มะอายือมิง สาและ รายงาน..
(10 ธันวาคม 2563) นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในนามประธานคณะกรรมการดำเนินงานบ้านทรงคุณค่าปัตตานี ประจำปี 2563 ได้เป็นประธานติดตั้งป้ายทองเหลือง ณ “บ้านทรงคุณค่า” ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 5 อาคาร เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์อาคาร บ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมที่ทรงคุณค่า ซึ่งเป็นรากฐานและสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ อันเป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีและของชาติ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณะ ประกอบด้วย
1.”บ้านทรงคุณค่าปัตตานี” ณ เรือนช่างทองเหลือง ตำบลจะบังติกอ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่นมลายูเรือนโบราณ อายุประมาณ 100 ปี ตั้งอยู่บนถนนยะรัง อำเภอเมืองปัตตานี เป็นเรือนไม้รูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมลายู หลังคาทรงบลานอเรียงกัน 3 จั่ว ประกอบหลังคาปีกนกด้านข้างมุงกระเบื้องดินเผาปลายแหลมหรือกระเบื้องดินเผาหางว่าว โครงสร้างไม้ทั้งหลัง ผนังก่ออิฐฉาบปูน บางส่วนมุงสังกะสี ยกพื้นสูง ใต้ถุนมีประโยชน์ใช้สอยสำหรับนั่งพักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
2.”บ้านทรงคุณค่าปัตตานี” ที่บ้านเลขที่ 10 ถนนยะรัง ตำบลจะบังติกอ ซึ่งเป็นเรือนไม้รูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมลายู เป็นเรือนไม้อายุเกือบ 90 ปี ตั้งอยู่บนถนนยะรัง อำเภอเมืองปัตตานี เรือนด้านหน้าหลังคาทรงบลานอ ประกอบหลังคาปั้นหยาด้านข้าง เรือนด้านหลังหลังคาทรงปั้นหยาแฝด 2 จั่วต่อกัน มุงกระเบื้องดินเผาปลายแหลมหรือกระเบื้องดินเผาหางว่าว
3.”บ้านทรงคุณค่าปัตตานี” ที่อาคารไวท์เฮาส์ มูลนิธิชูเกียรติ – ปิติเจริญกิจ ตำบลอาเนาะรู ไวท์เฮาส์เป็นชื่อเรียกบ้านสีขาวหลังใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนฤาดี อำเภอเมืองปัตตานี มีรูปแบบอาคารที่ทันสมัยและดูแปลกตากว่าบ้านหลังอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกัน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักอาศัยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2477 ตัวบ้านมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เป็นอาคารสูงสามชั้น แต่ละชั้นมีระเบียงรายรอบ ประตูหน้าต่างมีลักษณะเป็นซุ้มโค้ง ช่องแสงประดับกระจกสีสวยงาม จากการสืบค้นประวัติพบว่าบ้านหลังนี้เคยถูกเรียกว่า บ้านสิบหมื่น และยังเคยเป็นที่ทำการบริษัทจังหวัดปัตตานี จำกัด
4.”บ้านทรงคุณค่าปัตตานี” ที่บ้านกงสี ตำบลอาเนาะรู บ้านกงสี ตั้งอยู่ในย่านหัวตลาดจีน หรือชุมชนหัวตลาด ถนนอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เดิมเป็นบ้านพักอาศัยของ ตันปุ่ย หรือหลวงสำเร็จกิจจางวาง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367-2394) ภายหลังเป็นที่พักอาศัยของลูกหลานและปัจจุบันเปรียบเป็นบ้านบรรพชนของตระกูล
5.”บ้านทรงคุณค่าปัตตานี” ที่บ้านขุนพิทักษ์รายา ตำบลอาเนาะรู ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2460 เป็นเรือนพักอาศัยต่อเนื่องมา 4 รุ่น ตั้งอยู่ในย่านหัวตลาดจีน หรือชุมชนหัวตลาด ถนนปัตตานีภิรมย์ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นเรือนแถวสองชั้นสองคูหา รูปแบบของเรือนแถว มีการประยุกต์ระหว่างสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นและสถาปัตยกรรมจีน มีอายุประมาณ 90-100 ปี
รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนี้ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์อาคารบ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิม ตามหลักคุณค่าและลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานี และของชาติให้คงอยู่สืบไป
1,518 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี