พฤษภาคม 4, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ม.อ.ปัตตานี เปิดเวทีสัมมนาครูผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาทั่วประเทศ

ม.อ.ปัตตานี เปิดเวทีสัมมนาครูผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาทั่วประเทศ

แชร์เลย

ม.อ.ปัตตานี เปิดเวทีสัมมนาครูผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาทั่วประเทศ

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับมูลนิธิเกาหลี เชิญเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เปิดเวทีสัมมนาภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2562  ณ โรงแรมแมนดาริน แมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ  ให้แก่นักวิชาการ ผู้สอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศไทย  ผลการสัมมนาที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลเกาหลีส่งครูผู้สอนภาษาเกาหลีเข้าสู่การศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่เปิดสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย กอปรกับกระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุภาษาเกาหลีเป็นหนึ่ง
ในภาษาต่างประเทศของระบบสอบเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา

ที่ โรงแรมแมนดาริน แมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ มีการเปิดเวทีสัมมนาภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา เพื่อระดมความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญชาวไทยกับชาวเกาหลีในด้านประวัติศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนร่วมกันหาแนวในการพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทยทั้งระดับมัธยมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา  โดยมี ฯพณฯ ลี อุค-ฮอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดี  รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเปิด  ศ.ดร.ปริศวร์  ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวรายงาน  และปาฐกถาพิเศษโดยนายนิกร จำนง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เกาหลีใต้

สาระสำคัญของการสัมมนาประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรองประธาน
กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เกาหลีใต้ , การประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้สอนภาษาเกาหลี และกลุ่มคณาจารย์ผู้สอนสังคมศึกษา  การเสวนาทางวิชาการเรื่อง การเปลี่ยนแปลงและอนาคตของสังคมการเมืองเกาหลี 2019 , เศรษฐกิจสร้างสรรค์เกาหลีสไตล์กับเศรษฐกิจการท่องเที่ยววิถีไทย , การบรรยายทางวิชาการ ได้แก่ บทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชน กับการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้ , บทวิเคราะห์และประเด็นความสนใจเกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้ในสื่อไทย , แนวโน้มนโยบายและลักษณะพิเศษของการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย , นักศึกษาต่างชาติทางรอด ของมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ , อิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความเชื่อและค่านิยมของชาวเกาหลี , การเรียนการสอนภาษาเกาหลี : สภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในโรงเรียนมัธยมศึกษากับปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัย, การเรียนการสอนภาษาเกาหลี : วรรณคดีเกาหลี , การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเกาหลีใต้ ในปัจจุบัน , เกาหลีใต้กับการพัฒนาประเทศ ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้หลังสงครามเกาหลี เป็นต้น

ฯพณฯ ลี อุค-ฮอน  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย  กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2529 มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในระดับอุดมศึกษาเป็นแห่งแรก
ของประเทศไทย และยังเป็นสถาบันผู้บุกเบิก สนับสนุนให้จัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทยในหลายๆ มิติ
ทำให้การจัดการเรียนภาษาเกาหลีในประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
ที่เปิดสอนภาษาเกาหลีเป็นวิชาเอกจำนวน 12 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาเกาหลีเป็นวิชาโท จำนวน 6 แห่ง และมีนักเรียนมัธยมศึกษาที่เรียนภาษาเกาหลีในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 40,000 คน

ซึ่งเป็นจำนวนมากถึงหนึ่งในสี่ของจำนวนนักเรียนชาวต่างชาติทั้งหมดที่เรียนภาษาเกาหลีทั่วโลก  สำหรับผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษานั้นการสอนภาษาต่างประเทศและวัฒนธรรมต่างประเทศถือเป็นเรื่องที่มีความยากลำบาก แต่เนื้อหาดังกล่าวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะช่วยให้คนทั้งสองประเทศเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้จึงให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยให้ได้มีโอกาสเรียนภาษาเกาหลี  กอปรกับกระทรวงศึกษาธิการได้มีการบรรจุภาษาเกาหลีให้เป็นหนึ่งในภาษาต่างประเทศของระบบสอบ PAT ซึ่งผลดังกล่าวเกิดจากการร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการทั้งสองประเทศ

รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประธานในพิธีเปิด
การสัมมนาภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา กล่าวว่า
  การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการศึกษานั้นถือเป็นภารกิจ
ที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคสมัยที่มีความใกล้ชิดของเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งบุคลากรทางการศึกษา
มีความจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในปฏิสัมพันธ์ของผู้คน เหตุการณ์ และองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อสามารถนำไปสร้างและประยุกต์สู่การจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้อย่างถูกต้องเป็นปัจจุบัน สาธารณรัฐเกาหลี  เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย และมีภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและโดดเด่น  สภาพสังคมทั้งสองมิตินี้ ได้ขยายตัวอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากภาวะเทคโนโลยีที่สร้างตลาดและมูลค่าให้กับในสังคมเกาหลีใต้ที่ส่งผลต่อรูปแบบและวิธีการในการดำเนินชีวิต รวมไปถึงทางการเมือง เศรษฐกิจ  การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบันเทิง  สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่องานการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนแบบเรียนให้แก่เราในการเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจากภาวการณ์ดังกล่าวได้ดีอีกด้วย  เวทีการสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผลต่อความก้าวหน้าในการเรียนการสอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไทย และส่งเสริมความเข้าใจอันดีของประชาชนไทยที่มีต่อสาธารณรัฐเกาหลีและประชาชน ชาวเกาหลีใต้ต่อไป

ศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่า  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของไทยที่มีบทบาทในฐานะผู้บุกเบิกการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจและการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา  ตระหนักถึงความสำคัญของความเข้มแข็งในการเรียนการสอนภาษาเกาหลี โดยมุ่งพัฒนาบุคลากรที่จัดการศึกษาในด้านนี้ที่นอกเหนือจากระบบชั้นเรียน  ด้วยการจัดเวทีสัมมนาเกาหลีศึกษาขึ้นต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภาษา สังคม วัฒนธรรมเกี่ยวกับสาธารณรัฐเกาหลี อย่างรอบด้าน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ในการเรียนการสอนของบุคลากรด้านเกาหลีศึกษาของไทยมาอย่างสม่ำเสมอ  โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2562 ได้รับการสนับสนุนทุนจากมูลนิธิเกาหลี

ผลจากการจัดสัมมนาเกาหลีศึกษา เมื่อปี 2561 พบว่าคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้นำเสนอมาตรการเพื่อพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในโรงเรียนมัธยมศึกษา คือ การจัด
การเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมด้วยการจัดพื้นที่ภาษาเกาหลี  การสนับสนุนของผู้ปกครองในการศึกษาภาษาเกาหลี  เพิ่มสัดส่วนครูผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทยให้มากขึ้น  ขยายช่องทางระบบทุนการศึกษา  ส่งเสริมการศึกษาในการเตรียมสอบ
วัดระดับภาษาเกาหลี พัฒนาคู่มือการเรียนการสอน  สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการสอบวัดระดับภาษาเกาหลีเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขยายการฝึกอบรมภาษาเกาหลีระยะสั้นในสาธารณรัฐเกาหลี    สำหรับผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา
ในระดับมัธยมศึกษาได้มีการนำเสนอแนวคิดเกาหลีศึกษาในประเทศไทยยังต้องการสิ่งสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนจากหน่วยงานในเกาหลี และผู้สอนต้องมีความตื่นตัวพร้อมที่จะพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา อีกทั้งมีบทบาทในการกำหนดขอบเขตของเนื้อการในการจัดการเรียนการสอนและการออกข้อสอบเพื่อสอบเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา  นับเป็นเวทีที่เห็นความสำคัญการจัดระบบการศึกษาเกาหลีศึกษาเพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0  ของรัฐบาล  ทำให้รัฐบาลเกาหลีจัดส่งครูผู้สอนภาษาเกาหลีให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เปิดสอนวิชาภาษาเกาหลีจำนวน  5 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

ในการนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทย ได้แก่ จัดทำนโยบายการศึกษาภาษาเกาหลี  จัดเตรียมหลักสูตรการศึกษา  สนับสนุนและจัดทำแนวทางฝึกอบรมครูผู้สอน  แผนกิจกรรมการศึกษา  จัดทำตำราเรียนภาษาเกาหลี  และจัดทำรูปแบบและ
วิธีการประเมินผลภาษาเกาหลี  สำหรับผลการสัมมนาในครั้งนี้ คาดหวังว่าผู้ร่วมสัมมนามีความเข้าใจด้านเกาหลีศึกษาที่เป็นปัจจุบันรวมทั้งแนวทางการจัดการเรียนการสอนต่อไป

งานประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี

 1,496 total views,  2 views today

You may have missed