พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

มทภ.4 แถลงผลปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ ชูผลงาน 45 วัน เดินหน้ารุกต่อเนื่อง ใช้มาตรการยึดทรัพย์ผู้ค้า พร้อมสร้างชุมชนเข้มแข้ง ดึงจิตอาสาร่วมขจัดภัยยาเสพติด คืนความสุขให้ประชาชน

แชร์เลย

(19 ธันวาคม 2561) เวลา 10.00 น. ที่ ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พลโท พรศักดิ์  พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 แถลงผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ ภายหลังเปิดปฏิบัติการมา 1 เดือน 15 วัน โดยมี นายไกรศร  วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี,        นายสุรพล  ภัทรปกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9, นายพีระ  กาญจนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 8, พลตรี กฤษฎา  พงษ์สามารถ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 และ     พลตำรวจโท รณศิลป์  ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลง

พลโท พรศักดิ์  แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวว่า ปัญหายาเสพติด มีความซับซ้อน และเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคง การแพร่ระบาดของยาเสพติด มีแนวโน้มที่มีความรุนแรง และเป็นปัญหาที่ประชาชนต้องการให้รัฐแก้ไขเป็นอันดับแรก เพราะเป็นทุกข์ของประชาชน ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2558 – 2562 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “สังคมไทย เข้มแข็ง และรอดพ้นจากยาเสพติดด้วยภูมิคุ้มกัน และมาตรการลดผู้ค้า ผู้เสพ และความร่วมมือระหว่างประเทศด้านยาเสพติดบรรลุตามพันธกรณี  และวิสัยทัศน์อาเซียน ภายในปี 2562”

การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นภารกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในชุมชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมอำเภอ เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งการป้องกัน การสกัดกั้นการปราบปรามและการบำบัดรักษา ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต  เดินสายสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ให้รับทราบแนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อดับทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชนให้หมดสิ้นไป โดยตั้งเป้าหมายปฏิบัติการไว้ 90 วัน ตั้งแต่ วันที่        1 พฤศจิกายน 2561 จนถึง 31 มกราคม 2562 ด้วยการดำเนินการให้ ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย

  • ด้านการป้องกัน มุ่งเน้นสร้างภูมิคุ้มกันและภูมิป้องกันยาเสพติดให้ครอบคลุม 5 กลุ่มเป้าหมาย คือ หมู่บ้าน/ชุมชน ในสถานศึกษา นอกสถานศึกษา โดยใช้แนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็ง และจิตอาสาญาลันนันบารูเข้าดำเนินการ ณ  ขณะนี้ สามารถฝึกอบรมและจัดตั้งกลุ่มพลังจิตอาสาประชารัฐได้ แล้ว 9,818 คน นอกจากนี้ยังได้ขับเคลื่อนงานสร้างภูมิคุ้มกัน ผ่านมวลชนญาลันนันบารู และญาลันนันบารูจูเนียร์ที่ผ่านการ ฝึกอบรมและจัดตั้งแล้วกว่า 20,000 คน และยังมี โครงการ รด. จิตอาสาต้านภัยยาเสพติดทุกสถานศึกษา มียอดกว่า 30,000 คน
  • ด้านการสกัดกั้นและปราบปราม ได้เน้นให้มีการตั้งด่านตรวจและจุดสกัดตามเส้นทางในพื้นที่ และบริเวณแนวชายแดน เพื่อป้องกันการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาแพร่กระจายในพื้นที่ พร้อมมุ่งเน้นทำลายโครงสร้างเครือข่าย    ยาเสพติดในพื้นที่และใช้มาตรการทางกฎหมายต่อกลุ่มผู้ค้ายาในระดับต่างๆ ที่เป็นวงจรนำยาเสพติดเข้าสู่ชุมชนตามบัญชีเป้าหมาย โดยมอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และภาค 9 เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดกำลังเข้าสกัดกั้นและปราบปรามร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 8 และภาค 9 และหน่วยที่เกี่ยวข้องโดยให้หน่วยประจำพื้นที่เป็นกำลังเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยผลการปฏิบัติ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2561 จนถึง 15 ธันวาคม 2561 สามารถตรวจยึดของกลางยาเสพติดและจับกุมผู้ต้องหาได้ ดังนี้

– ยาบ้า                     จำนวน  10,801,718  เม็ด

– ไอซ์                        จำนวน  47  กิโลกรัม

– เฮโรอีน                   จำนวน  298  กิโลกรัม

– กัญชา                     จำนวน   30  กิโลกรัม

– พืชใบกระท่อม            จำนวน  1,000  กิโลกรัม

– ผู้ต้องหา                  จำนวน  419  ราย

  • ด้านการบำบัดรักษา จะดำเนินการคัดกรองผู้เสพเข้ากระบวนการคัดกรอง เพื่อแยกผู้เสพ และผู้ติดยา ซึ่งปัจจุบัน    มีผู้เข้ากระบวนการคัดกรองแล้วกว่า 33,500 คน เข้าบำบัดแล้ว 4,349 คน และจะมุ่งเน้นใช้มาตรการทางสังคมภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยปัจจุบันได้จัดเตรียมสถานที่รองรับ ผู้เข้ารับการบำบัด จำนวน 29 แห่ง สามารถรองรับได้กว่า 2,200  คน นอกจากนี้ยังมีสถานที่บำบัดฟื้นฟู ด้วยหลักศาสนาอิสลาม     ที่ปอเนาะญาลันนันบารู บ้านเกาะแลหนัง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นสถานที่บำบัดด้วยความสมัครใจ และผ่านกระบวนการชุมชนโดยจิตอาสาญาลันนันบารู สามารถรองรับได้กว่า 1,000 คน โดยผู้ที่จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดจะต้องผ่านการประเมินเบื้องต้นจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลก่อนเข้าสู่ ศูนย์คัดกรองระดับอำเภอ เพื่อคัดแยกและลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการบำบัดตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการ      ได้ 4 กลุ่ม ดังนี้

                   – กลุ่มผู้ใช้จะบำบัดด้วยโปรแกรมบำบัดเบื้องต้นและส่งตัวเข้าฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พัฒนาทักษะชีวิต  ณ  ศูนย์วิวัฒน์พลเมือง หรือค่ายฝึกอบรมตามที่กำหนด

                   – กลุ่มผู้เสพ ส่งเข้าบำบัดที่โรงพยาบาลชุมชน หรือสถานที่บำบัดที่กำหนดโดยใช้เวลา 12 วัน

                   – กลุ่มผู้ติด ส่งเข้าบำบัดที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลศูนย์ในพื้นที่

                   – กลุ่มผู้ป่วยซ้ำซ้อนส่งเข้าบำบัดที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี, โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายต่อไป

/////////////////////////////////

ทีมข่าว ยะลา ปัตตานี รายงาน

 781 total views,  2 views today

You may have missed