อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
(11 ธันวาคม 2563) สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา(ปอเนาะ)นำโดยบอบอนัสรูดิน กะจิ นายกสมาคมและคณะจำนวนทั้งหมด 18 คน ได้ลงพื้นที่ชุมชนแสงวิมาน อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชนำสิ่งของจำนวน ประมาณ 300 ชุด ซึ่งได้รับ บริจาคจากโรงเรียนต่างๆที่อยู่ภายใต้สมาคมมอบแด่ผู้ประสบอุทกภัย”นำ้ท้วม “ การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับการประสานงานจากดร.วุฒิศักดิ์ พิศสุวรรณ สภาเครือข่ายมนุษยธรรม ภาคใต้ตอนบน นายสมศักดิ์ พิศสุวรรณ คณะกรรมการกลางแห่งประเทศไทย นางสุไกหน๊ะ ดารามั่น พิศสุวรรณ ผู้บริหารโรงเรียนอิสมาอีลอนุสรณ์ และนายชากิรีน สุมาลี ผู้บริหารโรงเรียนมุสลิมสันติธรรม
สำหรับภูมิหลังบ้านแสงวิมาน
(อ้างอิงจาก http://bansangwiman.siam2web.com//?cid=1007320)
ผู้ที่ผ่านไปจังหวัดนครศรีธรรมราชบนถนนสายนคร – ปากพนัง กิโลเมตรที่ 15 จะมีป้ายทางหลวงบอกทางเข้าหมู่บ้านแสงวิมาน ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร แสงวิมานเป็นชุมชนเล็ก ๆ ระดับหมู่บ้าน เป็นหมู่ที่ 13 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประมาณ 209 ครัวเรือน ชาย 639 คน หญิง 740 คน รวม 1,329 คน นับถือศาสนาอิสลาม 156 ครัวเรือน ศาสนาพุทธ 53 ครัวเรือน มีที่ดินถือครองประมาณ 1,600 ไร่ เป็นชุมชนที่จัดตั้งและดำเนินการด้วยวิธีการของตนเอง โดยได้พยายามรักษาพื้นฐานดั้งเดิม คือวิถีชีวิต ภาษาและวัฒนธรรมของศาสนาอิสลาม
ผลงานของหมู่บ้านเป็นที่ยอมรับของทางราชการหลายหน่วยงานได้ใช้เป็นสถานที่ศึกษาดูงาน อาทิ พัฒนาชุมชน กลุ่มเกษตรกร ศูนย์ศึกษานอกโรงเรียน โรงเรียน วิทยาลัย กลุ่มองค์กรเอกชน ฯลฯ บุคคลภายนอกได้ขนานนามต่าง ๆ ให้ เช่น หมู่บ้านตัวอย่าง หมู่บ้านคนดี หมู่บ้านช่วยตัวเอง หมู่บ้านพัฒนา เป็นต้น เคยได้รับเกียรติบัตรเป็นหมู่บ้านพัฒนาระดับจังหวัด ระดับภาค ได้รับการจัดตั้งจากทางราชการ ให้เป็นหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นทอง เมื่อ พ.ศ. 2532 รางวัลส่วนบุคคลก็มีมาก ทั้งระดับจังหวัดจนถึงระดับประเทศ
ผลงานชิ้นใหญ่ ๆ ที่แสงวิมานได้ให้ไว้กับท้องถิ่นมากมาย เช่น การใช้ภาษากลาง ภาษากรุงเทพ (ภาคใต้เรียกว่า ภาษาข้าหลวง) เดิมคนใต้จะพูดได้น้อยมาก แสงวิมานมาช่วยให้ขยายภาษากลางให้กว้างขวางขึ้น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สมัยก่อนมักจะส่งไปจากภาคกลาง ทำให้ชาวแสงวิมานติดต่อราชการได้รับความสะดวกเป็นพิเศษเสมอ
การทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทำสวนยกร่องแบบภาคกลางซึ่งชาวแสงวิมานได้ทำมา ตั้งแต่เริ่มแรกที่ได้ก่อตั้งหมู่บ้านแล้ว ทางราชการเพิ่งมีการฟื้นฟูที่เรียกว่าปรับโครงสร้างการเกษตร ปัจจุบันการปลูกพื้นหลายชนิด การใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์ทุกตารางเมตร หมู่บ้านจึงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของงานส่งเสริมการเกษตรของทางราชการ การเกี่ยวข้าวด้วยเคียวแทนการเก็บข้าวด้วยแกระ ซึ่งทางภาคใต้ปฏิบัติกัน ทางราชการได้จ้างชาวแสงวิมานไปเป็นครูสอนวิธีเกี่ยวข้าวด้วยเคียว จนเกิดเป็นแบบอย่างกว้างขวางต่อมา
การรวมกลุ่มทำงานหมู่บ้านได้ทำมาแต่เดิม การลงแขก แรงงาน งานเปิดป่า งานขุดสวน ปลูกข้าว ฯลฯ ชาวแสงวิมานได้รักษาการทำงาน เป็นกลุ่มตลอดมา ซึ่งพัฒนามาเป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มสวน กลุ่มนา กลุ่มประมง เลี้ยงสัตว์ ปรับปรุงมาสู่การรวมกลุ่มการซื้อ การขายผลผลิต กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ เป็นที่สนใจของานพัฒนาชุมชนของทางราชการ
ตัวอย่างของหมู่บ้านคนดีมีศีลธรรมเป็นที่กล่าวถึงเสมอของทางราชการ ชาวแสงวิมานจะช่วยรักษาให้เกิดความสงบสุขร่วมกันพยายามป้องกันสิ่งอบายมุขทั้งหลาย ไม่ให้มีโจรผู้ร้ายเกิดขึ้น กรณีพิพาทขัดแย้ง ใด ๆ จะพยายามหาทางยุติในหมู่บ้านเอง ทางราชการให้เกียรติที่จะไม่ลงมาก้าวก่าย ตำรวจจะไม่มาเกี่ยวข้อง โรงศาลไม่มีความจำเป็น 70 ปี ของหมู่บ้านมีคดีถึงโรงศาลเพียง 3-4 คดีเท่านั้น
ปัจจุบันแม่ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปมากมาย สังคมได้รับผลกระทบในทางลบ ปัญหาเยาวชน วัยรุ่น ยาเสพติดและอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ชาวแสงวิมานก็ยังคงสามารถรักษาความสงบสุขของหมู่บ้านไว้ได้
กำเนิดแสงวิมาน
กลุ่มของแสงวิมานที่ปรากฏหมู่บ้านที่จัดเจน คือบ้านปากลัด ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อยู่รวมกับ ชาวมอญ คนสองกลุ่มรัก สามัคคีกันดีมากตลอดมา
จากบันทึกของครูฮัจยีอับบาส แสงวิมาน (แชบะห์) เรื่องสายตระกูลมีว่า มีพี่น้องสองคนชื่อดอเมาะห์ และดอยี ทั้งสองกลุ่มนี้ได้ขยาย จำนวนลูกหลานมากมายในปัจจุบัน ดอเมะห์ขยายไปทางจังหวัดปทุมธานี ส่วนดอยีคือกลุ่มทางปากลัด บันทึกที่กระชับขึ้นอีกคือ มุฮัมมัด ฟะตอนี(ปัตตานี) มีบุตร 2 คน คือ อับดุลเลาะห์(แสง)/ และอับดุรเราะห์มาน แสงหรือนายกองแสงมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องที่ดิน