อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา รายงาน…
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เวลา 10.00 น.ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย จ.ยะลา นายสุรชัย บุญวรรโณ “ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง” ลงพื้นที่ในเขตภาคใต้ตอนล่างเพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงยางพารา ซึ่งเกิดจากเชื้อราสาเหตุ คือ Pestalotiopsis sp.โรคใบร่วง Pestalotiopsis sp. พบระบาดรุนแรงในประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ.2559 และระบาดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันรวมเนื้อที่กว่า 2 ล้านไร่ ทั้งนี้โรคดังกล่าวได้แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศมาเลเซียเมื่อปี พ.ศ.2560 เนื้อที่ประมาณ 1 แสนกว่าไร่ สำหรับประเทศไทยได้พบโรคนี้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2562 ที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับประเทศมาเลเซีย
นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่างกล่าวว่า “จากการพบโรคใบร่วงยางพาราซึ่งเกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมานั้น การแพร่กระจายของโรคนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมด้านภูมิอากาศในพื้นที่นี้อยู่ในเขตร้อนชื้น และในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน มีความชื้นสูง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรค จึงทำให้การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรคชนิดนี้แล้ว คือ จังหวัดนราธิวาส (ทุกอำเภอ) เนื้อที่ 432,347 ไร่ และจังหวัดยะลา 3 อำเภอ (รามัน, บันนังสตา และเบตง) เนื้อที่ 1,760 ไร่ รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ที่พบการระบาดของโรคนี้แล้วเช่นกัน ได้แก่ จังหวัดตรัง, จังหวัดกระบี่, จังหวัดพังงา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี”
นายสุรชัยยังกล่าวอีกว่าอาการของโรคปรากฏบนใบแก่ ลักษณะเป็นแผลกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 0.5 เซนติเมตร เริ่มแรกอาการบนใบเป็นรอยสีเหลืองค่อนข้างกลม และต่อมาจะตายแห้งเป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยจะพบบนใบมากกว่า 1 แผล และต่อมาใบจะร่วงในที่สุด จะทำให้ใบแก่ร่วงอย่างรุนแรงในยางพาราทุกพันธุ์ โดยเฉพาะสวนยางใหญ่ (เปิดกรีดแล้ว) ทำให้ใบยางร่วงอย่างรุนแรงจนถึงร่วงหมดทั้งต้น ทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อต้นยางผลิใบใหม่ พอใบยางแก่เต็มที่ และมีสภาพอากาศที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุ ก็จะทำให้เกิดอาการใบร่วงเช่นเดิมอีก และอาจทำให้กิ่งเล็กๆ แห้งตายได้
การป้องกันกกจัดโรคใส่ปุ๋ยบำรุงสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับต้นยาง เมื่อเกิดการระบาดของโรคจะทำให้ต้นยางสามารถสร้างใบใหม่ออกมาทดแทนใบยางที่ร่วงได้อย่างรวดเร็ว หากสังเกตเห็นต้นยางมีทรงพุ่มไม่สดชื่น ใบออกเหลือง ให้รีบตรวจสอบอาการของโรคบนใบ และใบยางที่ร่วง หากพบมีอาการของโรคให้รีบใช้สารเคมี เช่น เบโนมิล, แมนโคเซป, สารกลุ่มไตรอะโซล, ไทโอฟาเนต-เมธิล ฉีดพ่นทรงพุ่มให้ทั่วทั้งแปลง โดยใช้เครื่องฉีดพ่นสารเคมีแรงดันสูง หรืออาจใช้เชื้อจุลินทรีย์ เช่น ไตรโคเดอร์มา (ยังไม่มีรายงานการใช้) แต่มีข้อจำกัด คือ ต้องใช้ซ้ำบ่อยๆ หลายครั้ง
นายสุรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่าหากเกษตรกรชาวสวนยางท่านใดพบการระบาดของโรค หรือ สงสัยว่ามีอาการของโรคใบร่วงดังกล่าว ให้ดำเนินการถ่ายรูป และสามารถแจ้งข้อมูลไปยังการยางแห่งประเทศไทยทุกสาขาใกล้บ้านท่านโดยด่วน เพื่อหาแนวทางป้องกันกำจัดไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายต่อไป
1,220 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี