มีนาคม 29, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ศอ.บต.ปรับปรุงบ้านใหม่ 251 หลัง ใน กิจกรรมไทยพุทธคืนถิ่น แก่ชาวไทยพุทธเปราะบาง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แชร์เลย

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะหน่วยงานด้านการพัฒนา ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กลับคืนเหมือนอดีต ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นเร่งดำเนินการ โดย ศอ.บต. ได้ดำเนินการกิจกรรมสนับสนุนด้านศาสนาและวัฒนธรรม เช่น กิจกรรมส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของชาวไทยพุทธไปแสวงบุญ ณ ประเทศอินเดียและเนปาล และชาวไทยมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย กิจกรรมสนับสนุนค่าตอบแทนผู้นำศาสนาในพื้นที่ กิจกรรมละศีลอดสัมพันธ์ กิจกรรมส่งเสริมทำนุบำรุงกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมสืบสานประเพณีทอดกฐิน/ผ้าป่า เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา กิจกรรมการสร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นให้กับชาวไทยเชื้อสายจีน ฯลฯ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวไทย ในจชต.ทุกศาสนา และชาติพันธ์

ทั้งนี้กิจกรรมไทยพุทธคืนถิ่น ศอ.บต. ได้ร่วมกับ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และสมาพันธ์ชาวไทยพุทธ ทั้ง3 จังหวัดและ4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มไทยพุทธเปราะบางที่อพยพย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่ และมีความคิดจะอพยพย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่              ให้กลับคืนถิ่นบ้านเกิด สร้างขวัญและกำลังใจ พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างแรงจูงใจไม่ให้อพยพย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มเติม โดยในปีงบประมาณ 2563 ได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้านให้มีสภาพที่พักอาศัยได้ ให้แก่ชุมชนไทยพุทธเปราะบางขึ้นในพื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 108 หลัง จังหวัดปัตตานี  จำนวน 46 หลัง จังหวัดนราธิวาสจำนวน 55 หลัง และจังหวัดสงขลาจำนวน 42 หลัง         รวมจำนวน 251 หลัง เพื่อให้มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย โดยผ่านการสำรวจจากเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ร่วมกับศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปพร.) ทหาร ตำรวจ และศูนย์ปฏิบัติการในแต่ละพื้นที่ สำรวจชาวไทยพุทธที่มีฐานะยากจน และพักอาศัยอยู่ในชุมชนเปราะบาง มีแนวโน้มที่จะอพยพออกจากพื้นที่ และล่าสุด พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานมอบบ้านที่ปรับปรุงใหม่      แก่ชาวไทยพุทธในพื้นที่บ้านเนียง ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จำนวน 9 หลัง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า  สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 17 ปี ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งของคนในพื้นที่ ซึ่งผู้เห็นต่างพยายามทำลายสังคมพหุวัฒนธรรม ชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง ประชาชนชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในพื้นที่เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะต่อกลุ่มชาวไทยพุทธที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีความอ่อนแอ มีความหวาดกลัวและรู้สึกไม่มั่นใจต่อการดูแลและการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจทิ้งบ้านเรือน และอพยพย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่จังหวัดแดนภาคใต้

ด้านนางณัชชา คันธวงศ์ ชาวไทยพุทธที่ได้รับมอบบ้าน ในพื้นที่บ้านเนียง ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เผยถึงความรู้สึกในครั้งนี้ว่า รู้สึกดีใจและขอขอบคุณที่ศอ.บต.ตลอดจนทุกภาคส่วนได้ ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้านให้สามารถกลับมามีที่พักอาศัย ซึ่งก่อนหน้านี้ตนและครอบครัว ได้ย้ายถิ่นฐานและอพยพไปอยู่ต่างจังหวัดนานกว่า 10 ปี เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่ช่วงนั้นมันร้ายแรงมาก          เกิดเหตุการณ์รายวัน จนทำให้ตนใช้ชีวิตลำบาก เกิดความกลัว หวาดระแวงตลอดเวลา แต่ด้วยความปลอดภัยของตนเอง และครอบครัวก็ต้องทิ้งบ้าน ทิ้งถิ่นฐานไปอยู่ต่างพื้นที่ จนกระทั่งได้รับข่าวสารจากเพื่อนบ้านว่าศอ.บต.จะซ่อมแซมบ้านให้ก็ดีใจมาก เพราะที่ผ่านมาตนคิดเสมอว่าอยากกลับมาใช้ชีวิตอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันที่บ้านเกิดอีกครั้ง มีบรรยากาศที่อบอุ่น สนุก ที่มีชาวไทยพุทธและมุสลิมรักใคร่กลมเกลียว คุยพูดกัน ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยพึ่งกันและกันทำให้คิดถึงบรรยากาศเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมา

และนอกจากนี้พันเอกหญิง นพรรษ ชูจันทร์ รองหัวหน้าคณะทำงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ คณะที่ 1 จังหวัดยะลา กล่าวว่า โครงการนี้ ประชาชนชาวไทยพุทธเปราะบางมีความพึงพอใจ และพร้อมที่จะกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด อยากให้มีบรรยากาศสังคม พหุวัฒนธรรมอีกครั้ง       ซึ่งการปรับปรุงบ้านใหม่ ที่ บ้านเนียง ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เกิดจากความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ หน่วยเฉพาะกิจหมายเลข            และประชาชนละแวกใกล้เคียง ร่วมมือช่วยกันปรับปรุงด้วยความสามัคคี

ทั้งนี้จากการดำเนินงานของ ศอ.บต. ในการร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในทุกมิติให้กับ            ทุกเชื้อชาติ ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสงบสุข

 556 total views,  2 views today