ส่วน อับดุรเราะห์มานเป็นผู้น้องเป็นผู้บริหารทางศาสนา(นามสกุลแสงวิมาน มากจากนามของต้นตระกูลทั้งสองท่าน แสงและมานโดยเพิ่ม “วิ” เพื่อความหมายและไพเราะขึ้น ปัจจุบันยังมีผู้ใช้นามสกุลแสงมานอยู่บางส่วน ซึ่งก็มีที่มาจากสายตระกูลเดียวกัน) อับดุลเลาะห์(แสง) มีภรรยา 2 คน ๆ แรกเป็นชาวเคดาห์(ไทรบุรี) มีลูกหลานสืบลงมาจนถึงอาจารย์เซ็ง (อดีตอิมามมัสญิด อัลอิสติกอมะห์ ทุ่งครุ ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อปอ (วาร้าน) มีลูกคนเดียวชื่อ ฮัจยีกะจิ๊ เมื่ออับดุลเลาะห์(แสง)จะสิ้นชีวิตได้ฝากฝังภรรยา (ปอ) ให้แก่อับดุลเราะห์มานน้องชาย แต่งงานด้วยซึ่งมีลูกหลานสืบมาอีกหลายคน
อับดุรเราะห์มานมีภรรยาอยู่ก่อนชื่อซะห์รอ มีลูกหลายคนและมามีลูกกับปออีกหลายคน ลูกที่สืบทอดงานศาสนาต่อจากท่านคือ ครูฮัจยีอับบาส (แชบะห์) ผู้บริหารปากลัดและเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างมัสญิดปากลัดที่ถาวรมาจนปัจจุบัน ท่านเป็นนักการศาสนาที่เชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับของมุสลิมในภาคกลาง บ้านปากลัดมีนักวิชาการศาสนาอยู่หลายท่าน จึงเป็นแหล่งความรู้ทางศาสนา นอกจากนี้ท่านยังได้รับเกียรติเป็นที่ปรึกษาฝ่ายศาสนาอิสลาม 1 ใน 5 ของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านอดีตจุฬาราชมนตรีแช่ม พรมยงค์ ก็เป็นคนปากลัดและอยู่ในสายตระกูลนี้ด้วย
ส่วนฮัจยีกะจิ๊ลูกของแสง ท่านผู้นี้เป็นนักพัฒนาสังคม นักเศรษฐกิจ จากการบอกเล่าทราบว่าเมื่อเยาว์วัยท่านถูกส่งไป ศึกษาที่ปีนังซึ่งเป็นเมืองที่อังกฤษปกครองและพัฒนารุ่งเรืองที่สุดในภูมิภาคนี้ เล่ากันว่าส่วนหนึ่งของสายตระกูลเดิมคือชาวเมืองเคดาห์ ปีนัง ซึ่งต่อมาได้มีการไปสืบหาญาติ(ฮัจญะห์แมะ)ปี 2480 พบญาติพี่น้องมากมาย บางคนเป็นเจ้าของกิจการเดินเรือทะเล ฮัจยีมุฮัมมัดนูร ต้นตระกูลมัสและห์ซึ่งเป็นผู้ท่องจำอัลกุรอาน(ฮาฟิซ) ก็เป็นชาวเคดาห์ สุสานของท่านอยู่ที่กุโบร์ มัสญิดสามวา มีนบุรี) การศึกษาและประสบการณ์ของฮัจยีกะจิ๊จากปีนัง ท่านได้นำมาธุรกิจที่ปากลัด ได้ตั้งโรงเลื่อย(มือ)โดยจ้างกรรมกรชาวจีนทำงาน ตั้งโรงสีกระเดื่องแปรรูปข้าว ตั้งร้านค้า ปากลัด ยุคนั้นจึงเป็นชุมชนที่ก้าวหน้าทั้งทางด้านสังคม ศาสนาและเศรษฐกิจ ด้านการเกษตรมีการทำสวน ทำนาที่ก้าวหน้ากว่าท้องถิ่นอื่น ชื่อเสียงของปากลัดจึงเป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป ทุกสิ่งในโลกไม่มีอะไรคงที่ความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นเสมอ บ้านเมืองก็เช่นเดียวกัน การขยายอำนาจของชาติตะวันตก ได้บีบบังคับให้ประเทศไทยต้องปรับตัวโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ พืชเศรษฐกิจหลักดั้งเดิมของชาติคือข้าว ข้าวไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก รัฐได้ปรับปรุงแหล่งปลูกเสมอ พัฒนาชลประทานทุ่งรังสิต ทุ่งบางบัวทอง ขุดคลองต่าง ๆ มากมาย ชาวปากลัดได้ขยายตัวแสวงหาที่ดินเพื่อถือครอง เพื่ออาชีพ เพื่อความมั่นคงแก่ชีวิตลูกหลาน มุสลิมมีรูปแบบวิถีชีวิตและศาสนาของตนเอง การขยายตัวเป็นสังคมใหม่เกิดขึ้น เช่น ทุ่งครุ กิโลเก้า ปัจจุบันทางตะวันออก บางพลี พระโขนง มีนบุรี หนองจอก เป็นต้น ด้านเหนือ คือ ทุ่งบางบัวทองซึ่งมีกลุ่มเดิมอยู่ส่วนหนึ่ง คือกลุ่มอิมามดามุฮิ ตอเตบดามาลี และบิหลั่นยะห์ยอ ส่วนกลุ่มแสงวิมานนำโดยฮัจยีกะจิ๊ ได้ออกไปยังคลองลากค้อนกระทุ่มมืดได้ทดสอบความเหมาะสมอยู่ช่วงหนึ่ง ปรากฏว่ามีอุปสรรคบางประการ ท่านจึงย้ายไปที่คลองมะสง อำเภอไทรน้อย นนทบุรี ที่นี่ท่านได้เพื่อนฝูงที่ร่วมงานกันได้อย่างดียิ่ง ทำให้เกิดความเจริญ ความอยู่ดีมีสุข การทำนาได้รับผลดีมาก ข้าวเขตบางบัวทองเป็นข้าวชั้นหนึ่งที่ได้รับรางวัลระดับโลก ท่านได้สร้างมัสญิดและชักชวนลูกหลานจากถิ่นอื่นให้ไปรับการอบรมสั่งสอนทั้งเรื่องศาสนาและทำกิจกรรมต่าง ๆ มีการฝึกฝนศิลปะการป้องกันตัว เช่น มวย กระบีกระบองเป็นต้น คลองมะสงยุคนั้นจึงเป็นเสมือนแผ่นดินแผ่นดินทองฤดูเก็บเกี่ยวข้าวจะมีพี่น้องไปหายะก๊ะ(ซะกาต)หรือนำข้าวของไปเยี่ยมเยือน เป็นที่ผูกพันรักใคร่อบอุ่นตลอดมา การทำนาสมัยนั้นข้าวเปรียบเสมือนพืชทองคำ คนทำนามีความหมายมากจนมีคำพังเพยกันว่า ”สิบพ่อค้าไม่เท่าทำนามุมเดียว” นั่นคืออดีตที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ความเปลี่ยนแปลงที่ดับอนาคตของชาวนา คือ ภัยธรรมชาติอันเกิดจากภาวะน้ำท่วมหรือฝนแล้ง อีกสาเหตุหนึ่งคือราคาข้าวตกต่ำ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเกิดหนี้สินและดอกเบี้ย ที่งอกงามอยู่ทุกสภาวะ การแก้ตัวของชาวนาใช้เวลาเป็นปี หมดวิถีทางที่จะต่อสู้จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยงแปลงโดยการดิ้นรนหาแผ่นดินแห่งใหม่ที่มีความเหมาะสมสามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี โดยมีปัจจัยน้ำที่อุดมสมบูรณ์ นี่คือ เหตุผลและที่มาของแสงวิมานนครศรีธรรมราช ท่านฝากข้อคิดแก่ลูกหลานไว้ว่า “อาเครให้มุ่งหน้าไปทางทะเลเข้าไว้”
มุสลิมที่อยู่ภาคกลางจนกลายเป็นคนท้องถิ่นแล้วก็ตาม แต่ความผูกพันกับภาคใต้ก็คงยังมีอยู่ เช่น ภาษาดั้งเดิม(มลายู) วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ข้อปฏิบัติทางศาสนาและพีธีกรรม จึงจำเป็นต้องส่งลูกหลานมาศึกษาจากภาคใต้ หลายท้องที่ต้องเชิญผู้มีความรู้จากภาคใต้ไปเป็นครู ฤดูเก็บเกี่ยวจะมีชาวใต้(ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) เดินทางไปหาชะกาต ความผูกพันเหล่านี้จึงทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานจากภาคกลางลงมาภาคใต้มากกว่าที่จะคิดไปทางภาคอื่น ๆ
ช่วงปี 2470-2475 บ้านเมืองอยู่ในช่วงวิกฤติ ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำ ราคาข้าวเหลือเกวียนละ 14-15 บาท การเมืองกำลังร้อนระอุจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย
พี่น้องจากแสนแสบ ทรายกองดิน กลุ่มหนึ่งโยกย้ายไปจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านท่าซัก อำเภอเมือง แผ่นดินใหม่นี้อุดมสมบูรณ์มาก ญาติคนหนึ่งจากกลุ่มนี้(โต๊ะเงาะห์ฮาบีเบาะห์) ได้ชักชวนฮัจญีหมัด มัสและห์(สามีโต๊ะวานาค-ตาของครูสุอิบ)เพื่อนสนิทของฮัจญีกะจิ๊(ปู่ของครูสุอิบ)จากคลองมะสง ฮัจยีหมัดได้ไปอยู่ที่ท่าซักในปี 2474 และต่อมาได้นำข่าวดีไปบอกฮัจญีกะจิ๊เพื่อนสนิททราบ
ฮัจญีกะจิ๊ได้ตัดสินใจส่งลูกชายคนโตของท่าน คือ นายอับดุเลาะห์เดินทางไปทดสอบความเหมาะสม โดยให้เงื่อนไขไว้หลายประการ เพราะเป็นการย้ายถิ่นฐานเพื่อต้องการสร้างสังคมใหม่ที่มั่นคงจำเป็นต้องรอบคอบ เมื่อนายอับดุลเลาะห์เดินทางมาถึงบ้านปากพญา ตำบลท่าซักเมื่อปี 2476 เห็นว่าที่นี้มีผู้คนหนาแน่นแล้ว การตั้งหมู่บ้านใหม่จะถูกจำกัดโดยจำนวนที่ดินและความไม่สะดวกในการบริหารปกครอง ท่านจึงชักชวนฮัจญีหมัดไปดูที่คลองบางจาก(บ้านแสงวิมานปัจจุบัน)สิ่งแรกที่ประทับใจคือทิวไม้ปากคลองที่เจริญใหญ่กว่าคลองอื่น ๆ บอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน เป็นคลองที่มีน้ำจืดติดต่อกับปากอ่าวปากพนัง มีกระแสน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้นึกถึงปากลักดั้งเดิม ภายหลังฮัจญีกะจิ๊ได้มาถึงที่นี้ท่านถึงกับกล่าวว่า”เราได้ปากลัดกลับคืนแล้ว” หลังจากนายอับดุลเลาะห์ได้ทดสอบอยู่ 2-3 ปี จึงนำข้อมูลไปสู่ฮัจยีกะจิ๊ โดยมีฮัจญีหมัดสนับสนุน ปี 2481 จึงเป็นปีที่ฮัจญีกะจิ๊พร้อมทั้งลูกหลานกลุ่มใหญ่ประมาณ 20 ครอบครัวตัดสินใจเดินทางมายังคลองบางจาก และต่อมาก็มีกลุ่มญาติเพื่อผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขทยอยกันมาเป็นระยะจนเป็นหมู่บ้านที่มั่นคงสืบมา
1,429 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี