พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

แพทย์ทหารระบุ เหตุป่วนใต้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงมือแพทย์ พบป่วย4โรคร้ายกระดูกพรุนพบมากสุด

แชร์เลย

วันที่ 3 พ.ค. 61 ที่ห้องประชุมชั้น 1 อาคารสิรินรักษ์ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมืองนราธิวาส พล.อ.นายแพทย์สายัณห์ สวัสดิ์ศรี หัวหน้าคณะวิจัยจากคลินิกวัยทองโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก และนายอับดุลอาซิส เจ๊ะมามะ รองประธานกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส ได้ร่วมเดินทางมาปิดโครงการพัฒนาต้นแบบสื่อสุขภาพ เพื่อการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน สำหรับผู้นำศาสนา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และราษฎรรักษาหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ที่ได้เริ่มดำเนินการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข จ.นราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้พี่น้องประชาชนไม่สามารถเข้าถึงทางการแพทย์ได้ ด้วยปมเหตุส่วนใหญ่ไม่กล้าเสี่ยงต่อการเดินทางไปพบแพทย์ เนื่องจากเกรงไม่ได้รับความปลอดภัยในชีวิต ในส่วนของการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพนั้น เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ที่เข้าการรักษาเป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจ และตระหนักที่ต้องดูแลสุขภาพให้มากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ได้แจกจ่ายหนังสือคู่มือดูแลสุขภาพที่พิมพ์ทั้งอักษรภาษาไทยและภาษายาวีในเล่มเดียวกัน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนอีกทอดหนึ่ง ได้ศึกษาหลักการดำรงชีวิตประจำวัน ควบคู่กับการเดินทางเพื่อปรึกษาและขอแนะนำจากแพทย์ทหารหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน

โดย พล.อ.นายแพทย์สายัณห์ สวัสดิ์ศรี หัวหน้าคณะวิจัยจากคลินิกวัยทองโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก เปิดเผยว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการก่อการร้าย ทำให้ประชาชนทั้งพุทธและมุสลิมไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้ และเมื่อตรวจตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า 10 โรคที่พบบ่อย คือ โรคความดันโลหิตสูง ไขมัน เบาหวานและภาวะกระดูกพรุน สำหรับ 4 โรคนี้พบให้ผู้มีอายุมาก ซึ่งทั้ง 4 โรคนี้เป็นโรคเดียวกัน คือ มีความเป็นมาเหมือนกัน เช่น รับประทานอาหารมากเกินไป รับประทานอาหารน้อยเกินไป รับประทานอาหารไม่ถูกส่วน ขาดการออกกำลังกาย ขาดการดูแลสุขภาพ ถ้าเราสามารถใช้ต้นแบบของโรคกระดูกพรุนในการดูแลสุขภาพ ก็จะทำให้ 4 โรคนี้ดีขึ้น

นอกจากนี้แล้ว พล.อ.นายแพทย์สายัณห์ สวัสดิ์ศรี หัวหน้าคณะวิจัยจากคลินิกวัยทองโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมอีกด้วยว่า โดยส่วนใหญ่ภาวะโรคกระดูกพรุนในผู้ชาย อายุระหว่าง 40 – 49 ปี พบประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่ออายุ 50 – 59 ปี พบประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ พออายุ 60 – 69 ปี พบเพิ่มขึ้นเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้หญิงอายุระหว่าง 40 – 49 ปี พบประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่พออายุ 50 – 59 ปี พบประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ แต่พออายุ 60 – 69 ปี พบเพิ่มขึ้นทันทีเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ และเมื่ออายุมากกว่า 80 ปี พบได้มากถึง 66 เปอร์เซ็นต์

อัสอารี สะมะแอ SPMCNEWS รายงาน

 768 total views,  2 views today

You may have missed