พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

วชช.นราธิวาส ทำข้อตกลง MOU เรือนจำนราธิวาส เพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการและทักษะอาชีพให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ

แชร์เลย

 

วันนี้ (31 ม.ค. 61) นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการนราธิวาส ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) และพิธีเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรขนมอบเพื่อการค้า ให้แก่ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส

ซึ่งการลงนาม MOU ในวันนี้ (31 ม.ค. 61) มีนายยุทธนา พรหมณี ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส และนายสมพงศ์ สนิทมัจโร ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ร่วมลงนามใน MOU เพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการ และการพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ โอกาสเดียวกันนี้นายยะยาห์ ปะนาฆอ นายอำเภอเมืองนราธิวาส นางดวงจันทร์ ทองขาว ยุติธรรมจังหวัดนราธิวาส ร่วมเป็นเกียรติในพิธีด้วย

 

นายทวีบุญ เชาวะเจริญ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส สำนักส่งเสริมการวิจัยและอาชีพ รับผิดชอบงานหลักสูตรประกาศนียบัตรวิทยาลัยชุมชน กล่าวว่า สืบเนื่องจากวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของกลุ่มคนจำนวนมากที่พ้นจากการรับโทษทัณฑ์จากการเป็นผู้ต้องขังแล้ว พบว่าไม่มีอาชีพรองรับ ไม่มีผู้ใดให้โอกาสในการทำงาน อาจทำให้คนกลุ่มนี้ต้องหันกลับไปทำความผิดอีก เพราะไร้ทางเลือก ไร้อาชีพ และไร้ผู้ให้โอกาส ทางวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส จึงได้นำแนวพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการฝึกอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังภายในเรือนจำ เพื่อสร้างความพร้อมให้ผู้ต้องขังสามารถนำวิชาทักษะการประกอบอาชีพติดตัวออกไปประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษ เป็นการเพิ่มโอกาสที่ดีกว่าหลังจากได้รับอิสรภาพ ประกอบกับเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ได้ดำเนินนโยบาย “คืนคนดีสู่สังคม” อยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว จึงเห็นตรงกันที่จะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (Memorandum Of Understanding : MOU) เพื่อการพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้กับผู้ต้องขัง และดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ในวันนี้ (31 ม.ค. 61) ได้เปิดการพัฒนาทักษะฝีมือและอาชีพของผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ในหลักสูตรแรก คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรขนมอบเพื่อการค้า อย่างเป็นทางการ เพื่อสนับสนุนและพัฒนาทักษะฝีมือของผู้ต้องขังหญิงในการทำขนมอบประเภทต่างๆ เช่น เอแคลร์ คุกกี้ เค้ก เป็นต้น

ทั้งนี้มีผู้ต้องขังหญิงที่กำลังจะได้พ้นโทษมีความสนใจเข้าร่วมรับการอบรม จำนวน 30 คน เชื่อมั่นว่าผู้ต้องขังหญิงได้มีความรู้ในการทำขนมที่หลากหลาย เหมาะกับความต้องการและความถนัดของแต่ละคน โดยทีมวิทยากรเป็นผู้ประกอบการ ที่มีความประสงค์จะรับผู้ต้องขังที่พ้นโทษเข้าทำงาน ซึ่งนับเป็นโอกาสทีดี ใช้เวลาในการอบรมทั้งสิ้น 24 สัปดาห์ เริ่มอบรมตั้งแต่วันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา และจะเสร็จสิ้นการอบรมในช่วงเดือนกรกฎาคม นี้

ทีมข่าว SPMCNEWS รายงาน

 836 total views,  4 views today

You may have missed