอบโอกาสและมอบชีวิตใหม่ให้กับครอบครัวของผู้ที่เคยหลงผิดให้กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว และร่วมกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับมาสงบสุขอีกครั้ง
ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่ ตลาดพิมลชัย จังหวัดยะลา นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มอบหมายให้ พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สำนักการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ศอ.บต. ร่วมต้อนรับ Mr.Salih Mutlu Sen เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสาธารณรัฐตุรกี และคณะสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม OIC (Organization of Islamic Cooperation) ในการเดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมพบปะคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา
โดยในเวลา 13.30 น. คณะสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation) ได้เดินทางไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมีนายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมคณะผู้บริหารของ ศอ.บต. พลโทชินวัฒน์ แม้นเดช ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ เพื่อรับทราบข้อมูลและร่วมฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานและภารกิจของ ศอ.บต.
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของ ศอ.บต. นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้ความรุนแรง ในพื้นที่ สนับสนุนแนวทางโดยสันติวิธี นอกจากนี้ทางเลขาธิการ ศอ.บต.ได้กล่าวถึงประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนในเรื่องของการศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งด้านสามัญและด้านศาสนา โดยภาครัฐมีการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษามาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงปริญญาตรี ตลอดจนด้านการให้ความช่วยเหลือเยียวยาในทุกกรณี อย่างทันที ทั่วถึง และเท่าเทียม รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อให้คนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้านความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทางรัฐบาลไทยได้ใช้แนวทางในการพูดคุยโดยสันติ เพื่อให้กลุ่มผู้ที่เห็นต่างได้กลับตัวและใช้ชีวิตอย่างสันติสุขต่อไป
H.E. Salih Mutlu Sen เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรตุรกีประจำ OIC กล่าวว่ากระผมรู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนสอนทางศาสนาอิสลาม หากแต่นักเรียนเหล่านั้นควรเข้าใจและตระหนักถึงหลักการทางศาสนาด้วย นั่นคือพระผู้เป็นเจ้าได้สร้างให้พวกเราตระหนักและมีความเชื่อตามหลักวิทยาศาสตร์ การประกอบอาชีพ รวมถึงการมีทักษะในการทำงาน อย่างเท่าเทียมควบคู่กับการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม เพื่อที่นักเรียนจะได้เข้าใจถึงการศึกษาทั้งสองรูปแบบ นั่นคือการศึกษาตามหลักศาสนาอิสลาม เช่นการท่องจำอัลกุรอาน ควบคู่กับการศึกษาด้านอื่นๆ เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เคมี คณิตศาสตร์ และ มุ่งเน้นถึงทักษะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ Dr.Hassan Abedin ผู้อำนวยการกองมุสลิมชนกลุ่มน้อย สำนักเลขาธิการ OIC ได้ฝากถึงพี่น้องมุสลิมในประเทศไทยว่า มุสลิม มีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งความศรัทธา และความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ มีจิตสาธารณะ เช่น ทุ่มเทเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ทุ่มเทเพื่อผู้อื่น ทุ่มเทเพื่อความเป็นมวลมนุษยชาติ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ในฐานะมุสลิม ในการใส่ใจดูแลเพื่อนบ้านและผู้อื่น รวมถึงการใส่ใจต่อกันโดยการขอพรให้กันและกันเพื่อความเจริญรุ่งเรืองสืบไป
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ ทางคณะฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมอุทยานการเรียนรู้ TK Park ซึ่งเป็นต้นแบบห้องสมุดสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย
นายอับดุลฮาดี เจ๊ะยอ (รพี มามะ บรรณาธิการข่าว) SPMCNEWS รายงาน
1,072 total views, 4 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี