จากสถานการณ์การระบาดของโรคหัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับมอบหมายในการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินงานด้านต่างๆในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของสถานการณ์โรคหัด ศอ.บต.ได้ บูรณาการทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคหัดในพื้นที่เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่ล่าสุดยังคงพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคหัดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมแล้ว 18 ราย
และจากการแพร่ระบาดของโรคหัดที่ยังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ( 20 พ.ย. 61 ) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมประชุม ศูนย์ปฏิบัติการ EOC โรคหัด จังหวัดยะลา ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ ชั้น 3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคหัดและเร่งควบคุม กวาดล้างให้โรคหัดหายไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายปรีชา ชนะกิจจร ผู้อำนวยการกองส่งเสริม และสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. นายสงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา คณะเจ้าหน้าที่ และผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา โดยในที่ประชุมมีการหารือถึงยอดผู้เสียที่ชีวิตที่ยังคงเกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาหลังจากมีการดำเนินการตามมาตรการ 4 เคาะ ตั้งแต่มาตรการเคาะกลุ่มผู้สัมผัส เคาะประตูบ้าน เคาะประตูโรงพยาบาล และเคาะประตูโรงเรียน ซึ่งมีการดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเน้นย้ำในที่ประชุมว่า หลังจากนี้ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งเดินหน้าในการดำเนินการตามมาตรการการเคาะอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการเคาะประตูโรงเรียน ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปตรวจสอบการฉีดวัคซีนโรคหัดในเด็กก่อนวัย 12 ปี และดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำถึงการลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำศาสนา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน
นายสงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า จังหวัดยะลาขณะนี้มีอัตราการแพร่ระบาดของโรคหัดลดลง เนื่องจากทุกภาคส่วนมีการช่วยกันรณรงค์ทำให้สถานการณ์ของโรคหัดในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีการดำเนินการฉีดวัคซีนในเด็กที่มีภาวะเสี่ยงในช่วงอายุ 9 เดือน – 5 ปี ไปแล้ว ร้อยละ 94 และหากได้รับการฉีดวัคซีนครบ ร้อยละ 95 ของสมาชิกในหมู่บ้านและอำเภอตามที่กำหนดไว้จะทำให้เราสามารถป้องกันโรคหัดในกลุ่มเด็กที่มีภาวะเสี่ยงได้อย่างแน่นอน
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เผยอีกว่า ในส่วนการให้ความรู้แก่แม่หลังคลอดเกี่ยวกับวัคซีนโรคหัด นั้นทางสาธารณสุขจังหวัดยะลามีการดำเนินการให้แก่คุณแม่หลังคลอดได้รับทราบถึงประโยชน์ของการฉีดวัคซีน เนื่องจากเด็กที่มีอายุก่อนการฉีดวัคซีนนั้น จะมีภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านจากแม่ไปสู่ลูกตั้งแต่แรกเกิดถึง 9 เดือน หลังจากนั้นก็จะลดต่ำลงโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นเด็กควรได้รับการวัคซีนหลังจาก 9 เดือนอีกครั้งก็จะทำให้มีภูมิต้านทานมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาวิธีนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากคุณแม่หลังคลอดเป็นอย่างดี
///////////////////////////////////////
บุหงา รายา รายงาน (รพี มามะ บรรณาธิการข่าว)
600 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี