คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. สัญจร ในวันที่ 20-21 มกราคม ที่จะมีขึ้นในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทาง ดร.ดุลยรัตน์ บูยูโส๊ะ ประธานชมรมโรงเรียนเอกชนเขตพิเศษสงขลา ได้ทำหนังสือ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ในเรื่อง ขอเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเอกชนในพื้นที่
เรียน ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.กนกพรรณ วิลาวัณย์)
กระผม ดร.ดุลยรัตน์ บูยูโส๊ะ ผู้บริหารโรงเรียนมิฟตาฮุดดีน (บ้านพลีใต้) อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ในฐานะประธานชมรมโรงเรียนเอกชนเขตพิเศษสงขลาต้องขอชื่นชมในความมุ่งมั่น ตั้งใจ และพยายามเปิดเวทีให้ได้มีการเสนอรับฟังปัญหาต่างๆ ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รวมถึงเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้สะท้อนปัญหาต่างๆ กลับไปยังต้นสังกัด เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาด้วย จากประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียนมาประมาณ 15 ปี รวมถึงประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยน ร่วมคิด ร่วมลงมือทำในนามของสมาคมฯ ชมรมฯ เครือข่ายต่างๆ ทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ เพื่อการสร้างมาตรฐานทางการศึกษาให้กับนักเรียนในสังกัดได้มีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย
สำหรับปัญหาของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในปัจจุบันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความไม่เข้าใจกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะหรือแม้กระทั่งศูนย์ตาดีกาต่างๆ ในนามของชมรมโรงเรียนเอกชนเขตพิเศษสงขลา ขอยืนยันว่า ทุกองค์กรมุ่งเน้นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ อาจจะมีปัญหาอุปสรรคบ้างในเรื่องของการดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบราชการ จำเป็นต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ สำหรับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นทางชมรมฯ ขอเสนอแนะแนวทางในเรื่องต่างๆ ดังนี้
1.ปัญหาเรื่องนักเรียนซ้ำซ้อน ซึ่งปัจจุบันนี้ ตั้งแต่มีการใช้ระบบตรวจสอบเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักในการตรวจสอบทำให้มีผลดีขึ้น แต่อยากนำเสนอให้มีการใช้โปรแกรมเดียวกันในการตรวจสอบ ทุกสังกัด ข้อมูลต่างๆ จะได้ชัดเจนมากขึ้น
- เรื่องเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอนำเสนอให้ทางต้นสังกัดจ่ายตรงมายังครู โดยตัดสัดส่วนจากเงินอุดหนุนประจำเดือนออก ให้อำนาจโรงเรียนในการบริหารจัดการแค่เงินอุดหนุนอื่นๆ ทั้งนี้รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ก็ให้ทางต้นสังกัดเป็นผู้ควบคุมดูแล
- สวัสดิการเรื่องการรักษาพยาบาล เบื้องต้นต้องขอบคุณท่านที่ได้ผลักดันให้มีการเพิ่มงบประมาณจาก 100,000 บาท เป็น 150,000 บาท แต่ในความเป็นจริงแล้ว ณ เวลานี้ สิทธิสวัสดิการนี้ยังด้อยกว่าสิทธิรักษาฟรีของประชาชนทั่วไป ซึ่งกระผมขอเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
3.1 ยกเลิกกองทุนสงเคราะห์แล้วให้ครูใช้สิทธิรักษาฟรีเหมือนกับประชาชนทั่วไป
3.2 บูรณาการกองทุนสงเคราะห์กับสิทธิรักษาพยาบาลฟรี โดยเงินงบประมาณ จำนวน150,000 บาท ให้ครูได้ใช้สิทธิในสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น ค่าห้องพิเศษหรือค่าอื่นๆ ที่ใช้สิทธิรักษาฟรีไม่ได้
3.3 บูรณาการกองทุนสงเคราะห์กับกองทุนประกันสังคม เพราะเงินที่ส่งกองทุนอยู่ตอนนี้ทั้งหมด 12% แต่ประกันสังคมส่งแค่ 10% ซึ่งเป็นวิธีการที่จะช่วยลดงบประมาณจากภาครัฐไปอีกหนทางหนึ่งด้วย
- ปัญหาเรื่องนโยบายการตรวจลายนิ้วมือเพื่อทำประวัติของบรรดาโต๊ะครูและผู้สอนในสถาบันปอเนาะและสถาบันการเรียนการสอนตาดีกา ซึ่งมีแนวโน้มจะดำเนินการนโยบายนี้กับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามด้วยในอนาคต และเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ กระผมในฐานะคนกลางมีความเข้าใจในเจตนาของทั้งสองฝ่าย โดยเทียบเคียงกระบวนการนี้กับการบรรจุเข้ารับราชการใหม่ จำเป็นจะต้องมีการพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อทำประวัติใน ก.พ.7 ทางชมรมขอเสนอทางออก โดยแต่งตั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดให้เป็นคนของรัฐแล้วใช้กระบวนการของการแต่งตั้งข้าราชการมาเทียบเคียง จะได้ไม่เกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
- เน้นการกระจายอำนาจให้กับสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ ให้มีความอิสระในการดำเนินการบางกิจกรรมเพื่อการพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เห็นควรเพิ่มเติมงบพัฒนาให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะหน่วยงานในพื้นที่จะมีความเข้าใจถึงความต้องการให้ดีกว่าหน่วยงานส่วนกลาง
ในการนี้ ทางชมรมโรงเรียนเอกชนเขตพิเศษสงขลา หวังว่าแนวทางที่นำเสนอจะมีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการศึกษาในพื้นที่บ้าง หากมีข้อมูลผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยมายังท่านด้วย ในส่วนลึกกระผมแอบคาดหวังและฝันถึงการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกับพื้นที่อื่นๆ ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของท่านในอนาคตอันใกล้นี้
(ดร.ดุลยรัตน์ บูยูโส๊ะ) ประธานชมรมโรงเรียนเอกชนเขตพิเศษสงขลา ( 20 มกราคม 2563)
1,089 total views, 2 views today
More Stories
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จับมือ IIUM มาเลเซีย ลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU ด้านวิชาการ วิจัยแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา
ม.อ. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT (UNINET) ครั้งที่ 4
1 พฤษจิกายน จะนะเปิดเรียนเเต่ออนไลน์และบทเรียนจากภูเก็ต