มีนาคม 28, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

นายกรัฐมนตรีนำประชุม ครม.สัญจร นัดแรกของปีที่นราธิวาส เน้นยกระดับเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในทุกมิติ พร้อมหนุนให้พื้นที่ จชต. ผลิตพลังงานชีวมวลเพื่อการส่งออก

แชร์เลย

วันที่ 21 ม.ค. 2563 เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุม อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม     เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (นราธิวาส ปัตตานี และยะลา) และการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2563 (ครม.สัญจร)

ทั้งนี้ก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรีได้พบปะพูดคุยกับนักศึกษาวิชาทหารหญิงชั้นปีที่ 4 และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูด ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกระจูดบ้านโคกพะยอม พร้อมชื่นชมว่ามีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ทดลองการนวดคลายเส้นอีกด้วย

สำหรับวาระการประชุมเป็นการติดตามโครงการสำคัญที่ดำเนินการในพื้นที่ จ.นราธิวาส ได้แก่ โครงการพัฒนาด่านศุลกากรบูเก๊ะตา และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ เลขาธิการ ศอ.บต. ได้นำเสนอผลการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการผลักดันโครงการสำคัญด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ อาทิ การพัฒนาเมืองต้นแบบ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ,อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก

โดยเลขาธิการ ศอ.บต. ได้รายงานเพิ่มเติมต่อนายกรัฐมนตรีว่า เพื่อให้การยกระดับเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากการค้าชายแดน และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ เห็นควรมีการเร่งดำเนินการพัฒนาและแก้ปัญหาใน ๒ เรื่อง คือ การพัฒนาศักยภาพด่านชายแดนไทย- มาเลเซีย ทั้ง ๙ แห่ง เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนให้สูงขึ้น และยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในทุกมิติ รวมถึงการดำเนินการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะด้านการเกษตร ซึ่งในห้วง ๓ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายว่า พื้นที่เขตเมืองหรือชุมชน ไม่ควรท่วมขังเกิน ๓ วัน และพื้นที่การเกษตรไม่ควรเกิน ๗ – ๑๐ วัน โดยในปีที่ผ่านมา ระยะเวลาการท่วมขังลดลงเป็นลำดับ ซึ่งผลจากนโยบายรัฐบาลที่เร่งการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระดับฐานราก และผ่านโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้ให้กับประชาชนโดยตรงในภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า ๕ พันราย และภาคเกษตร การท่องเที่ยว จำนวนมาก ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ทัศนคติต่อรัฐดีขึ้น จึงเชื่อมั่นว่า การเร่งผลักดันทั้งในเรื่องพัฒนาศักยภาพด่านชายแดนไทย – มาเลเซีย และการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบตามข้อเสนอในครั้งนี้ จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างแท้จริง และส่งผลให้สถานการณ์ความมั่นคงดีขึ้นเป็นลำดับ

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า สำหรับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งเรื่องด่าน การบริหารจัดการน้ำ เส้นทางคมนาคม และศูนย์วัฒนธรรม ได้มีการนำไปพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็มีบางอย่างต้องมีการศึกษาใหม่ และบางเรื่องสามารถดำเนินการได้ตามแผน

โดยจะใช้งบประมาณปี 2564 ขณะที่ในส่วนเส้นทางคมนาคมก็ได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้วและอยู่ในงบประมาณปี 2563 โดยสามารถติดตามผ่านการดำเนินงานของกระทรวงได้  ทั้งนี้คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นแนวทางในการลดความรุนแรงลงไปได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้การพัฒนานำการทหาร ซึ่งวันนี้ความรุนแรงก็ลดลงตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งการมาตรการเชิงรุกให้เข้มงวดในพื้นที่ป่าเขาและระวังในพื้นที่เขตเมืองให้มากยิ่งขึ้น และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนทุกฝ่ายที่ได้ช่วยกันดำเนินการดังกล่าว

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สิ่งสำคัญคือต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขเกษตรฐานรากจากเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งต้องปลูกอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วย พื้นที่ภาคใต้มีศักยภาพเยอะ แต่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน อุตสาหกรรมครัวเรือน ทำให้มูลค่าที่ได้จากวัตถุดิบยังมีจำนวนน้อย การผลิตในพื้นที่ยังมีน้อยมาก ซึ่งต้องไปได้มากกว่านี้ ข้อสำคัญคือต้องทำให้ถูกวิธีตั้งแต่เริ่ม วันนี้มีการเชื่อมโยงในเรื่องของการตลาดและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทย-มาเลเซีย ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันและต้องเน้นสินค้าที่ไม่แข่งขันกันมากนักที่แต่ละฝ่ายต้องการและมีศักยภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้งสองประเทศ และในส่วนของโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล ได้มีการพูดคุยในเรื่องตลาดพลังงานจากประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น โดย ศอ.บต. ได้ลงนามความร่วมมือเพื่อส่งออกไม้ไผ่ปีละ 2-3 ล้านตัน เป็นระยะเวลา 21 ปี เพื่อผลิตเป็นพืชพลังงาน เรื่องของตลาดออนไลน์เราต้องเดินหน้าไปสู่การใช้ platform เพื่อเชื่อมโยงผลผลิตของเกษตรกรกับผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคทั้งวิสาหกิจ ภาคเอกชน เพื่อเสนอรายการสินค้าออนไลน์ ตลาดในประเทศและต่างประเทศที่วันนี้มีเพิ่มมากขึ้นจากการรายงานของ ศอ.บต. และทางจังหวัด โดยสินค้าโดดเด่นที่มีศักยภาพตอนนี้ที่ดำเนินการไปแล้วเป็นสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป ได้แก่ ส้มโชกุน ทุเรียนทรายขาว ปลากุเลาตากแห้ง อาหารทะเลแปรรูป โดยเฉพาะปลากุเลามีการส่งออกไปหลายประเทศในโลกซึ่งสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

/////////////////////////////////////

 758 total views,  4 views today