เมษายน 29, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ศอ.บต. ร่วมส่งเสริมผู้นำศาสนาเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจ เชื่อมโยงนำศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน

แชร์เลย

(16 กันยายน 2564) ที่ห้องประชุมน้อมเกล้าชั้น 1 ศอ.บต. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับ นายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองศาสตราจารย์ ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้แทนจากสำนักจุฬาราชมนตรี ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหารือตามแนวทางของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีแนวทางให้กลุ่มผู้นำศาสนาได้ร่วมเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนในพื้นที่ ตามแนวทางของศาสนาอิสลาม โดยมีการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ ในระยะสั้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมจัดทำหลักสูตรการอบรม และในระยะยาวให้ ศอ.บต. และกรมการปกครอง เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องของการจัดตั้งสถานที่ศึกษา หรือวิทยาลัย โดยให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบและได้รับมาตรฐาน


พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวถึงการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดไว้ว่า ภาคใต้สงบสุขและร่มเย็นนั้น ประชาชนในพื้นที่จะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม ในการที่จะมีชีวิตที่ดีนั้น ต้องมีการพัฒนาในทุกมิติ โดยเฉพาะการพัฒนาคนหรือทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามลำดับ ดังนั้นประชาชนคือความสำคัญเป็นลำดับแรกที่จะต้องเร่งการพัฒนาให้มีสุขภาพร่างกาย จิตใจ รวมถึงความคิดที่ดี ถ้าทุกอย่างพร้อม ก็จะเชื่อมโยงถึงหลักศาสนา เพราะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม จึงเกี่ยวข้องกับผู้นำศาสนาเป็นหลัก และที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนในพื้นที่คือ “มัสยิด” ซึ่งจะมีผู้นำศาสนา อิมหม่าม คอเต็บ บิหลั่น และคณะกรรมการประจำมัสยิด ทุกคนคือคนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างคุณธรรม จริยธรรมต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งได้ทำหน้าที่ด้านกฎหมายอิสลาม กฎหมายครอบครัว กฎหมายมรดกต่างๆ ดังนั้นผู้นำศาสนามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นที่มาของการประชุมหารือครั้งนี้
ด้านนายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการเริ่มเสนอการจัดตั้งวิทยาลัยฯว่า เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ทาง สมช.ได้เริ่มต้นเสนอการจัดตั้งวิทยาลัยอิหม่ามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่กับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเริ่มจากประชาชนในพื้นที่มีความต้องการให้จัดตั้ง เพื่อให้พลิกฟื้นบทบาทของมัสยิดให้กลับมาเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และทาง สมช.ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อดูตัวอย่างการจัดตั้งวิทยาลัยฯ จึงได้มีความคิดว่าการที่จะฟื้นฟูบทบาทของมัสยิดนั้น ต้องเริ่มต้นที่ผู้บริหารก่อน หรืออิหม่ามประจำมัสยิด จะมีคอเต็บ บิหลั่น และกรรมการประจำมัสยิด ตามลำดับโดยเริ่มสร้างความเข้าใจ ลดความหวาดระแวงร่วมกันโดยนำมิติของศาสนาและสังคมมาพัฒนาร่วมกันให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่ตลอดไป
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการประมวลผลการศึกษาวิจัย และเตรียมความพร้อมการจัดกิจกรรมหลักสูตร เพื่อพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพอิหม่าม โดยจะมีการนำเสนอถึงผลสรุปในการประชุมติดตามความคืบหน้าในครั้งต่อไป.

ข่าว / มะซัมรี สะนิ
ภาพ / สัลมัน นิเกาะ
ส่วนงานประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.

 7,997 total views,  2 views today

You may have missed