พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกษตรกรต้นแบบเกษตรผสมผสานโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แชร์เลย

(1ก.ย.63) นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่แปลงเกษตรกรต้นแบบ ของ นายวิทยา ตาพ่วง หมู่ที่ 8 ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และพบปะและเยี่ยมเยียนพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมเปิดงานเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกษตรกรต้นแบบเกษตรผสมผสานโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีพ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอเบตง นายก.อบต.ยะรม เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับจังหวัดและอำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกษตรกรต้นแบบ เกษตรผสมผสาน และชาวบ้าน ได้ร่วมฟังการเสวนาของนักวิชาการและเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรแบบผสมผสานของแต่ละจังหวัด พร้อมชมนิทรรศการผลงาน และกิจกรรมเด่นของเกษตรกรต้นแบบ การแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์เด่นของแต่ละจังหวัด การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เป็นต้น


นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีการดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายโครงการ ซึ่งโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มาร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาและยกระดับด้านเศรษฐกิจสังคมให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างสถาบันครอบครัวให้อยู่ดี มีสุข และมั่นคง เกิดความสันติสุขในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาทุกมิติ จึงมีกิจกรรมสนับสนุนทุกด้าน ทั้งด้านการพัฒนาคน การพัฒนาความรู้และทักษะของเกษตรกร ด้านการพัฒนาสินค้า การผลักดันและยกระดับทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชประจำถิ่น การพัฒนาพื้นที่ โดยส่งเสริมการทำการเกษตรผสมผสาน สนับสนุนการดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้มีแหล่งอาหารในชุมชน สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งเป็นฐานรากของการพัฒนาในระดับภูมิภาค และระดับประเทศต่อไป


ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวอีกว่า ในปี พ.ศ. 2563 กรมส่งเสริมการเกษตรได้อนุมัติงบประมาณ ในการดำเนินโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 17.79 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 8,170 ราย กรมส่งเสริมการเกษตรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พี่น้องเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะสามารถปรับปรุงพัฒนาวิธีการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ ลดรายจ่ายในครัวเรือน เพิ่มรายได้ และมีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป และขอฝากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทุกท่าน ให้ทำงานบูรณาการกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนงานโครงการตามพื้นที่ตำบลเป้าหมายที่กำหนด มีการเชื่อมโยง ประสาน บูรณาการการทำงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน สำหรับพี่น้องเกษตรกรต้นแบบ ขอให้พัฒนาปรับปรุงแปลงของตนเอง ให้เป็นแปลงเรียนรู้ต้นแบบเกษตรผสมผสาน ที่มีกิจกรรมที่หลากหลาย มีการพัฒนาต่อยอดกิจกรรมทุกกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และนำองค์ความรู้ที่ได้จากการทำเกษตรผสมผสานที่ประสบผลสำเร็จ ขยายผลไปสู่เกษตรกรในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ต่อไป


ด้านนายวิทยา ตาพ่วง เกษตรกรต้นแบบ ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา กล่าวว่า เดิมนั้นตนเองมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์ ครอบครัวมีอาชีพทำการเกษตร ปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำพวก พืชไร่ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ตนเห็นความลำบากของพ่อแม่ จึงไม่ได้สนใจอาชีพการเกษตรเลยแม้แต่น้อย ต่อมาได้รับการเกณฑ์ทหาร ถูกส่งมาประจำการในพื้นที่จังหวัดยะลา มีหน้าที่ขับรถนำเกษตรกรไปศึกษาดูงาน ด้านการทำเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ต่างๆ จนตนเองเริ่มสนใจ และศึกษาหาข้อมูลการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างจริงจัง ทั้งอ่านหนังสือ วารสารการเกษตร วีดิทัศน์ ตลอดจนเดินทางไปศึกษาดูงานส่วนตัวตามสถานที่ต่างๆ เมื่อปลดประจำการแล้ว ได้กลับไปบวชเรียนที่บ้านเกิด และกลับมาแต่งงานมีครอบครัว ตั้งถิ่นฐานที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มาจนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นด้วยปลูกถั่วฝักยาว และรวบรวมผลผลิตผักของเพื่อนบ้านไปขายตามตลาดนัดชุมชน ศึกษาความต้องการของตลาด พบว่าเห็ดนางฟ้าเป็นที่ต้องการของชุมชน เป็นอย่างมาก จึงหันมาเพาะเห็ดนางฟ้าจำหน่ายอย่างจริงจัง เมื่อมีความรู้และทดลองทำจนเห็นผลสำเร็จ ก็ได้ชักชวนคนในชุมชนรวมกันจัดตั้งกลุ่มเพาะเห็ดขึ้น โดยได้รับคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอเบตง และได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนในเวลาต่อมา ภายหลังมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเกษตรอำเภอเบตงให้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นจุดเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสานต้นแบบของอำเภอ มีฐานเรียนรู้ต่างๆ ได้แก่ การเพาะเห็ดและการแปรรูป การผลิตและขยายพันธุ์พืช ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัว และสมุนไพร การผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงแพะ เป็ด ไก่ การทำประมง และอื่นๆ อีกมากมาย

นายวิทยา กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเองรู้สึกมีความสุข ที่ได้ถ่ายทอดความรู้ในการทำเกษตรผสมผสานให้พี่น้องเกษตรกรทั้งในและนอกชุมชนที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ จนเกิดการขยายผลนำไปปฏิบัติ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ เกิดเครือข่ายการผลิต การจำหน่ายร่วมกัน ที่สำคัญคนในพื้นที่เกิดความรักและสามัคคี ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็ง สร้างความสงบสุขในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

 994 total views,  2 views today

You may have missed