อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา รายงาน..
( 6 พฤษภาคม 2563 ) ที่บริเวณหน้าอาคารโรงพยาบาลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา นายแพทย์สรรพสิทธิ์ ศรีแสง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ได้ทำการรับมอบห้องคัดกรอง และห้องตรวจเชื้อพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย ได้สนับสนุนด้านการขนส่งจากกรุงเทพมหานคร นำมาติดตั้งยังโรงพยาบาลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้ง “กองทุน ชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ )” เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19
ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2563 ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนาใช้งบประมาณจาก“กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 ฯ” จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น โดยเริ่มด้วยการจัดหาเครื่องมือป้องกันให้บุคลากร ทางการแพทย์ก่อน เพราะบุคลากรทางการแพทย์เปรียบเสมือนหน่วยหน้าและเป็นกำลังหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย จึงได้พระราชทาน ห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อ แก่โรงพยาบาล โดยทรงให้จัดรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล โดยในลำดับแรกได้พระราชทานแก่โรงพยาบาล 4 แห่ง ตามภูมิภาคต่างๆ คือ โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต ปทุมธานี โรงพยาบาล ศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา โดยห้องคัดกรองและตรวจเชื้อนี้เป็นนวัตกรรมของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และได้รับความร่วมมือจากจากกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย ให้การสนับสนุนด้านการขนส่ง
มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการส่งมอบ ห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อ พระราชทาน ไปแล้วจำนวน 2 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ และ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อที่แบบมาตรฐาน อย่างละ 3 ห้อง แยกอยู่นอกอาคารโรงพยาบาลต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทาน ห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อ เพิ่มเติมแก่โรงพยาบาล 5 แห่งในเขตพื้นที่ภาคใต้ คือ โรงพยาบาลนาหม่อม จังหวัดสงขลา โรงพยาบาลท่าแพ จังหวัดสตูล โรงพยาบาลทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลบันนังสตา จังหวัดยะลา และโรงพยาบาลรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งห้องคัดกรองนี้จะเป็นลักษณะเดียวกับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา คือ ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่
สำหรับห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber) ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการตรวจวินิจฉัย สำหรับใช้ตรวจวินิจฉัย (Swab) โดย ไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ออกแบบเป็นทรงกระบอก แนวตั้งสำหรับผู้ป่วย 1 คน ต่อ 1 ห้อง ใช้ระบบปรับความดันอากาศที่สามารถกำหนดก่อนติดตั้งได้ว่า จะให้เป็นห้องความดันลบหรือบวก โดยจะเลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งานของแพทย์ คือ ความดันลบ เมื่อต้องการตรวจเชื้อ โดยแพทย์อยู่ ด้านนอก เหมาะกับการตรวจผู้ป่วย PUI (Patient Under Investigation) สำหรับใช้งานภายในอาคาร ความดันบวก เมื่อต้องการตรวจเชื้อโดยแพทย์อยู่ด้านใน เหมาะกับการใช้งานกับคนไข้นอก (OPD) ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ควรติดตั้งภายนอกอาคารที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี โดยอากาศที่ไหลเข้าหรือออกจากห้องจะถูกกรองผ่านเครื่องกรองเชื้อ โรคระดับ HEPA สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก เช่น PM2.5 PM1 รวมถึงแบคทีเรียและไวรัส จึงปลอดภัยต่อแพทย์และเจ้าหน้าที่
โดย 1 ชุดประกอบด้วยห้องตรวจเชื้อ จำนวน 3 ห้อง สามารถส่งอุปกรณ์การตรวจผ่านช่องด้านหน้า โดยใช้ระบบ Pass Box ที่เป็นซิป 2 ชั้น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ทางเข้าเป็นซิปรูดสำหรับการเปิด-ปิด สะดวกต่อการใช้งาน ด้านหน้าเจาะช่องและปิดด้วยพลาสติกใส เพื่อให้แพทย์และพยาบาลมองเห็นและสื่อสารกับผู้ป่วยได้ มีช่องเพื่อสอดมือสำหรับทำหัตถการได้จากทั้งภายในและภายนอกตามการติดตั้งระบบความดันอากาศ อีกทั้งสามารถติดตั้งได้ง่ายและเคลื่อนย้ายสะดวก ซึ่งมีความเหมาะสมกับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา
1,315 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี