2 สิงหาคม 2567
แม่ทัพภาค 4 ร่วมกับ ตำรวจภาค 9 ปปส.ภาค9 ฝ่ายปกครอง บูรณาการกำลังจับกุมเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ ยาไอซ์ 1 ตัน และคดียาบ้า 440,000 เม็ด มูลค่าส่งออกประเทศที่สาม กว่า 3,000 ล้านบาท
วันนี้ 2 ส.ค. 67 เวลา 10.00 น. ณ อาคารกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลโท ศานติ ศกุนตนาค ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ร่วมแถลงการจับกุมเครือข่ายนักค้ายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พลตำรวจตรี นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, นายไชยพร นิยมแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, นาย วันชัย เพชรรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 และนายจุมพล ศักดิ์สุรีย์มงคล ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการจับกุมเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ โดยส่วนสืบสวนสอบสวน กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 ทำการจับกุมเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส เจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนติดตามจับกุมเครือข่ายนักค้ายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพฤติการณ์ลักลอบลำเลียงยาเสพติด จากพื้นที่ภาคกลางมาจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งออกไปยังประเทศที่สาม จนสามารถจับกุมค้ายาเสพติดรายสำคัญจำนวน 2 เครือข่าย ผู้ต้องหา 9 คน ตรวจยึดยาบ้า จำนวน 441,760 เม็ด ไอซ์ จำนวน 1,000 กิโลกรัม และทำการตรวจยึดทรัพย์เบื้องต้นรวม 15 รายการมูลค่าประมาณ 20,614,000 บาท สามารถจับกุมได้ที่บริเวณด่านตรวจเกาะหม้อแกง ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการเปิดเผยข้อมูล ไอซ์ จำนวน 1,000 กิโลกรัม หากส่งออกไปยังประเทศที่สาม จะมีมูลค่ามากถึง 3,000 ล้านบาท
นายไชยพร นิยมแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานีได้ให้ความสำคัญในเรื่องของมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของจังหวัด โดยในส่วนของฝ่ายปกครองจะเข้มงวดในมาตรการป้องกันยาเสพติดทุกรูปแบบที่จะไม่ให้มียาเสพติดได้ระบาดเข้ามาในพื้นที่ ไม่ว่าการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ในตำบลหมู่บ้าน ได้สร้างเครือข่ายเป็นตราสับปะรดช่วยกันเฝ้าระวัง นำมาซึ่งการจับกุมครั้งนี้
ด้าน พลโท ศานติ ศกุนตนาค ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4
ระบุว่า สำหรับนโยบายการแก้ไขปัญหา ยาเสพติด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นนโยบายที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระของชาติ และผมก็ได้นำเรียนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งใหม่แล้วว่า ได้ให้ความสำคัญกับยาเสพติดเป็นลำดับแรก เพราะทราบว่ายาเสพติดได้ระบาดเข้ามาสู่ทุกชุมชน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือส่วนต่างๆ รวมถึงพี่น้องประชาชน ก็ได้นำนโยบายมาและจะต้องดำเนินการเกี่ยวกับผู้ค้าหลักๆ โดยเฉพาะผู้ค้ารายใหญ่และรายย่อย และได้มอบนโยบายให้กับกำลังพล ทหาร ตำรวจหรือฝ่ายปกครอง เราจะต้องหาข้อมูลเชิงลึกที่จะ ดำเนินการสกัดกั้น ซึ่ง 14 จังหวัดภาคใต้ที่รับผิดชอบนั้น มีเส้นทางหลักและเส้นทางรอง หลายเส้นทาง ก็พยายามที่จะคุมทุกพื้นที่ ทุกด่านตรวจ ทุกตรวจที่มีอยู่ รวมทั้งติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของยาเสพติดในทุกประเภทที่ลงมาเข้าสู่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งถ้าว่ายาเสพติดที่ไหลลงมาทางภาคเหนือมาถึงภาคใต้ และส่วนใหญ่จะไปออกสู่ประเทศที่สาม เป็นไปได้ว่าในพื้นที่ภาคใต้นั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่พักยา แล้วก็ทยอยออกสู่ประเทศที่สาม ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางเรือ ทางน้ำ ก็ตาม ซึ่งเรามีการวางแผนดำเนินการจับกุมและติดตามอย่างต่อเนื่อง อยากให้ พี่น้องประชาชน มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทอดทิ้ง เราดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่บางครั้งบางส่วนต้องใช้เวลาที่จะดำเนินการ แต่ครั้งนี้เราใช้เวลานานที่จะดำเนินการจับคุณได้ เป็นการตัดวงจรเพื่อไม่ให้ขยายลงสู่ชุมชนต่อไป
อย่างไรก็ตามขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่จะนำความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมาให้พี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติการด้วยการช่วยเเจ้งเบาะเเสผู้ค้า หรือเครือข่ายการกระทำผิด ที่ช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด / อำเภอ หรือที่สายด่วน 1567 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ภาพ/ข่าว – อับดุลหาดี ทีมข่าว ยะลา
มะอายือมิง สาแล๊ะ เรียบเรียง
22,974 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี