ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อับดุลเลาะหนุ่มสุข
บทความนี้เป็นหัวข้อปาฐกถาของท่านเลขาธิการ สันนิบาตโลกมุสลิม หรือองค์การอัรรอบิเฏาะฮ์ อัลอาลัม อัลอิสลามีย์ พณฯดร.เชคมุฮัมมัด บินอับดุลการีม อัลอีซา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ
ในโอกาสเดินทางมาเยือนและพบปะท่านจุฬาราชมนตรี ผู้นำศาสนา และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นปาฐกถาที่มีเนื้อหาสำคัญและเป็นประโยชน์ จึงได้ถอดความโดยสรุป เป็นประเด็นดังต่อไปนี้ :
ประเด็นที่ 1 คำว่า ” ตะซามุฮ์ดีนีย์ ” แปลว่าความเอื้ออาทรทางศาสนา หรือระหว่างศาสนา เป็นคำที่สกัดมาจากคำสอนของอิสลามที่สอนให้มุสลิมทุกคนเป็นผู้มีเมตตากรุณา มีความอ่อนโยนและให้อภัย ยอมรับและให้เกียรติผู้อื่น อัลกุรอานหลายบทที่ยืนยันถึงคำสอนและค่านิยมอันสูงส่งนี้อาทิเช่น :
ก. อัลลอฮ์ส่งศาสนทูตมูฮัมหมัดมาให้เป็นเมตตาธรรมแก่โลกทั้งผอง อัลลอฮ์ตรัสความว่า ” และเราไม่ได้ส่งเจ้ามานอกจากเพื่อความเมตตาให้แก่โลกทั้งผอง ” (อัลอัมบิยาอ์ อายะห์ที่ 107)
ข. อัลลอฮ์ทรงกำชับในเรื่องการให้อภัยกัน การไม่ถือโทษโกรธกัน และถือว่ามันคือสาเหตุ ที่พระองค์จะอภัยโทษให้ อัลลอฮ์ตรัสความว่า ” และพวกเขาจงอภัยและจงยกโทษ พวกเจ้าไม่ชอบหรือที่อัลลอฮ์จะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า” (อันนูร อายะฮ์22)
ค. อัลลอฮ์ทรงกำชับให้แบ่งปันอาหารแก่เชลยศึก แม้พวกเขาจะเป็นศัตรูและเป็นผู้ละเมิดก็ตาม อัลลอฮ์ตรัสความว่า ” และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก ” (อัลอินซาน อายะฮ์ 8)
ท่านนบีมุฮัมมัดเป็นแบบอย่างของผู้มีมารยาทอันประเสริฐ อัลลอฮ์ได้ชื่นชมท่านในอัลกุรอานความว่า ” และแท้จริงเจ้า(มุฮัมมัด)นั้นอยู่ในจรรยามารยาทอันงดงามยิ่ง” (อัลกอลัม อายะฮ์ 4) ” เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮ์นั่นเองเจ้า(มุฮัมมัด)จึงได้สุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และหากเจ้าหยาบช้ามีจิตใจแข็งกระด้างแล้วไซร้แน่นอนพวกเขาย่อมแยกตัวออกจากเจ้า ดังนั้นจงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด ” (อาละอิมรอน อายะฮ์ 159) ท่านนบีได้กล่าวถึงความสำคัญของความเอื้ออาทรเมื่อท่านถูกถามว่า : การศรัทธาแบบใดดีที่สุด ท่านตอบว่าคือการอดทน (เศาะบัร) และการเอื้ออาทร (สะมาฮะฮ์) (อะบูนุอัยม์ในอัลฮิลยะฮ์2/156 ดูซิลซิละห์เศาะฮีฮะฮ์ของอัลบานีย์ หมายเลข 1495)
ประเด็นที่ 2 หลักของความเอื้ออาทรไม่ควรอยู่ที่คำสอนแต่จะต้องเคลื่อนไหวอยู่ในพฤติกรรมของมุสลิมทุกคน กล่าวคือมุสลิมทุกคนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนต่างศาสนิก ให้เกียรติและเคารพในความเชื่อและวัฒนธรรมที่ต่างไปจากตน มีความสุภาพอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าวและหยาบกระด้าง มีความเรียบง่ายในการดำรงความเป็นมุสลิม และในการใช้คำวินิจฉัยทางศาสนา (คำฟัตวา)ที่เหมาะสม การมีความเอื้ออาทรในการปฏิบัติต่อเพื่อนต่างศาสนิกถือเป็นการสร้างสะพานแห่งสัมพันธภาพและมิตรไมตรีซึ่งจะนำความสงบสุขความสันติและความสมานฉันท์สู่สังคม
ประเด็นที่ 3 มีปฏิญญาที่สำคัญยิ่ง 2 ฉบับ ที่ได้กำหนดเรื่อง ตะซามุฮ์ดีนีย์ ความเอื้ออาทรระหว่างศาสนาไว้อย่างชัดเจน
ปฏิญญาฉบับที่ 1 คือปฏิญญามาดีนะฮ์หรือเศาะฮีฟะฮ์มาดีนะฮ์ เป็นปฏิญญาหรือรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองอิสลาม ปฏิญญาฉบับนี้ได้ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับชนต่างศาสนิก เสรีภาพด้านการนับถือศาสนา การเป็นพลเมืองและการประกันความปลอดภัยแก่พลเมืองทุกคน
ปฏิญญาฉบับที่ 2 คือปฏิญญามักกะฮ์ซึ่งเป็นผลพวงจากการประชุมอิสลามระดับโลกที่นครมักกะห์ ในช่วงเดือนรอมฎอนปี 1440 ฮ.ศ. ตรงกับ 2019 ค.ศ จัดโดยองค์การอัรรอบิเฏาะฮ อัลอาลัม อัลอิสลามีย์ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยมุฟตี( ผู้มีหน้าที่ออกคำวินิจฉัยปัญหาศาสนา )และนักปราชญ์จากประเทศต่างๆจำนวน 1,200 คน และนักคิดอิสลามจำนวน 4,500 คน ปฏิญญาฉบับนี้ได้เน้นย้ำเรื่องความเป็นพลเมืองสากล ( อัลมุวาเฏาะนะฮ์อัชชามีละฮ์ ) ซึ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมของมวลมนุษยชาติในการสร้างสรรค์ การบริหารและการปกปักรักษาโลก โลกที่พระเจ้าได้กำหนดให้มนุษย์ทุกคนเป็นตัวแทนของพระองค์ (เคาะลีฟะฮ์) โดยทุกคนมีสิทธิ์และหน้าที่และโอกาสในฐานะพลเมืองของโลกที่เท่าเทียมกัน ในปฏิญญาดังกล่าวได้ระบุข้อความที่สำคัญดังนี้ :
# เราทุกคนอาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกัน สังคมของเราต่างก็อาศัยร่วมกันอยู่ในโลกใบนี้ ทั้งหมดจะได้รับผลกระทบเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับมันซึ่งเราจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการสร้างอารยธรรมมนุษย์และมุ่งมั่นที่จะบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันของเรา
# เสรีภาพตามการจำกัดความของมันนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่อิสลามยกย่องว่ามีคุณค่าและอิสลามได้นำไปเชื่อมโยงกับคุณค่าของความรับผิดชอบ ดังนั้นเสรีภาพจึงไม่ได้เป็นเหตุผลที่จะนำไปใช้ในการละเมิดบุคคลอื่นและนำไปจาบจ้วงทิ่มตำสัญลักษณ์ทางศาสนาและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
# การติดต่อและการเสวนากันระหว่างผู้คนเพื่อให้บรรลุการเรียนรู้ เพื่อทำความรู้จักซึ่งกันและกันเป็นความจำเป็นของมนุษย์อย่างปฏิเสธไม่ได้โดยไม่มีการยกตนข่มท่านและโดยต้องไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น
# การอภัยให้แก่กันระหว่างประชาชนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ที่เกิดจากข้อบกพร่องและความผิดพลาดเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้น โดยต้องไม่ละเลยสิทธิต่างๆ และไม่ลืมบทเรียนในเชิงบวก
