เมษายน 20, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

เครือข่ายผู้หญิง 3 จชต.จับมือภาครัฐ ผู้นำศาสนา จัดกิจกรรมสาธารณะ รณรงค์ “ผู้หญิงส่งเสียงให้ดัง ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้” เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล

แชร์เลย

 

(21 พฤศจิกายน 2561)  เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้และชมรมผู้นำมุสลิมะฮ์นราธิวาส จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ “ผู้หญิงส่งเสียงให้ดัง ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้ “หน่วยงานภาครัฐ ศาสนา และประชาสังคม ต้องทำงานร่วมกัน” เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล ประจำปี  2561 ที่โรงแรมอิมพีเรียลนราธิวาส   โดยมี กลุ่มสตรี เยาวชน ผู้นำศาสนา หน่วยงานภาครัฐ จำนวน 350 คนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีกิจกรรม การเดินรณรงค์ “เราไม่ทำร้ายผู้หญิง” ในตลาดเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสเพื่อชักชวนประชาชนเลิกยอมรับวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยมี นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (พม.) เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ  และองค์การอ็อกแฟม เข้าร่วมเดินรณรงค์ เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินรณรงค์ “เราไม่ทำร้ายผู้หญิง” ครั้งนี้ ได้สวมเสื้อและถือร่มสีส้มเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านความรุนแรง สอดคล้องกับธีมงานวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล ของสหประชาชาติใช้สีส้ม เป็นสัญญลักษณ์เพื่อสื่อถึงความปรารถนาให้ผู้หญิงมีความสุขสดใสมากกว่าเดิม

นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่าเครือข่ายผู้หญิงฯ ร่วมกับชมรมผู้นำมุสลิมะฮ์  โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิงที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามนราธิวาสเพื่อให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่สตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม 2561  พบว่า มีผู้หญิงที่ประสบปัญหาในครอบครัวเข้ามาฟ้องหย่าหรือขอความเป็นธรรมในเรื่องค่าเลี้ยงดูเป็นจำนวนมากถึง 250 ในจำนวนนี้มีผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายจำนวน 72 ราย( 29เปอร์เซ็นต์) สามารถไกล่เกลี่ยยุติปัญหาได้เพียง 65 ราย และไม่สามารถยุติปัญหาได้ 187 ราย มีการส่งต่อเคสเพื่อเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองทางกฎหมายเพียง 6 ราย

นางรอซิดะห์ ปูซู กล่าวว่า  สำหรับรูปแบบความรุนแรง มีลักษณะ การทอดทิ้งไม่ได้รับค่าเลี้ยงดู ถูกทำร้ายร่างกาย และสามีจำนวนมากมีการใช้สารเสพติด จำนวน…..88……. ราย  นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีเหตุกระทำความรุนแรงต่อเด็กหญิงเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศหลายเรื่อง เช่น การแต่งงานในเด็กที่ จ.นราธิวาส  คดีพ่อข่มขืนลูก ที่ จ ยะลา และการทำอนาจารต่อเด็กอายุไม่ถึง 15 ปีของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ จ.ปัตตานี ส่วนสาเหตุรากลึกของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวคือวัฒนธรรมความคิดความเชื่อว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัวของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องทั้งตามหลักศาสนาและหลักกฎหมาย

นอกจากนี้ในงานยังมีการกล่าวปาฐกถาได้รับเกียรติจากนายซาฟีอีน เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงกับการทำงานเพื่อสังคม และนางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสกล่าวถึงทิศทางความร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อลดความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก การอภิปราย “ความรุนแรงในครอบครัวปัญหาใต้พรม: ชายหญิง ทุกฝ่าย ต้องช่วยกันยุติ” ผู้แทนรัฐ นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (พม.) ผู้แทนสตรี นางรอซิดะห์ ปูซู  ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดน ผู้แทนศาสนา    นายอับดุลอาซิซ เจ๊ะมามะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นักวิชาการ  ผศ.ดร.กัลยา  ดาราหะ  อดีตหัวหน้าสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มอ.ปัตตานี ผู้แทนผู้ประสบปัญหาความรุนแรง  นางสาววรรณนูร์รัยนา  สะมะแอ ดำเนินรายการโดย  นางสาวสุนิตา มินซาร์  ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ จ.นราธิวาส และได้มีการเชิญชวนบริจาค  จัดตั้ง“กองทุนยุติความรุนแรงเพื่อเด็กและสตรี” เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือ เด็ก สตรี ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ

การจัดกิจกรรมนี้เป็นความร่วมมือโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสร้างความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสลามจังหวัดและองค์กรภาครัฐ เพื่อลดความรุนแรงต่อสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ โครงการวาว(VAW) สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป องค์การอ็อกแฟม และสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย

///////////////////////////////////////////////

ภาพ…สุไลมาน ยุ /(รพี มามะ บรรณาธิการข่าว) 

 

 613 total views,  2 views today

You may have missed