# การให้ความยุติธรรมจะต้องได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้มาตรฐานเดียวกันและด้วยความเที่ยงธรรม
ประเด็นที่ 4 การออกประกาศคำวินิจฉัยทางศาสนาหรือคำฟัตวาต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละพื้นที่ คำฟัตวาของพื้นที่หนึ่งไม่สามารถใช้กับทุกพื้นที่ได้ แต่ละประเทศจึงสมควรมีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการออกคำฟัตวา องค์กรฟัตวาจะต้องคัดสรรบุคคลที่เป็นนักวิชาการ( อุละมาอ์ )ของประเทศนั้นๆเพื่อรับผิดชอบในภารกิจอันสำคัญนี้ ในการประชุมสัมมนานักวิชาการของโลกมุสลิมที่นครมักกะฮ์ เกี่ยวกับเอกภาพของโลกมุสลิม ที่ประชุมได้มีมติเป็นคำแถลงการณ์ห้ามการนำเข้าและส่งออกคำฟัตวา หมายความว่าทุกพื้นที่ควรมีคำฟัตวาของตนเองจากนักปราชญ์ของตนเอง การออกคำฟัตวาควรคำนึงถึงบริบทของสังคม 6 ด้านคือ เวลา สถานที่ ประเพณี สถานการณ์ บุคคลและเจตนารมณ์ และควรใช้หลักเจตนารมณ์ของชะรีอะฮ์(มะกอศิด ชะรีอะฮ์)ในการรักษาไว้ซึ่งศาสนา ชีวิต ทรัพย์สิน สติปัญญา และเกียรติ ควรใช้หลักการประเมินและชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้น (ฟิกฮ์มุวาซะนะฮ์) และที่สำคัญคือการมองอิสลามแบบองค์รวมมิใช่มองเพียงด้านหนึ่งด้านใดเพียงด้านเดียว การใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้จะทำให้บัญญัติของอิสลามเป็นบัญญัติที่อมตะ นำสมัย แม้วันเวลาของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนอย่างไรก็ตาม
ประเด็นที่ 5 ประเทศไทย สังคมไทยและมุสลิมไทยเป็นต้นแบบที่งดงามยิ่งของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมต้นแบบที่ผู้คนในสังคมต่างเคารพและให้เกียรติในความต่างซึ่งกันและกัน มีความรู้สึกต่อกันในความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นคนไทย และความเป็นพลเมืองไทย มุสลิมไทยทั้งหลายพวกท่านเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสังคมไทย การปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญของประเทศเป็นสิ่งจำเป็น ในขณะเดียวกันพวกท่านจะต้องเปิดใจที่จะปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมด้วยการพูดคุย การสานเสวนา และการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆที่สร้างสรรค์ สังคมไทยเป็นสังคมของการเอื้ออาทร เป็นสังคมที่ให้เสรีภาพแก่ทุกคนจึงเอื้อต่อการที่ท่านทั้งหลายจะสร้างสะพานแห่งมิตรภาพและสร้างสัมพันธภาพที่ดีแก่ทุกคนในสังคม การสร้างสะพานดังกล่าวจะมีส่วนต่อการสกัดกั้นกระแสความสุดโต่ง ความเลยเถิด ความคลั่งไคล้ รวมทั้งกระแสการสร้างความแตกแยก และกระแสการสร้างความเกลียดชังอิสลามที่กำลังแพร่หลายอยู่ในสังคมปัจจุบัน .
หมายเหตุ
บทความนี้ ผศ.ดร.อับดุลเลาะห์ หนุ่มสุข นำเสนอในลักษณะของการถอดความและอธิบายเรื่องราวเพิ่มเติมจากการแสดงปาฐกถาของเลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลก
18,790 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี